สัมมนาวิชาการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร

สัมมนาวิชาการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร

ดังที่ได้เกริ่นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าในปี 2565 นี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กลับมาจัดงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ในรูปแบบกิจกรรมอีกครั้ง 

โดยงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ในวาระ 32 ปี มีธีมงานว่า No Nature No Future เพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต และส่งผลต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

ซึ่งจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่ในเดือนสิงหาคมนี้ ไปจนตลอดเดือนกันยายน พ.ศ. 2565

และในบทนี้ เราจะมาแนะนำกิจกรรมแรกให้ทราบกัน

สำหรับกิจกรรมแรก คือ ‘สัมมนาวิชาการ’ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร No Nature No Future ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ เป็นการนำเสนอผลงานในโครงการต่างๆ ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์ป่าตะวันตก 

ใจความสำคัญของยุทธศาสตร์ป่าตะวันตก อธิบายเอาไว้ว่า

ผืนป่าตะวันตกถือเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักสำคัญของการทำงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง มรดกทางธรรมชาติของโลก เป็นเสมือนต้นแบบของงานอนุรักษ์ที่ขยายไปสู่พื้นที่โดยรอบทั้งผืนป่าตะวันตก เมื่อระบบนิเวศมีความเชื่อมโยงกัน ระบบการจัดการพื้นที่จึงมีความจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานการจัดการกลุ่มป่าตะวันตกทั้งผืน ทั้งในด้านการทำงานร่วมกับชุมชนในป่า งานป้องกัน การดูแลพื้นที่ และงานบริหารจัดการพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการทำงานของพื้นที่ที่เป็นมาตรฐาน พร้อมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมพื้นที่เรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสู่มาตรฐานกับบุคลากรในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การผลักดันผืนป่าตะวันตกให้เกิดมาตรฐานความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติทั้งผืนต่อไป

ผืนป่าตะวันตก
สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก l ภาพ เกศรินทร์ เจริญรักษ์

โดยในยุทธศาสตร์ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ในผืนป่าตะวันตก ตัวอย่างเช่น โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่คั่นกลางระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง

โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในพื้นที่มรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง

โครงการธรรมชาติปลอดภัย และโครงการสร้างแนวร่วมดูแลพื้นที่กันชนห้วยขาแข้ง ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชนที่อยู่ประชิดขอบป่าห้วยขาแข้ง

โครงการเสริมศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน และพื้นที่เตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์

โครงการพัฒนาระบบงานและเครือข่ายอนุรักษ์เพื่อการจัดการกลุ่มป่าอย่างมีส่วนร่วม พื้นที่นครสวรรค์ ในพื้นที่ป่าชุมชนตลอดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ซึ่งในงานสัมมนาวิชาการรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร นี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะสรุปผลงานที่กำลังทำ ถอดบทเรียนงานที่ทำสำเร็จแล้ว รวมถึงนำเสนอแนวทางการทำงานของงานที่กำลังดำเนินการ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปต่อยอด ประยุกต์ใช้ หรือแก้ไขปัญหาที่ติดขัด

เพื่อให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า สัตว์ป่า และคุณภาพชีวิตอยู่คน สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ดังปณิธาน “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้” ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรใช้เป็นแนวทางการทำงานมาโดยตลอด

สำหรับเนื้อหางาน ‘สัมมนาวิชาการ’ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

แนวทางการส่งเสริมอาชีพชุมชนภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดย คุณมนตรี กุญชรมณี

ต้นแบบฟื้นฟูพื้นที่ คทช. ของกรมป่าไม้ โดยกระบวนการป่าเศรษฐกิจนำไปสู่การเชื่อมผืนป่า โดย คุณอำนาจ สุขขวัญ

โครงการลดกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่บริเวณพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย คุณอุดม กลับสว่าง

การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสัตว์ป่า เพื่อการจัดการพื้นที่ไร่หมุนเวียน ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดย คุณธนากร ไชยยศ

ประสบการณ์ 14 ปี กับการส่งเสริมอาชีพชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่า โดย คุณยุทธนา เพชรนิล

นอกจากบทเรียนการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรแล้ว ภายในงานสัมมนาวิชาการนี้ ยังได้เชิญเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมและพันธมิตรมาร่วมพูดคุยและนำเสนอเรื่องราวการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ประกอบด้วยหัวข้อ

การแก้ไขปัญหาชุมชน โดย มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ 

หน่อวยป้องกันป่าไม้ต้นแบบ โดย คุณเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ กรมป่าไม้

การจัดการและการอนุรักษ์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ในผืนป่าตะวันตก โดย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย (WCS)

การทำงานขององค์กรอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก โดย แพนเทอร่า ประเทศไทย

ประสบการณ์ 12 ปี ในการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ โดย คุณประวุธ เปรมปรีย์

ทั้งหมดนี้ คือ เนื้อหาที่จะปรากฎในงานสัมมนาวิชาการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร 

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ และกลุ่มเป้าหมายหลักของกิจกรรมที่ต้องการสื่อสารถึงบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการจัดการในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกเป็นหลัก กิจกรรมนี้จึงไม่ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมสัมมนาในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว

แต่เนื้อหาทั้งหมดของงานสัมมนาวิชาการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร จะมีบันทึกภาพเคลื่อนไหวให้ชมผ่านทางช่องยูทูป Seub Channel ในภายหลัง

รวมถึงการเผยแพร่เอกสารวิชาการในส่วนโครงการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเสนอบนเวทีดังกล่าว 

สามารถติดตามผ่านทางเว็บไซต์ www.seub.or.th และโซเชียลมีเดียขององค์กร 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ต้องขออภัยในความไม่สะดวกนี้อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายรายการในช่วงเดือนกันยายน 

ชวนติดตามเรื่องราวกิจกรรมต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม