จับตาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

จับตาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

21 พฤษภาคม 2568 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดแผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 6 เดือน (พฤษภาคม 2568 – พฤศจิกายน 2570)  

นายสรวงศ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของโครงการฯ คือ สิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน โดยการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงนั้น มีพื้นที่โครงการส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โครงการนี้จึงต้องผ่านการจัดทำ EIA อย่างเข้มข้น ครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพ และชุมชน พร้อมทั้งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม ออกแบบโดยไม่รบกวนธรรมชาติ

จำนวนสถานีและเสา : สถานีจะประกอบไปด้วยสถานีต้นทางและปลายทาง เสาที่ใช้จำนวน 12 เสา ขนาด 6*6 เมตร ระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร ห่างจากเส้นทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนจับตาโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • งบประมาณที่ศึกษาครั้งนี้เป็น 25.7 ล้าน ซึ่งมาจากภาษีของประชาชน อีกทั้งโครงการนี้มีการศึกษากันมาแล้วหลายครั้ง และทุกๆ ครั้งก็ใช้ภาษีของประชาชน 
  • โครงการสำรวจและออกแบบก่อสร้างที่ศึกษานี้ ยังไม่รวมการศึกษาระบบต่างๆที่จะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เช่น ระบบขนส่งด้านบน สถานีตามจุดท่องเที่ยว ฯลฯ  รวมถึงระบบที่พื้นราบด้วย
  • ความคุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากการท่องเที่ยวธรรมชาติบนภูกระดึงไม่ได้เปิดตลอดทั้งปี อุทยานฯ มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน ราคาบัตรขึ้นกระเช้าไฟฟ้าจะต้องตั้งไว้เท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่า
  • กำไรของร้านค้ารายทางที่ได้จากการขายสินค้าให้กลุ่มนักเดินทาง ถ้ามีกระเช้าไฟฟ้าจะรับประกันได้อย่างไรว่าจะมีนักเดินทางมากขึ้นหรือน้อยลง
  • กระเช้าจะได้ขนขยะลงได้ ปัญหาขยะบนภูกระดึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องสร้างกระเช้า การมีมาตราการเข้มงวดมากมายที่สามารถควบคุมปริมาณขยะได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอย่างเข้มงวด
  • เมื่อผู้สูงอายุ/หรือผู้พิการ ขึ้นไปข้างบนภูได้แล้วจะให้เขาไปท่องเที่ยวธรรมชาติที่ไหน เพราะพื้นที่นันทนาการแต่ละจุดอยู่ห่างกันนับกิโลเมตร