เหตุใดป่าตะวันตกจึงเหมาะสมต่อการยกระดับเป็นมรดกโลกทั้งกลุ่มป่า

เหตุใดป่าตะวันตกจึงเหมาะสมต่อการยกระดับเป็นมรดกโลกทั้งกลุ่มป่า

คุณสืบ นาคะเสถียร และเพื่อนๆ พยายามผลักดันป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ให้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ พร้อมทั้งการเสนอแนวทางการจัดการพื้นที่โดยรอบผืนป่ามรดกโลก นั่นคือผืนป่าตะวันตก เพื่อเป็นผืนป่ากันชนในการปกป้องมรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง 

ผ่านมา 33 ปี การดำเนินงานได้ถูกสานต่อภารกิจจากรุ่นสู่รุ่น ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะขยายพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติให้ครอบคลุมทั้งผืนป่าตะวันตก ด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้

1. จากข้อมูลวิชาการยืนยันการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวของประชากรเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ การมีประชากรสัตว์ผู้ล่าเพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายถึงการมีสัตว์กีบที่เป็นเหยื่ออุมสมบูรณ์ การมีถิ่นอาศัยอย่างเพียงพอ และพื้นที่มีความปลอดภัยจากการคุกคามของมนุษย์ การเพิ่มขึ้นของประชากรเหยื่อและเสือโคร่ง เกิดขึ้นในผืนป่าตะวันตกที่มีศักยภาพรองรับประชากรสัตว์ป่า 

2. ความต่อเนื่องในการบริหารจัดการพื้นที่ นับจากการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ หลังคุณสืบ นาคะเสถียรเสียสละชีวิตลง ได้เกิดแผนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ การจัดการพื้นที่แนวกันชนและป่าชุมชน ตลอดจนมีการพัฒนาโครงการเพื่อเสริมศักยภาพการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลพื้นที่ทั้งระบบ เช่น โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม และโครงการเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก การบริหารจัดการพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา 

3. มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเติมในผืนป่าตะวันตก เพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศของผืนป่าทั้งผืนให้มีหน่วยงานจัดการคุ้มครองดูแล ประกอบด้วย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี ด้านตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตห้ามล่าสัตป่าศรีสวัสดิ์ตอนล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกว่า 154 ป่า รอบผืนป่าตะวันตกเพื่อเป็นพื้นที่กันชนของป่าใหญ่ และการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเป็นทางเชื่อมสัตว์ป่าระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงที่เป็นเกาะกับผืนป่าใหญ่ในป่าตะวันตก 

4. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ 

4.1 ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบัน ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพคือ ระบบหลักของกรมอุทยานฯ ในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่กรมอุทยานฯ เพื่อติดตาม ประเมินผล และบัญชาการทำงานส่วนนโยบายสู่การปฏิบัติการในพื้นที่

4.2 งานวิจัยเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเป็นศูนย์ประสานงาน และมีหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก ข้อมูลได้ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ 

4.3. การปรับปรุงกฏหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้ทันต่อสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยมีการปรับปรุงพระราชบัญญติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ

5. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และสาธารณชน เพื่อให้ผืนป่าแห่งนี้ เป็นของคนไทยทุกคน รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนในผืนป่า แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนกับพื้นที่ป่า และการสนับสนุนบทบาทการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบของคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่อนุรักษ์ และคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

ในวาระครบรอบ 33 ปี แห่งการรำลึกถึงคุณสืบ นาคะเสถียร จึงขอเสนอข้อมูลการขับเคลื่อนการทำงานในผืนป่าตะวันตก เพื่อผลักดันการประกาศให้ผืนป่าตะวันตกเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติต่อไป

ที่มา ข้อคิดเห็นมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่องเอกสารการจัดการมรดกโลก เผยแพร่ผ่านเอกสารการจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ และการเสนอคุณค่าของผืนป่าตะวันตก สู่มรดกโลก เขียนโดย ภาณุเดช เกิดมะลิ