สถานะและความหวังของ “เสือโคร่ง” ในป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย

สถานะและความหวังของ “เสือโคร่ง” ในป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย

ปัจจุบันเสือโคร่งสูญพันธุ์จากเวียดนาม ลาว และกัมพูชาไปแล้ว ในพม่าอาจเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากปัญหาการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่

ในประเทศไทย ป่าหลายแห่งเคยมีเสือโคร่ง แต่ปัจจุบันมีรายงานการพบที่น้อยลง หรือบางพื้นที่ไม่มีรายงานการพบเสือโคร่งในพื้นที่ป่านั้นอีกเลย ยกเว้นก็แต่ในกลุ่มป่าตะวันตกที่มีเสือโคร่งเพิ่มขึ้น

ป่าตะวันตก เป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความต่อเนื่องขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ พื้นที่รวม 11.7 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง คลอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

จากการสำรวจวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทยด้วยกล้องดักถ่ายตั้งแต่ปี 2553 – 2563 พบเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ 130 – 160 ตัว หากประเมินเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกในระยะเวลา 10 ปี พบว่าประชากรเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญของโลกที่มีการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติจนประชากรเสือเพิ่มขึ้น

โดยประเทศที่มีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติทั้ง 13 ประเทศได้ให้ปฏิญญาในการอนุรักษ์เสือโคร่งและมีแผนฟื้นฟูตามศักยภาพของพื้นที่ที่รองรับได้ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้มากขึ้นเป็นสองเท่าตัว นับเป็นความหวังของการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับโลก

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาการกระจายตัวของเสือโคร่งจากฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เก็บลักษณะลวดลายของเสือโคร่งแต่ละตัว พบว่าเสือโคร่งมีการกระจายตัวออกไปทั่วพื้นที่ป่าตะวันตก จากห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ต่อเนื่องถึงอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าทางตอนเหนือ และขยายการกระจายตัวลงมาถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระทางตอนใต้

นอกจากนี้ ยังพบเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งออกไปหากินนอกป่าเลยจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางออกไปถึงประเทศเมียนมา เช่นเดียวกับที่ออกไปจากป่าคลองลานจนมีผู้พบในไร่มันอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

ในเชิงวิชาการนี่คือหลักฐานการกระจายตัวของเสือโคร่งจากการออกหาแหล่งที่อยู่ใหม่เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นนั่นเอง

หากประเทศไทยสามารถรักษาประชากรเสือโคร่ง และเพิ่มจำนวนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะนับได้ว่าประเทศไทยได้ดูแล และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยพบเสือมานานให้กลับมามีเสือโคร่ง เป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ได้

ปฏิเสธไม่ได้ การที่ประเทศไทยสามารถรักษาประชากรเสือโคร่งเอาไว้ได้นั้นเป็นผลสืบเนื่องให้เกิดการขยายผลระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต่อไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและตะวันตก อุ้มผาง สลักพระ และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน

ข้อมูลการกระจายตัวของเสือโคร่งจากป่าห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นหลักฐานสำคัญที่เหล่านักอนุรักษ์ใช้ต่อสู้เรียกร้อง จนมีการถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์ออกจากการพิจารณา และมีโครงการจัดการน้ำทางเลือกทดแทนการสร้างเขื่อนในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ซึ่งปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพไปทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก และต่อเนื่องไปจนเป็นนโยบายดำเนินการลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่คุ้มครอง ทั่วทุกกลุ่มป่าของประเทศไทยในปัจจุบัน

มีข่าวดีที่ข้อมูลจากการลาดตระเวนและการศึกษาวิจัยโดยใช้กล้องดักถ่าย ยังสามารถพบเสือโคร่งกว่ายี่สิบตัวในอุทยานแห่งชาติทับลาน และเป็นแรงผลักดันให้มีการดำเนินการสร้างทางเชื่อมผืนป่าทับลานเขาใหญ่

นอกจากนี้ จากรายงานการพบเสือโคร่งที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและกุยบุรีก็เป็นอีกหนึ่งความหวังของการอนุรักษ์เสือโคร่งนอกกลุ่มป่าตะวันตก ด้วยเช่นกัน

เมื่อมองสถานการณ์เสือโคร่งปัจจุบันสู่อนาคต ในวันเสือโคร่งโลกปี 2564 นี้ ประเทศไทย มีเป้าหมายการอนุรักษ์เพื่อเพิ่มประชากรเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนในผืนป่าประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งพยายามให้มีการกระจายเสือโคร่งข้ามทางเชื่อมป่าทับลานมายังเขาใหญ่ และความหวังจะฟื้นฟูประชากรเสือในกลุ่มป่าแก่งกระจานเชื่อมโยงกับกลุ่มป่าตะวันตก ตลอดจนวันหนึ่งเราสามารถฟื้นฟูให้มีประชากรเสือโคร่งในกลุ่มป่าอื่นอีกครั้ง

และเหนืออื่นใด คือการตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์เสือโคร่งจากสาธารณชน คนไทยทุกคน และให้ทั่วโลกได้รู้ว่าในป่าธรรมชาติของประเทศไทย จะมีเสือโคร่งคงอยู่ตลอดไป