10 ปี จอมป่า รักษาป่าใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ

10 ปี จอมป่า รักษาป่าใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ

หัวหน้าสืบ นาคะเสถียรอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากไปเมื่อ 1 ก.ย. 2533 เป็นเวลา 24 ปีมาแล้วงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายก่อนจากลา คืองานวิชาการที่หลากหลาย เพื่อเสนอผืนป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ในครั้งนั้นคุณสืบได้ให้ความเห็นไว้ด้วยว่า ถ้าจะรักษาระบบนิเวศ ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ไว้ให้ได้  จะต้องรักษาผืนป่าที่ต่อเนื่องกับป่าทั้ง 2 ทั้งด้านบน และด้านล่างไว้ด้วย มีหลักฐานเป็นแผนที่ ที่หมายขอบเขตโดยคุณสืบ นาคะเสถียร “ชื่อ แผนที่ป่าตะวันตก” โดยคุณสืบ นาคะเสถียร แผนที่นี้ในปัจจุบันใส่กรอบแขวนอยู่ที่สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรุงเทพมหานคร

งานรักษาผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของโครงการจอมป่า พ.ศ.2547-2557 เริ่มในปี 2540 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บันทึกไว้ว่า

ในปี 2540 กรมป่าไม้ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) เริ่มดำเนินโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดตั้งกองทุนป่าตะวันตกขึ้นเพื่อหางบประมาณนำไปใช้ช่วงเตรียมความพร้อม ส่วนกรมป่าไม้ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่  53 คน จากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมวางแผนดำเนินโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จัดอบรม เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของพนักงานพิทักษ์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก และการสนับสนุนให้เกิดคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาชนในจังหวัดรอบผืนป่าตะวันตก ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานกับภาครัฐอย่างแท้จริง รวมถึงการระดมทุนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

จวบจนปี พ.ศ.2542 รัฐบาลประเทศเดนมาร์ก (โดยกองทุน DANCED) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยร่วมกับรัฐบาลไทยโดยกรมป่าไม้จัดให้มีโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ (The Western  Forest Complex Ecosystem Management –เรียกโดยทั่วไปว่าโครงการ WEFCOM) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2542 ถึง เมษายน 2546 โดยมีหลักการพื้นฐานของการดำเนินการ  4 ประการคือ 1) ให้ถือว่า ผืนป่าตะวันตกโดยธรรมชาติเป็นผืนป่าเดียวกันทั้งหมด 2) ให้วางแผนการอนุรักษ์เป็นกรอบปฏิบัติเดียวกันทั้งป่า 3) ต้องรักษาและคงไว้ซึ่งคุณค่าของผืนป่าตะวันตกอย่างยั่งยืน 4) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภายใต้หลักการที่ว่า “ป่าเป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติ” โดยจะเห็นได้ว่า โครงการดังกล่าวมีพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ทางนิเวศวิทยาและความร่วมมือจากภาคประชาชน

ผลการดำเนินงานในโครงการ WEFCOM ได้เกิดการริเริ่มการจัดการในภาพรวมของทั้งผืนป่า โดยเกิดกิจกรรมฝึกอบรม เกิดการสำรวจและประเมินสถานภาพทางนิเวศวิทยาผืนป่าตะวันตกทั่วทั้งพื้นที่  นำมาใช้เป็นข้อมูลในการแบ่งเขตการจัดการพื้นที่เชิงนิเวศ (ECOSYSTEM ZONNING) เป็นผืนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), เกิดการส่งเสริมเครือข่ายชุมชน ในนามคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกระดับจังหวัด (กอต.) ขึ้นครบทั้ง 6 จังหวัด เมื่อโครงการ WEFCOMใกล้จบโครงการได้มีการหารือถึงแนวทางการพัฒนาโครงการให้องค์กรพัฒนาเอกชน คือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมจัดทำโครงการประสานงานกับชุมชน และภาคประชาชนในการพัฒนาความร่วมมือ และขจัดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ระหว่างภาครัฐและชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายที่ทำกิจกรรมต่างๆลงลึกถึงระดับพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่กลางป่าให้ได้มากที่สุด

เม.ย.2547 – เม.ย.2551 และต่อเนื่อง ในวาระ Phase out เม.ย.2551 – เม.ย.2552 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับการสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนา แห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance – DANIDA) ในโปรแกรม “การจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก” (Joint Management of Protected Areas Western Forest Complex JOMPA WEFCOM)

โดยมุ่งที่จะรักษาและเพิ่มพูนทรัพยากรในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกด้วยวิธีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตามแนวทางหลัก 2 ประการได้แก่ การจัดการเชิงระบบนิเวศ และจัดการอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งต้องดำเนินการไปด้วยกันอย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

หลักการทั้งหมด สิ่งที่เป็นหัวใจของโครงการจอมป่าคือ การมุ่งรักษาเพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศดั้งเดิมของผืนป่าตะวันตก ได้รับการดูแลอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบและร่วมรับผลได้ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่น และสาธารณะชนทั่วไป

 

โครงการจอมป่าระยะที่ 2 พ.ศ.2553-2557

หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศเดนมาร์กสิ้นสุดลงเมื่อ ก.ย.2552 แต่งานรักษาผืนป่าตะวันตก ด้านต่างๆ ตามแนวทางโครงการจอมป่า กำลังก้าวหน้าด้วยดี ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้จัดบันทึกช่วยจำ กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการจอมป่าระยะที่ 2 พ.ศ.2553-2557 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณหลักจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

คำถามที่ว่า การทำงาน 10 ปี ของโครงการจอมป่า 2547-2557 มีความสำเร็จใดบ้าง และขอสรุปได้โดยย่อดังนี้

1.เกิดสันติสุขในผืนป่าตะวันตก

2.เกิดความร่วมมือจากชุมชน ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม

3.เกิดการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

4.มีที่ปรึกษาพื้นที่คุ้มครอง (PAC) ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการ ประชาสังคม จังหวัด และชุมชน

นิเวศยังอยู่ ตัวเสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการคุ้มครอง ทั้งการป้องกัน และปราบปรามอย่างเพียงพอ

นับจาก  พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป อีก 10 ปี หรือ 20 ปี หรือนานกว่านั้น เราทั้งหลายอยากเห็นป่าตะวันตกเป็นเช่นไร?  แน่นอนว่าเราทั้งหลายคงมีใจตรงกันว่า หวังจะเห็นผืนป่าตะวันตก ยังคงคุณค่าระบบนิเวศดั้งเดิม บ้านของสรรพชีวิต ไม่ว่า เสือ ช้าง กระทิง สมเสร็จ ควายป่า นกเงือก นกยูง ฯลฯ ยังคงอยู่คู่กับประเทศไทย น้ำที่ผืนป่าใหญ่ผืนนี้ผลิตเลี้ยงสรรพชีวิตในผืนป่า และส่งความสมบูรณ์ ยังลุ่มน้ำแม่กลอง แบ่งน้ำมาผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพ ส่งน้ำและอาหารลงสู่สัตว์ทะเลในอ่าวไทย วงจรเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่ เสมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

คนทำงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ด้วยขนาดหัวใจใกล้ๆ กัน จะยังคงพากเพียรอดทน และใช้สติปัญญาเพื่อสืบสาน ปณิธาน ของคุณสืบ นาคะเสถียร ต่อไป และต่อไป

 


บทความ โดย รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ่านเรื่องราวโครงการจอมป่า ฉบับเต็มได้ใน สาส์นสืบ ฉบับ 10 ปี จอมป่า