ยุคที่เขื่อนขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งล้าสมัย

ยุคที่เขื่อนขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งล้าสมัย

ช่วงต้นปีนี้ มีประกาศหนึ่งที่นับว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ Suy Sem รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ประเทศกัมพูชา ประกาศหยุดเดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี หรือจนถึง พ.ศ. 2563

 

การตัดสินใจหยุดการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เกิดจากแรงกดดันทั้งด้านการเงิน สิ่งแวดล้อม และสังคม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงและลำน้ำสาขา กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศจำนวนมากที่ต้องย้อนกลับมาทบทวนโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ในยุคที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์มีต้นทุนในการก่อสร้างต่ำกว่า ส่งผลกระทบน้อยกว่า และไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง

แม้ว่าหลายประเทศในแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ จะเริ่มไม่สนใจการก่อสร้างเขื่อน แต่องค์กรระหว่างประเทศขนาดยักษ์อย่างธนาคารโลก (the World bank) และธนาคารพัฒนาประเทศจีน (the China Development Bank) ยังคงทุ่มเงินลงทุนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐกับการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ดี เป็นเวลานับทศวรรษที่ยอดลงทุนดังกล่าวค่อนข้างคงที่ และตอนนี้ได้กลายเป็นรองยอดการลงทุนในโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

จากสถิติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่าเมื่อปีที่ผ่านมา มีโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 22,000 เมกะวัตต์ทั่วโลก ในขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์สูงถึง 118,000 เมกะวัตต์ หากเปรียบเป็นยอดเงินลงทุน นักลงทุนทั่วโลกนำเงินลงทุนในโครงการพลังงานน้ำเพียง 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่มีมูลค่าถึง 285.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เหมือนกับการก่อสร้างโครงการพลังงานน้ำแห่งใหม่ได้เดินถึงจุดสูงสุดแล้ว” Peter Bosshard นักวิจัยประจำ International Rivers องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลก กล่าว “การทำงานในหลายพื้นที่ของเราก็ยืนยันว่า โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการถูกเลื่อนออกไปหรือไม่ก็ถูกยกเลิก

ครั้งหนึ่ง โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ถูกมองว่าเป็นกลไกผลิตไฟฟ้าที่สำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา จากตัวเลขในปี พ.ศ. 2558 โลกมีกำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานไฟฟ้าจากน้ำราว 1,064 กิกะวัตต์ คิดเป็นราว 1 ใน 5 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 5,250 กิกะวัตต์

ไฟฟ้าพลังงานน้ำถูกมองว่าคือทางออกของการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ชื่อเสียงทางบวกเรื่องช่วยลดการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนกลับถูกเปิดโปงจากงานวิชาการหลายชิ้นที่ยืนยันว่า

 

การสร้างเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนในพื้นที่ป่า นอกจากจะเป็นการทำลายพื้นที่เก็บกักแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติแล้ว กระบวนการย่อยสลายทางชีววิทยาหลังจากที่น้ำค่อยๆ ท่วมขังยังก่อให้เกิดแก๊สมีเทน ซึ่งส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่าตัว

 

การที่ทั่วโลกจะค่อยๆ ถอนตัวจากการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ใกล้เคียงกับหลายๆ แนวโน้ม เช่น เหมืองแร่ โครงการชลประทานขนาดใหญ่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ในศตวรรษที่ 21 การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ยังสร้างความเกรี้ยวกราดแก่ชาวชนบทและชาติพันธุ์ท้องถิ่น เราเริ่มเห็นการต่อต้านครั้งใหญ่เพื่อปกป้องทรัพยากรปลาและที่อยู่อาศัยของพวกเขา ซึ่งจะโดนผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน

เขื่อนขนาดยักษ์ซึ่งใช้เวลานับทศวรรษในการก่อสร้าง และมักจะเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้นทุนเกินกว่างบที่คาดการณ์ไว้ (cost overrun) เฉลี่ยร้อยละ 70 ในขณะที่งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ.2557 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vermont ระบุว่า โครงการไฟฟ้าจากลมมีต้นทุนที่เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เฉลี่ยร้อยละ 7.7 ส่วนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงวัฎจักรน้ำ แผ่นดินไหว รวมถึงอุทกภัยในเทือกเขาหิมาลัยที่มีแนวโน้มรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายประเทศตัดสินใจชะลอการก่อสร้างเขื่อน

Ranganadi hydropower dam : PHOTO Keith Schneider / Circle of Blue

 

เขื่อน เทคโนโลยีที่ถูกโจมตีทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ กรุงปานามา ชนเผ่า Ngabe-Bugle ได้พยายามยับยั้งการเติมอ่างเก็บน้ำหลังเขื่อน Barro Blanco กำลังผลิต 28 เมกะวัตต์ซึ่งก่อสร้างเหนือแม่น้ำ Tabasara การตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อของรัฐบาลนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 6 กรกฎาคมโดยสมาชิกในเผ่าและเครือข่ายพันธมิตรไปยังบริเวณหน้าพระราชวัง Heron ที่พำนักของประธานาธิบดีปานามา และทำเนียบรัฐบาล การประท้วงดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้ายหลังความพยายามขัดขืนครั้งแล้วครั้งเล่า โดยผู้นำชนเผ่า Ngabe-Bugle รบุว่าสิทธิของพวกเขาถูกละเมิด ที่ดินทำกิน วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของพวกเขาถูกคุกคามโดยโครงการก่อสร้างเขื่อน

ล่าสุด รัฐบาลปานามาได้นัดประชุมกับผู้แทนจากธนาคารแห่งสหภาพยุโรปผู้สนับสนุนเงินทุนในโครงการดังกล่าว เพื่อหาทางออกต่อไป

“การเติมน้ำสู่อ่างเก็บน้ำคือการล่วงละเมิด ประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวก็ปฏิเสธที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ก็มีการต่อต้านค่อนข้างมาก” Osvaldo Jordan ผู้อำนวยการ Alliance of Conservation and Development ให้สัมภาษณ์

ในประเทศเนปาล หลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แผนจะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนกำลังการผลิตกว่า 10,000 เมกะวัตต์ก็แทบจะหยุดชะงัก เขื่อน Upper Tamakoshi เขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในเนปาลซึ่งกำลังก่อสร้างก็เดินหน้าต่อไม่ได้ เนื่องจากแผ่นดินไหวได้ทำลายถนนสู่พื้นที่ก่อสร้าง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเดินทางเข้าไปไม่ได้

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนในประเทศอินเดีย บริเวณเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว โครงการดังกล่าวต้องเผชิญกับแรงต้านจากประชาชนค่อนข้างมาก เมื่อปี 2556 น้ำท่วมใหญ่ในรัฐอุตตรขัณฑ์ ก็ทำให้เขื่อนผลิตไฟฟ้าเสียหายอย่างหนัก การก่อสร้างเขื่อนในอีกหลายแห่งของอินเดียก็จุดประกายให้เกิดการประท้วงของชาติพันธุ์ท้องถิ่นที่อยู่อาศัยบนภูเขาสูง

 

การก่อสร้างเขื่อนในแอมะซอน

การสร้างเขื่อนในประเทศบราซิลก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อย เมื่อนเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว the Guardian ระบุว่าแผนการก่อสร้างเขื่อนกำลังการผลิต 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่อันดับ 2 ของบราซิลถูกระงับจาก Ibama หน่วยงานรัฐด้านสิ่งแวดล้อมของบราซิล รัฐบาลก็ตัดสินใจเลื่อนการให้สัมปทานออกไปเนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบต่อชาติพันธุ์ท้องถิ่นในพื้นที่

 

“ชาว Monduruku กว่า 10,000 ชีวิตอยู่อาศัยในบริเวณลำน้ำ Tapajos ซึ่งการก่อสร้างเขื่อนจะทำให้บริเวณขนาดใหญ่จมหายไป นำไปสู่การบังคับย้ายถิ่นฐานของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของบราซิลเว้นแต่ว่าเกิดโรคระบาดหรือสงคราม” the Guardian ระบุ

 

โครงการ São Luiz do Tapajós เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 5 เขื่อนที่จะก่อสร้างเหนือลำน้ำ Tapajós และลำน้ำเครือข่าย Jamanxim ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดราว 400 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ป่าดิบชื้น  และนำไปสู่การตัดป่าพื้นที่กว่า 2,200 ตารางกิโลเมตร อ้างอิงจากรายงานของกรีนพีซ

“ประสบการณ์ของเขื่อนในอดีตและที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ป่าแอมะซอนบอกเราว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนสามารถทำลายล้างที่อยู่อาศัย เช่น ป่าที่ต้องพึ่งพาน้ำหลากตามฤดูกาล รวมถึงทำลายล้างประชากรปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และกระทบต่อวัฎจักชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เต่า แมวน้ำ และโลมาแม่น้ำ” ระบุจากรายงานของกรีนพีซ

ที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จะถูกต่อต้านอย่างรุนแรง และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติมากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี กระแสดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุน เช่น ธนาคารระหว่างประเทศขนาดยักษ์เปลี่ยนใจ ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2557 ธนาคารพัฒนาแห่งประเทศจีน ธนาคารโลก และธนาคารยักษ์ใหญ่อีก 3 แห่ง ลงทุนในโครงการพัฒนาพลังงานทั่วโลกมูลค่ารวมถึง 236.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานน้ำสูงถึง 97.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 41 โดยแทบทั้งหมดเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำสำคัญ 3 แห่ง คือคองโก แม่โขง และแอมะซอน ซึ่งนักชีววิทยาและนิเวศวิทยาต่างแสดงความกังวลต่อการก่อสร้างดังกล่าว เนื่องจากเขื่อนเหล่านั้นกำลังจะปิดกั้นเส้นทางของแหล่งปลาน้ำจืดที่ดีที่สุดของโลก

“ลุ่มน้ำทั้ง 3 แห่งรวบรวมชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดไว้ราว 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดทั่วโลก” อ้างอิงจาก Kirk Winemiller อาจารย์ด้านสัตวป่าและปลา มหาวิทยาลัย Texas A&M “แผนการก่อสร้างเขื่อนอีกกว่า 450 แห่งในลุ่มน้ำดังกล่าวกำลังทำให้พันธุ์ปลาจำนวนมากต้องเผชิญกับความเสี่ยง”

ในประเทศกัมพูชา ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง 2 แห่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อน Lower Sesan 2 ซึ่งกำลังเดินหน้าก่อสร้างใกล้กับบริเวณสบกันของแม่น้ำ Sesan และ Srepok ในจังหวัดสตึงแตรง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขื่อนดังกล่าวจะมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำราว 200,000 ไร่ และต้องย้ายประชาชนกว่า 5,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย

การต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนเกิดขึ้นจากความกังวลว่าโครงการอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณปลา ทำให้รัฐบาลตัดสินใจหยุดการก่อสร้างไว้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน “ตั้งแต่ตอนนี้ถึงปี 2563 รัฐบาลจะเปิดให้มีการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาสังคม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการก่อสร้างเขื่อนที่ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าและแหล่งอาหาร” Tek Vannara ผู้อำนวยการ NGO Forum ในประเทศกัมพูชาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Khmer Times

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Popularity of Big Hydropower Projects Diminishes Around the World โดย Keith Schneider
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์