จับตามอง! ‘เขื่อนคาคอฟกาแตก’ หายนะภัยด้านนิเวศที่น่ากังวลที่สุดในยูเครน

จับตามอง! ‘เขื่อนคาคอฟกาแตก’ หายนะภัยด้านนิเวศที่น่ากังวลที่สุดในยูเครน

เขื่อนคาคอฟกาแตก ส่งผลกระทบให้ประชาชนในแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของประเทศยูเครนกว่า 40,000 ราย ต้องเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ อุทยานแห่งชาติถูกน้ำท่วม รวมถึงส่งผลต่อระดับน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เชีย ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะด้านนิวเคลียร์ที่จะแพร่กระจายสารพิษทั้งจากพืช และปิโตรเลียมลงสู่ทะเลดำได้

ความเสียหายของเขื่อน ทำให้ระดับน้ำในคลองนอร์ธ ไครเมีย (North Crimean Canal) ลดลง โดยประชาชนส่วนใหญ่ ใช้น้ำในคลองนี้ เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริโภค และความจำเป็นอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้การผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมหยุดชะงัก อีกทั้ง ยังส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างมาก มีสัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยต้องตาย และไม่มีที่อยู่อาศัย

Ostap Semerak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติยูเครน กล่าวว่า ในความคิดเห็นของเขา เหตุการณ์นี้เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดจากการที่เขื่อนแตก แต่อันตรายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ คือ น้ำจะท่วมเมือง ปั๊มน้ำมัน และฟาร์ม มีการปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีทางการเกษตร และน้ำมันปิโตรเลียมไหลลงสู่ทะเลดำ สิ่งนี้จะส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อทั้งภูมิภาค

Olena Kravchenko ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมยูเครน ผู้เชื่อว่า รัสเซียมีส่วนในการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม (ecocide) ด้วยการระเบิดเขื่อนในครั้งนี้ กล่าวว่า แม่น้ำจะปนเปื้อนไปด้วยเศษขยะและสารเคมีอันตราย ปริมาณน้ำอาจลดลงหรือไม่มีพอให้ใช้ในหลายเมือง และส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร รวมถึงจะเห็นปลา หอย และสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ตาย และไม่มีที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังส่งผลกระทบเชิงลบกับอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาอีกด้วย นอกจากนี้ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตะกอนจากระเบิดจะค้นหาและนำออกได้ยาก”

ทางด้านหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของ UN กล่าวว่า “การเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากน้ำที่ปนเปื้อน เป็นหนึ่งในความน่ากังวลที่สุดที่ต้องจัดการเร่งด่วน”

AP Photo l Libkos

เขื่อนคาคอฟกา คืออะไร  มีความสำคัญอย่างไร

เขื่อนคาคอฟกา หรือ เขื่อนโนวา คาคอฟกา เป็น 1 ใน 6 เขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำดนิโปร (Dnipro) ในแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของประเทศยูเครน ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และส่งน้ำจากแม่น้ำดนิโปรไปทั่วประเทศยูเครน และส่งน้ำไปยังคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียประกาศผนวกรวมดินแดนในปี 2557 รวมไปถึงเป็นแหล่งน้ำที่จัดส่งไปโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริชเชีย (Zaporizhzhia) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป เพื่อใช้ในระบบหล่อเย็นอีกด้วย นอกจากนี้ เขื่อนยังเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ‘โนวา คาคอฟกา’

เขื่อนคาคอฟกา ถูกก่อสร้างขึ้นในปี 2499 โดยสหภาพโซเวียต สมัยโจเซฟ สตาลิน ก่อนที่การก่อสร้างเขื่อนจะแล้วเสร็จในสมัยนิกิตา ครุสชอฟ เขื่อนดังกล่าวเชื่อมแม่น้ำดนิโปร ซึ่งขณะนี้ในทางตะวันออก อยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย รวมถึงเป็นแนวหน้าการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารรัสเซียและกองกำลังทหารยูเครน

เขื่อนคาคอฟกา มีความสูง 30 เมตร และยาว 3.2 กิโลเมตร และสามารถกักเก็บปริมาณน้ำได้ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเทียบได้กับเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

Kakhovka hydroelectric station l wikipedia

เหตุการณ์เขื่อนแตก มีสาเหตุจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย และยูเครนไหม?

ในตอนนี้ ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเหตุใดเขื่อนคาคอฟกาถึงแตกได้? แต่เนื่องจากเขื่อนนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแนวหน้าการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารรัสเซียและกองกำลังทหารยูเครน ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ประเทศ ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นผู้ลงมือก่อการร้าย 

โดยฝ่ายยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี กล่าวว่า กองกำลังทหารของรัสเซียจุดระเบิดขึ้นภายในโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา ซึ่งอยู่ในเขื่อนคาคอฟกา เพราะต้องการป้องกันไม่ให้กองกำลังทหารยูเครนข้ามแม่น้ำดนิโปร เพื่อสามารถบุกโจมตีตอบโต้กองกำลังรัสเซียที่ควบคุมพื้นที่อีกฝั่ง

ทางฝ่ายรัสเซียเองโต้กลับว่า ฝ่ายยูเครนเป็นฝ่ายที่ลงมือก่อการร้ายเสียเอง เพื่อตัดการส่งน้ำไปยังดินแดนไครเมีย และเบี่ยงเบนความสนใจจากสายตาชาวโลก จากการโจมตีโต้ตอบของฝ่ายตนเองที่ไม่แน่นอน ซึ่งวลาดิมีร์ โรกอฟ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียในเมืองซาปอริซเซีย และสื่อรัสเซีย กล่าวว่า บริเวณเขื่อนคาคอฟกานั้น ไม่มีการโจมตีใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่เขื่อนคาคอฟกาแตกนั้น เกิดจากแรงดันของน้ำในเขื่อน และความเสียหายของตัวเขื่อนที่สะสมมาก่อนหน้านี้

Mark Mulligan ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพแห่งมหาวิทยาลัย College London กล่าวว่า “การที่โครงสร้างของเขื่อนถล่มลงมานั้น อาจเป็นผลกระทบที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างรัสเซีย และยูเครน รวมถึงรัสเซีย ผู้ที่ควบคุมเขื่อนอยู่ อาจจงใจปล่อยให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น ส่งผลทำให้เขื่อนถล่มลงมา”

นอกจากนี้ มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินความเสียหาย คาดการณ์ว่า การที่เขื่อนแตกนั้น อาจเกิดจากการระเบิดที่ตัวเขื่อน ไม่ใช่การโจมตีจากระยะไกล และมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ยูเครนไม่น่าใช่ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ เนื่องจากการที่เขื่อนคาคอฟกาแตกนั้น ส่งผลกระทบด้านลบกับทางยูเครนอย่างมาก ในแง่ที่ว่า เมื่อเขื่อนแตก น้ำจากแม่น้ำดนิโปรจะทะลัก และท่วมไปยังตอนล่างของประเทศยูเครน ทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ และไม่สามารถโจมตีโต้ตอบใด ๆ ได้ เพราะต้องแบ่งสรรพกำลังบางส่วน เพื่อควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้

Photo : Associated Press

หรือนี่จะเป็นหนึ่งในการรื้อเขื่อนของรัฐบาล? ดังเช่น การรื้อเขื่อนของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สาเหตุประการแรกมาจากการหมดอายุของเขื่อน เนื่องจากเขื่อนมีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป (เขื่อนคาคอฟกา มีอายุ 67 ปี) ซึ่งอาจมีปัญหาในด้านการขาดแคลนเงินทุนในการบำรุงรักษาเขื่อนให้ปลอดภัย หรือประการที่สอง ที่ในขณะนี้ กระแสการรณรงค์และสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาเป็นดังเดิม เพราะเขื่อน ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีส่วนในการปิดกั้นทางน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำบางชนิด ไม่สามารถว่ายตามกระแสน้ำเพื่อวางไข่ได้ และทำให้การเดินเรือหยุดชะงัก

ในตอนนี้ ยังมีเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ยังไม่มีข้อสรุปสาเหตุที่เขื่อนคาคอฟกาแตก ซึ่งการที่เขื่อนคาคอฟกาแตกในครั้งนี้ ถือเป็นหายนะภัยด้านนิเวศที่น่ากังวล และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบแก้ไข ควบคู่กับการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตก และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

อ้างอิง

ผู้เขียน บุษบา รุ่งเรืองศรี นักศึกษาฝึกงาน