ร่วมแสดงเจตจำนง “แฟลชม็อบระวังจะสูญพันธุ์” ในงานแถลงข่าว รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

ร่วมแสดงเจตจำนง “แฟลชม็อบระวังจะสูญพันธุ์” ในงานแถลงข่าว รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ หรือ โควิด – 19 กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาคมโลกต่างหันมาให้ความสนใจกับเรื่องปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า เนื่องจากมีแนวความคิดที่อิงจากงานวิชาการหลายที่มา ว่าด้วยปฐมบทแห่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งนี้ (และในหลายครั้งที่ผ่านมา) ล้วนมีต้นตอมาจากการบริโภคสัตว์ป่า และการบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติ โรคอุบัติใหม่จึงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษยชาติโดยตรง

จากรายงานวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พบว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีจำนวนประมาณ 9,359,372 คน และเสียชีวิตจากโรคร้ายถึง 479,879 คน ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นจำนวนที่สูงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หากมนุษย์ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้ความสำคัญกับธรรมชาติ

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งในอดีตแม้นักสิ่งแวดล้อมเองจะเคยนำเสนอแนวคิดเรื่องดังกล่าว แต่กลับได้รับความนิ่งเฉยจากกระแสสังคม ดังนั้นเมื่อโรคอุบัติใหม่ได้เกิดขึ้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ มนุษยชนทุกคน และต้องพึงตระหนักต่อความจริงที่ว่า ‘มนุษย์ไม่ได้อยู่เหนือธรรมชาติ’

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 มันทำให้มนุษย์ต้องหยุดการกระทำอะไรบางอย่าง เนื่องจากต้องอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์ หรือเวิร์กฟอร์มโฮม ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ห่างไกลจากมนุษย์ และที่ผ่านมามนุษย์ไม่ได้อยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งหลังจากนี้เราต้องปรับตัวและสร้างความเข้าใจใหม่ในเรื่องการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเราเอง” ศศิน เฉลิมลาภ กล่าว

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ด้านวัชรบูล ลี้สุวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และศิลปินสายสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า แม้มนุษยชาติจะมีการพัฒนาองค์ความรู้หรือความสามารถในด้านเทคโนโลยีมากเท่าใด แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะโรคอุบัติใหม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ต่อให้มนุษย์จะมีการพัฒนาไปได้ไกลหรือรวดเร็วแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

“แม้มนุษย์เราจะฉลาดหรือเก่งกล้าแค่ไหน มันก็ไม่ได้แปลว่าเราอยู่เหนือสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ดังนั้นการที่โควิด – 19 สร้างผลกระทบต่อผู้คน จนกระทั่งมีการเจ็บป่วย หรือล้มตาย จึงเปรียบเสมือนเป็นการเตือนของธรรมชาติ ซึ่งผู้คนต้องนำไปเป็นบทเรียน และจะต้องตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้” วัชรบูร ลี้สุวรรณ กล่าว

วัชรบูล ลี้สุวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอเชิญชวนผู้ที่มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อม ร่วมแสดงเจตจำนงในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า ผ่านงานแถลงข่าว รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร กับแนวคิดการทำงานในอนาคต และร่วมชมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ระวังจะสูญพันธุ์’ (BEWARE TO EXTINCTION) ในวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่เวลา 16.00 – 18.00 น.

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร