มองความผูกพันของคนหลังเลนส์กับ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายเนื่องในวาระ 30 ปี การจากไปของสุภาพบุรุษห้วยขาแข้ง

มองความผูกพันของคนหลังเลนส์กับ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายเนื่องในวาระ 30 ปี การจากไปของสุภาพบุรุษห้วยขาแข้ง

การถ่ายภาพถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง ที่คอยบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราว หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปในวันข้างหน้า ภาพถ่ายที่ถูกบันทึกไว้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ ‘กล้อง’ จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอนุภาพไม่แพ้ปากกา ที่คอยส่งต่อเรื่องราวผ่านไฟล์เจเพ็กหรือแผ่นฟิล์มที่ถูกเขียนขึ้นด้วยแสง

ดังนั้นการเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายจึงถูกหยิบยกมาใช้ในวาระต่าง ๆ ตามจุดประสงค์ข้างต้น ซึ่งในแวดวงอนุรักษ์เองก็ได้มีการนำมาปรับใช้  เพื่อใช้ในงานวิชาการ การรณรงค์ หรือการปลูกฝังให้ผู้คนเห็นคุณค่าของสรรพชีวิตที่นอกเหนือจากมนุษย์

มรดกทางภาพที่เกิดขึ้นจาก ‘สืบ นาคะเสถียร’ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างคุณูปการให้กับวงการอนุรักษ์ และเนื่องในวาระครบรอบการจากไปของสุภาพบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ จึงได้ร่วมกับกลุ่มสห+ภาพ จัดงานนิทรรศการภาพถ่ายชุด ‘คืนสู่ธรรมชาติ’ (Back to Nature) 

เพื่อนำเสนอแง่มุมอันสวยงานของสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของผู้คนกับธรรมชาติผ่านภาพถ่าย เพื่อรำลึกถึงการจากไปสู่นิรภพอันถาวรของคุณสืบ โดยภาพถ่ายที่ได้มีการจัดแสดงขึ้นในงานนิทรรศการดังกล่าว เป็นผลงานที่ถูกสรรสร้างโดยช่างภาพมากฝีมือ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้แสดงผลงานและภัณฑารักษ์ เกี่ยวกับเรื่องราวของธรรมชาติและสัตว์ป่า ผ่านสตอรี่ชีวิตหลังเลนส์ของสืบ นาคะเสถียร

“ในยุคแรกการถ่ายภาพสัตว์ป่ามันไม่ใช่เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นการแตกแขนงอีกด้านหนึ่งของงานวิชาการ อย่างคุณสืบเองแกก็เป็นคนที่ชอบบันทึกทั้งงานภาพและงานเขียน ซึ่งภายหลังผลงานเหล่านี้มันกลายเป็นประโยชน์ของคนรุ่นหลัง อย่างภาพกวางผาที่แกถ่ายไว้ มันก็ทำให้ผู้คนได้ถึงถิ่นฐานของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันมันก็ได้มีการต่อยอดงานอนุรักษ์และฟื้นฟูตามมา”

บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่า กล่าวถึง อิทธิพลของการถ่ายภาพกับงานอนุรักษ์ ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างผลงานภาพกวางผาของสืบ นาคะเสถียร ที่ถูกบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2528 คราวเดินทางไปศึกษาและวิจัยกวางผา ณ ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งต่อมา ‘ภาพม้าเทวดา’ ที่คุณสืบลั่นชัตเตอร์ไว้เมื่อวันนั้น ได้กลายเป็นภาพที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่หลงไหลในการถ่ายภาพธรรมชาติและสัตว์ป่า

บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่า

ปฐมบทของการเข้ามาในแวดวงช่างภาพสัตว์ป่า คงไม่พ้นความชอบเรื่องความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเมื่อบารมีได้เรียนรู้และได้สัมผัสกับธรรมชาติ ทำให้เขาเกิดความรักและมีแนวคิดที่อยากจะเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกไปในแวดวงกว้าง เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าถึงงานอนุรักษ์ อย่างที่สืบ นาคะเสถียร เคยทำไว้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน

“งานเขียนและภาพถ่ายของพี่สืบในวันวาน อาจถูกสรรสร้างด้วยความคิดและความรู้สึกของเขาขณะนั้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 30 ปี สิ่งที่ถูกบันทึกไว้มันได้แสดงพลังของมัน ซึ่งไม่ได้ถูกพูดถึงแค่ในแวดวงวิชาการ แต่มันกลายเป็นภาพที่ถูกส่งต่อและกระจายออกไปแวดวงกว้าง นี่แหล่ะพลังภาพถ่ายของคุณสืบ” บารมี เต็มบุญเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

แน่นอนว่าหลังจากการจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ได้กลายเป็นการปลุกกระแสการอนุรักษ์ที่โชดช่วงขึ้นด้วยเสียงปืนนัดนั้นของสืบ นาคะเสถียร ปรากฎการณ์ในวาระดังกล่าว ได้ทำให้ผู้คนจากหลากหลายสาขาหันมาสนใจเรื่องการดูแลธรรมชาติและสัตว์ป่า   

หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า

หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร  ได้ตอกย้ำแนวคิดดังกล่าวว่า การจากไปของคุณสืบ ส่งผลให้งานอนุรักษ์ถูกหยิบยกมาพูดถึง และกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจ

“ในช่วงที่พี่สืบจากไปใหม่ ๆ ตอนนั้นกระแสงานอนุรักษ์มันรุนแรงมาก ดังนั้นภาพถ่ายที่พูดถึงเรื่องราวของธรรมชาติและสัตว์ป่า จึงได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องการของหลาย ๆ สื่อ ซึ่งกระแสดังกล่าวมันก็มีขึ้นมีลงไปตามกระแสสังคม” 

มาถึงจุดนี้สิ่งที่ผู้เขียนสงสัยก็ผุดขึ้นมาในหัวกับคำถามที่ว่า แล้วในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แล้วคอนเทนต์ในลักษณะภาพถ่ายยังคงมีอำนาจและสามารถสร้างพลังให้กับคนดูได้หรืออยู่เปล่า

หม่อมหลวงปริญญากร ตอบว่า ณ ปัจจุบัน คิดว่าพลังของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายมันไม่ได้เปลี่ยนไปมาก แต่แค่มีการพลิกรูปแบบในการนำเสนอเท่านั้น อย่างการเปลี่ยนจากสื่อกระดาษ สู่รูปแบบของไฟล์ภาพดิจิทัล อย่างไรก็ตาม งานจัดแสดงภาพถ่ายก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เสพงานศิลป์ ได้อารมณ์ที่แตกต่างจากการเฝ้ามองจากหน้าจอโทรศัพท์ เนื่องจากการได้มางานนิทรรศการจะทำให้พวกเขาได้มีเวลาในการพิจารณางานชิ้นนั้นอย่างถี่ถ้วน ซึ่งจะเกิดอารมณ์และความรู้สึกตามมา 


ช่างภาพผู้คร่ำหวอดในวงการถ่ายภาพมองว่า การที่เขาได้สรรสร้างผลงานด้านภาพถ่ายในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร เนื่องจากในอดีตงานอนุรักษ์ถูกครอบรวมไว้กับงานเชิงวิชาการ ซึ่งเมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไปผ่านการบันทึกจากอุปกรณ์ที่เรียกว่ากล้อง ได้ทำให้เรื่องสรรพชีวิตในธรรมชาติถูกส่งต่อ และบางขณะก็เปรียบเสมือนเป็นการพูดแทนสัตว์ป่าน้อยใหญ่

“พี่สืบแกได้นำเอาความเป็นอาร์ตติสท์ของเขามาใช้ในงานสัตว์ป่า มันทำให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกส่งต่อและแพร่กระจายเป็นวงกว้าง อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ ความรู้สึกทางด้านอารมณ์ของผู้เสพงาน ทำให้กลายเป็นสิ่งที่หลายคนอินไปกับมัน และภาพถ่ายเหล่านี้ก็จะได้ช่วยเกลาจิตใจให้เขาอยากจะดูแลธรรมชาติ” หม่อมหลวงปริญญากร กล่าว

จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ด้านจิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร และภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการฯ กล่าวว่า งานดังกล่าวถูกจัดขึ้น เพื่อเป็นการรำลึก 30 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร และเป็นการให้ผู้คนได้สัมผัสถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่าย หลังจากที่ต้องตกอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์เป็นเวลากว่า 3 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19

“เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร จึงได้มีการจัดนิทรรศการนี้ขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณสืบ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดง มาจากช่างภาพสายอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่ารวม 32 ชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนสื่อที่พูดถึงเรื่องราวของธรรมชาติผ่านภาพที่เราไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป” จิระนันท์ พิตรปรีชา กล่าว

สำหรับนิทรรศการ คืนสู่ธรรมชาติ เปิดให้เข้าชมงาน ระหว่างวันที่ 16 – 28 มิถุนายน 2563 จัดแสดงที่ ผนังโค้ง ชั้น 3 และ 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมเวลา 10.00 – 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ภาพที่จัดแสดงประกอบด้วยผลงานของ กฤตฤทธิ์ บุตรพรม / จิระนันท์ พิตรปรีชา / จิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ / จามิกร สุขทรามร / นพ.จอมพล มุสิกวงศ์ / จักรพันธ์ อักกพันธานนท์ / ณรงค์ สุวรรณรงค์ / โดม ประทุมทอง / นัท สุมนเตมีย์ / ธีระ แสงสุระเดช / บารมี เต็มบุญเกียรติ / ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ / ปรีดา หวายนำ / พนม อาชาฤทธิ์ / พัฒนะ จึงวัฒนาสมสุข / มนตรี ธีระตระกูล / รชฏ วิสราญกุล / วิศาล น้ำค้าง / วีระยุทธร พิริยะพระประภา / วัชรบูล ลี้สุวรรณ / วรรณสิงค์ ประเสริฐกุล / ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย / สิริวรรณ์ ทิพย์สวัสดิ์ / สุภเศรษฐ โอธิภากรณ์ / สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ / สงกรานต์ วีระพงษ์ / สันติ เศษสิน / สมิทธิ์ สูติบุตร / สมโภช แตงไทย / ศักดิ์นันท์ โชติเสว์ / หัสชัย บุญเนือง / เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

 


เรื่องและภาพ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร