ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปากแม่น้ำโขงเสี่ยงโดนน้ำทะเลรุก เพราะเหมืองทรายและการสร้างเขื่อน

ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปากแม่น้ำโขงเสี่ยงโดนน้ำทะเลรุก เพราะเหมืองทรายและการสร้างเขื่อน

พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ถูกช่วงชิงตะกอนดิน อาจเสี่ยงต่อการถูกน้ำเค็มรุกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า
.

นี่คือผลลัพธ์ของการศึกษาในโครงการ Rise and Fall Project โดยมหาวิทยาลัย Utrecht และ Deltares ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth and Environment ซึ่งนักวิจัยแสดงให้เห็นว่า ภายในครึ่งคริสต์ศตวรรษนี้ แรงผลักดันของกิจกรรมมนุษย์โดยเฉพาะการกัดเซาะท้องน้ำเนื่องจากการสูญเสียตะกอนดิน อาจส่งผลให้เกิดการรุกของน้ำทะเลมากกว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล 6 ถึง 7 เท่า

งานศึกษาชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่รวมเอาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์เพื่อคำนวณอัตราการรุกในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่การรุกของน้ำเค็มทำให้ปริมาณอุปทานของน้ำจืดมีปัญหา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการย้ายถิ่นฐานของประชากรก็อาจเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอาจส่งผลอย่างมากต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในหมู่กลุ่มเปราะบางที่ต้องพึ่งพาพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ” Sepehr Eslami นักวิจัยหลักอธิบาย โดยชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการจำกัดการรุกของน้ำเค็มน้ำอาจมีไม่มากอย่างที่เคยคิดไว้

พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงคือพื้นที่ปากแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก มีประชากรอาศัยกว่า 18 ล้านคน นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลกโดยข้าวแทบทั้งหมดนั้นผลิตในพื้นที่ดังกล่าว
.

ผสานปัจจัยจากมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในแบบจำลองคณิตศาสตร์

การศึกษาชิ้นนี้เป็นการรวมเอาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันจากการใช้ทรัพยากรของมนุษย์เพื่อพยากรณ์การรุกล้ำของน้ำทะเลบริเวณปากแม่น้ำโขง การคาดการณ์ดังกล่าวจะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนาและปรับตัวรับภัยพิบัติบริเวณปากแม่น้ำโขง วิธีการศึกษานี้ยังเป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปากแม่น้ำแห่งอื่นอย่างเป็นระบบอีกด้วย
.

ผลกระทบในระดับโลก

ผลการศึกษาชิ้นนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแม่น้ำโขงและพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั่วโลก โดยเฉพาะปากแม่น้ำในเขตร้อนชื้นของเอเชีย เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำอิระวดี และแม่น้ำเจ้าพระยา Eslami กล่าวว่าขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อพื้นที่ปากแม่น้ำขนาดใหญ่ แต่กิจกรรมของมนุษย์ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปการขลาดแคลนตะกอนและการเปลี่ยนแปลงทางอุทกศาสตร์กลับส่งผลกระทบรุนแรงกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21”
.

แม่โขง แม่น้ำที่ขาดแคลนตะกอน

เขื่อนที่สร้างขึ้นบริเวณเหนือน้ำอาจก่อให้เกิดการพังทลายของตลิ่ง ท้องน้ำ และชายฝั่ง เปลี่ยนแปลงวัฎจักรทางอุทกศาสตร์ และบั่นทอนการกักเก็บน้ำในทะเลสาบอย่างโตนเลสาบในกัมพูชา แม่น้ำที่ลึกขึ้นจะทำให้พื้นที่ปากแม่น้ำเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยแล้ง เนื่องจากน้ำเค็มจะสามารถรุกเข้าสู่แผ่นดินได้ลึกขึ้นและยาวนานขึ้น การทำเหมืองทรายเหนือปากแม่น้ำในกัมพูชาและลาวจะยิ่งทำให้แม่น้ำลึกลงไปอีก เปิดทางให้น้ำเค็มรุกลึกเข้าสู่แผ่นดิน 

นักวิจัยระบุว่าการลดการใช้น้ำบาดาลและการทำเหมืองทรายอาจปกป้องพื้นที่กว่า 7.5 ล้านไร่จากการรุกล้ำของน้ำเค็มได้

สำหรับผู้สนใจ สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ Projections of salt intrusion in a mega-delta under climatic and anthropogenic stressors

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Fifty per cent of the Mekong Delta at risk of salinization due to sand mining and dam building

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก