‘วิกฤติภูมิอากาศ’ เข้าใกล้ ‘จุดแตกหัก’ มนุษยชาติต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทันที

‘วิกฤติภูมิอากาศ’ เข้าใกล้ ‘จุดแตกหัก’ มนุษยชาติต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทันที

วิกฤติภูมิอากาศ – งานวิจัยโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเปิดเผยว่า มนุษยชาติจะต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อป้องกันวิกฤติที่ยากจะแก้ไข เช่น การละลายของน้ำแข็ง ผลกระทบต่อกระแสน้ำในมหาสมุทร การสูญเสียแนวปะการังแบบถาวร 

งานศึกษาชิ้นใหม่นี้ครอบคลุมหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากซึ่งระบุว่าทุกประเทศจะต้องดำเนินนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งนับเป็นความหวังเดียวที่มนุษยชาติจะหลีกเลี่ยงหายนะจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและภัยคุกคามต่างๆ ทั่วโลก จาก ‘วิกฤติภูมิอากาศ’

เป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่กระทำได้หากทุกประเทศทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในปัจจุบันเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เราไม่มีทางเลือกอื่น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้รวดเร็วดังที่ให้สัญญาไว้หรือไม่

ปัจจุบัน โลกได้ร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส หากเทียบกับปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1800s

“การศึกษาชิ้นนี้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นเพื่อสนับสนุนการจำกัดอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีส” David McKay หนึ่งในทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ให้สัมภาษณ์

การศึกษาใหม่ชิ้นใหม่ระบุอย่างชัดเจนว่าการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นทุกๆ 0.1 องศาเซลเซียสจะช่วยสร้างผลประโยชน์ในระยะยาวอย่างมหาศาลจาก ‘วิกฤติภูมิอากาศ’ ตัวอย่างเช่น แผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกากำลังละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำทะเลในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นทั่วโลก

วิกฤตภูมิอากาศ
วิกฤตภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามี ‘จุดแตกหัก’ ซึ่งจะทำให้การละลายของน้ำแข็งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้หรือหลีกเลี่ยงได้แม้ว่ามนุษย์จะสามารถรับมือภาวะโลกร้อนได้สำเร็จก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้ประมาณการว่าจุดแตกหักของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตกอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิราว 1.5 องศาเซลเซียส ยิ่งโลกร้อนขึ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การสูญเสียน้ำแข็งรวดเร็วขึ้น แต่ตราบใดที่เราจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียดังกล่าวได้

หากแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาตะวันตกละลายทั้งหมด ก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 30 ฟุต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่ากระบวนการละลายจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าเป็นเวลาร่วม 500 ปี

แต่นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่ศึกษาแผ่นน้ำแข็งเตือนว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างอันตรายอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น และอาจเกิดขึ้นก่อนที่แผ่นน้ำแข็งจะถึงจุดแตกหักด้วยซ้ำ

“ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มขึ้นแล้ว” Erin Pettit นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก Oregon State University หัวหน้าที่นักวิจัยในแอนตาร์กติกาได้เฝ้ามองแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ละลายหายไปกับตาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา “เราอาจเจอกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นหลายฟุตในศตวรรษหน้า” เธอกล่าว “ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งหรือที่ลุ่มซึ่งอาจเสี่ยงจะเกิดอันตรายได้”

การศึกษาชิ้นดังกล่าวยังระบุอีกว่ายังมีจุดแตกหักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญอีกสองประเด็น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิราว 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียสจะนำไปสู่การตายของแนวประการังจำนวนมหาศาล รวมถึงกระแสน้ำในมหาสมุทรแอนตาร์กติกเหนือที่อาจหยุดการไหลเวียนซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายทวีปโดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป

หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส เราก็จะเผชิญจุดแตกหักที่นำไปสู่สารพัดปัญหา กระแสน้ำในมหาสมุทรหลายแห่งอาจหยุดหมุนเวียน ป่าแอมะซอนอาจตายลง และแท่นน้ำแข็งขนาดยักษ์ที่อายุยาวนานอาจละลายและปล่อยแก๊สเรือนกระจกอันตรายอย่างมีเธนสู่ชั้นบรรยากาศ

การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจะช่วยป้องกันวิกฤติเหล่านั้นได้อย่างถาวะ “เรายังพอมีวิธีการและความสามารถในการป้องกันไม่ให้โลกไปถึงจุดแตกหัก” McKay กล่าว “หรืออย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงที่เหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นโดยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”


ถอดความและเรียบเรียงจาก Humans must limit warming to avoid climate tipping points, new study finds

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก