เสียงร้องของพืชในยามทุกข์ระทมที่มนุษย์ไม่ได้ยิน

เสียงร้องของพืชในยามทุกข์ระทมที่มนุษย์ไม่ได้ยิน

งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เผยแพร่ทางวารสาร Cell ระบุว่าพืชไม่ได้ทุกข์ระทมอย่างเงียบงัน ความจริงแล้วเมื่อพวกมันขาดน้ำหรือเผชิญภาวะเครียด พืชจะส่งเสียง “ผ่านทางอากาศ”

ทีมวิจัยพบว่าพืชที่ต้องการน้ำหรือถูกตัดกิ่งก้านไปไม่นานจะสร้างเสียงประมาณ 35 ครั้งต่อชั่วโมง ในขณะที่ต้นไม้ที่ได้รับน้ำอุดมสมบูรณ์และไม่ถูกคุกคามจะอยู่เงียบๆ โดยสร้างเสียงประมาณ 1 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น

สาเหตุที่คุณอาจไม่เคยได้ยินเสียงของพืชที่กำลังหิวน้ำก็เพราะเสียงนั้นอยู่ในช่วงอัลตราโซนิก หรือประมาณ 20 – 100 กิโลเฮิร์ตซ์ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่สูงมากๆ จนมีมนุษย์เพียงจำนวนหยิบมือเท่านั้นที่จะได้ยิน แต่สัตว์บางชนิดอาจได้ยินเสียงเหล่านั้น เช่น ค้างคาว หนู ผีเสื้อกลางคืน อาจอาศัยในโลกที่พืชต่างส่งเสียงระงม การศึกษาชิ้นที่แล้วโดยทีมวิจัยเดียวกันก็พบว่าพืชตอบสนองต่อเสียงของสัตว์ต่างๆ เช่นกัน

เสียงร้องของพืชพรรณ

Lilach Hadany จากมหาวิทยาลัย Tel-Aviv ในอิสราเองและทีมวิจัยวางต้นยาสูบ (Nicotiana tabacum) และต้นมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum) ไว้ในกล่องขนาดเล็กพร้อมกับไมโครโฟน โดยไมโครโฟนดังกล่าวจะฟังเสียงต่างๆ ที่พืชส่งออกมาถึงแม้ว่าทีมวิจัยจะไม่ได้ยินก็ตาม เสียงดังกล่าวจะดังขึ้นเด่นชัดในช่วงที่พืชอยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากขาดน้ำหรือเพิ่งถูกตัดกิ่ง โดยจะเป็นเสียงต่ำๆ และดังถี่ๆ “ฟังแล้วก็คล้ายกับป็อปคอร์นที่ดังต่อกันสั้นๆ” Hadany กล่าว “และนี่ไม่ใช่เสียงร้องเพลง”

พืชไม่มีเส้นเสียงหรือปอด Hadany เล่าว่าเธอมีทฤษฎีวิธีการกำเนิดเสียงของพืชตอนนี้จึงน่าจะเกิดจากไซเลม ท่อที่ส่งน้ำและอาหารจากรากไปจนถึงกิ่งก้านและใบไม้ น้ำในไซเลมจะเกาะกลุ่มรวมกันโดยความตึงผิว คล้ายกับน้ำที่ดูดผ่านหลอดดื่มน้ำ เมื่อฟองสบู่เกิดขึ้นหรือแตกออกในไซเลมก็จะเกิดเป็นเสียงป็อปเบาๆ ฟองอากาศดังกล่าวจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่พืชขาดน้ำ แต่กลไกการกำเนิดเสียงจริงๆ อาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

ทีมงานใช้แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินว่าเสียงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่พืชโดนตัดหรือขาดน้ำโดยที่มีความแม่นยำราว 70 เปอร์เซ็นต์ นี่อาจเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมสำหรับตรวจวัดติดตามพืชที่ปลูกในฟาร์มหรือโรงเพาะเลี้ยงผ่านเสียงในอนาคต

ทีมได้ทำการทดสอบศักยภาพในภาคปฏิบัติสำหรับวิธีการดังกล่าวโดยบันทึกเสียงในห้องกระจกสำหรับปลูกพืชโดยความช่วยเหลือของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อกรองเสียงอื่นๆ ออกไปไม่ว่าจะเป็นเสียงลมหรือเสียงเครื่องปรับอากาศ เราก็ยังได้ยินเสียงของพืช การศึกษานำร่องโดยทีมวิจัยพบว่ามะเขือเทศและยาสูบไม่ใช่พืชที่แตกต่างจากชนิดอื่นๆ ข้าวสาลี (Triticum aestivum) ข้าวโพด (Zea mays) และองุ่น (Vitis vinifera) ก็ส่งเสียงเช่นกันตอนที่ขาดน้ำ

เสียงพูดคุยของพงหญ้า?

ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยของ Hadany เคยทำการศึกษาว่าพืชสามารถ ‘ได้ยิน’ เสียงหรือไม่ และพบว่าต้นพริมโรส (Oenothera drummondii) จะปล่อยน้ำหวานออกมาตอนที่ได้ยินเสียงผึ้งขยับปีก

Graham Pyke อดีตนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Macquarie ในกรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตั้งคำถามว่าเสียงของต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศหรือเปล่า และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมพืชและสัตว์หรือไม่ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่มียังไม่ชัดเจนนัก 

เขายังตั้งคำถามว่าการที่สัตว์ฟังเสียงของพืชที่ตึงเครียดหรือเปล่า “มีแนวโน้มน้อยมากที่พืชจะได้ยินเสียงของพืชจากระยะไกลๆ” เขากล่าว ส่วนตัวแล้วเขาคิดว่าเสียงของพืชนั้นเบาเกินไป งานวิจัยในอนาคตควรจะฉายภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องนี้ แต่ Pyke มองว่าเขารับได้กับการที่พืช ‘ส่งเสียงร้อง’ ตอนที่ตึงเครียด

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก