เมื่อเจ้าเหมียวถูกล็อคดาวน์? ว่าด้วยแมวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศ

เมื่อเจ้าเหมียวถูกล็อคดาวน์? ว่าด้วยแมวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ทุกคนต่างร่วมกันเฉลิมฉลองในวันที่สิ้นสุดประกาศล็อคดาวน์เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ความสุขเช่นนั้นก็คงไม่ต่างจากเหล่าแมวเหมียวในเมืองแห่งหนึ่งของประเทศเยอรมันที่ได้รับอิสระเสียทีหลังจากถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน

เหล่าเจ้าของแมวในเมือง Walldorf ถูกบังคับให้เก็บเจ้าเหมียวไว้ภายในบ้านในช่วงฤดูใบไม้ผลิตามมาตรการล็อคดาวน์พิเศษเพื่อปกป้องนกชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ การตัดสินใจดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์นกจาบฝนหงอน (crested lark) หลังจากหน่วยงานภาครัฐระบุว่าหลงเหลือนกที่สามารถจับคู่ผสมพันธ์ได้เพียงสามคู่เท่านั้นในเมืองแห่งนี้ นกชนิดดังกล่าวยังอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของเยอรมันอีกด้วย

นกชนิดนี้จะทำรังบนพื้น ทำให้ตกเป็นเหยื่อของเจ้าแมวนักล่าอย่างง่ายดาย

เจ้าของแมวเหมียวเสี่ยงที่จะโดนปรับ 506 ดอลลาร์ถ้าพบว่าแมวออกมาเพ่นพ่านด้านนอก และค่าปรับถึง 50,600 ดอลลาร์หากพบว่าแมวทำร้ายหรือฆ่านกจาบฝนหงอน เจ้าเหมียวจะอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้ก็ต่อเมื่อใส่ปลอกคอที่มีความยาวไม่เกินสองเมตร

เมื่อหมดฤดูร้อนก็สิ้นสุดการล็อคดาวน์ Matthias Renschler เทศมนตรีเมืองแถลงว่าพบลูกนกจำนวนมากที่เกิดใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ “ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ภาครัฐดำเนินการอย่างสมเหตุสมผลตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” เขากล่าว “แน่นอนว่า เป้าหมายของเราคือข้อกำหนดนี่จะไม่จำเป็นในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม การล็อคดาวน์ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่องค์กรพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ของเยอรมัน พวกเขามองว่าสาเหตุที่ประชากรลดจำนวนลงก็เพราะกิจกรรมของมนุษย์ “ฉันไม่คิดว่ามาตรการล็อคดาวน์เป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่ต้น” Sarah Ross ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์จาก Four Paws Germany ให้สัมภาษณ์ “มีสาเหตุมากมายที่ประชากรนกลดจำนวนลง และฉันคิดว่าการที่นกถูกแมวล่าไม่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ”

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรนก จำนวนแหล่งอาหารลดลงอย่างมาก มีเหตุผลมากมายที่อธิบายว่าทำไมประชากรนกถึงลดจำนวนลง”

Sarah Ross อธิบายว่าการขังแมวไว้ในห้องแบบเด็ดขาดอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของแมวอย่างรุนแรง เนื่องจากพวกมันเคยชินกับการไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน Deutscher Tierschutzbund องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมันก็เห็นพ้องกับความกังวลของเธอ พร้อมทั้งกล่าวหาว่าข้อบังคับของ Walldorf คือการทารุณกรรมสัตว์

“การห้ามแมวที่เคยชินกับการไปเล่นนอกบ้านไม่ให้ออกจากบ้านแบบฉับพลันทันทีคือการจำกัดบริเวณและสร้างความเครียดอย่างรุนแรงให้แก่เจ้าเหมียว เช่นเดียวกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง” แถลงการณ์ขององค์กรระบุ “แมวอาจดูเป็นสัตว์ที่ดุร้าย แต่มันก็มีพฤติกรรมด้านที่ซึมเศร้าเช่นกัน เจ้าเหมียวจะข่วนเฟอร์นิเจอร์ อยู่ไม่สุข ไม่ทำความสะอาด ร้องทั้งวัน และไม่ยอมกินอาหาร”

“จากมุมมองของเรา ประกาศเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่วนการพาไปข้างนอกโดยใส่ปลอกคอก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมนัก” 

การถกเถียงเรื่องการปล่อยแมวอิสระเป็นประเด็นที่ไม่มีบทสรุป

จากการศึกษาเมื่อปี 2013 การปล่อยให้แมวบ้านสามารถท่องเที่ยวได้อย่างอิสระคือสาเหตุของการเสียชีวิตของนก 1.3 ถึง 4 พันล้านตัว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6.3 ถึง 22.3 พันล้านต่อในแต่ละปีในสหรัฐอเมริกา และแมวที่ไร้เจ้าของคือตัวก่อปัญหาหลัก

ตัวเลขล่าสุดโดย Mammal Society ระบุว่าแมวในสหราชอาณาจักรฆ่าสัตว์กว่า 100 ล้านตัวในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน โดยมีนกร่วม 27 ล้านตัว สถาบันวิทยาศาสตร์ชื่อดังในโปแลนด์ได้ทำการจำแนกแมวเลี้ยงเป็น ‘ชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น’ โดยอ้างถึงความเสียหายของแมวต่อทั้งนกและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ

“การอภิปรายเรื่องนี้มีอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานหลายต่อหลายปี จนกระทั่งมีการศึกษาชนิดใหม่ที่เพิ่มเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งฉันยอมรับว่าแมวเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่นในบางพื้นที่ เช่น ออสเตรเลีย” Ross กล่าว 

แมวเดินทางมาถึงออสเตรเลียพร้อมกับผู้ตั้งถิ่นฐานยาวยุโรปในปี 1788 ก่อนจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเกาะซึ่งสัตว์ป่าท้องถิ่นไม่พร้อมรับมือกับนักล่ารายใหม่ สัตว์หลากชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ และปัจจุบันคาดว่าแมวบ้านคร่าชีวิตสัตว์ออสเตรเลียราว 1.8 พันล้านตัวต่อปี

“แต่ฉันก็ไม่มั่นใจว่าเมื่อไหร่ที่เราเลิกมองแมวเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่น” Ross กล่าว “ต้องใช้เวลากี่พันปี สัตว์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นจึงเปลี่ยนจากสัตว์ต่างถิ่นเป็นสัตว์ท้องถิ่น?”

Royal Society for the Protection of Birds หรือ RSPB องค์กรการกุศลเพื่อการอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าแมวคือสาเหตุที่ทำให้ประชากรนกลดลง โดยมองว่าสาเหตุสำคัญยิ่งกว่าคือการรุกรานแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าโดยมนุษย์

“เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การขยายพื้นที่เกษตรเข้มข้นและพื้นที่เมือง ประกอบกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาเกี่ยวกับภูมิอากาศต่างๆ สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อสัตว์ป่าทั้งหมดรวมถึงนก บีบบังคับให้พวกเขาต้องออกจากถิ่นอาศัยดั้งเดิมและมาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง” องค์กรระบุในแถลงการณ์ “แม้เราจะทราบดีว่าแมวฆ่านกจำนวนมากในสวนก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบมากกว่าสาเหตุอื่นๆ”

สำหรับเจ้าของแมวก็สามารถแสดงความรับผิดชอบได้โดยการติดกระดิ่งที่ปลอกคอ สร้างคอกล้อมสำหรับแมว และมั่นใจว่าเจ้าเหมียวถูกล็อคอยู่ในบ้านตอนที่เจ้านกตัวเล็กกำลังหัดบิน ขณะที่ Deutscher Tierschutzbund ระบุว่ามีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งรั้วไฟฟ้าในพื้นที่เปราะบาง หรือรั้วสำหรับป้องกันแมวเพื่อรักษาถิ่นอาศัยและสร้างพื้นที่ผสมพันธุ์แห่งใหม่

แม้ว่ามาตรการล็อคดาวน์แมวของเมือง Walldorf ในปีนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี แต่มาตรการดังกล่าวก็จะยังถูกนำมาบังคับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปีหน้าเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ของเหล่านก

ถอดความและเรียบเรียงจาก As German cat lockdown ends, are felines a dangerous species?

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก