สำเร็จหรือล้มเหลว ? เมื่อจีนเพิ่มจำนวนแพนด้ายักษ์ได้ แต่สัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ กลับลดลง

สำเร็จหรือล้มเหลว ? เมื่อจีนเพิ่มจำนวนแพนด้ายักษ์ได้ แต่สัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ กลับลดลง

จากความพยายามหลายสิบปีในการรักษาเผ่าพันธุ์แพนด้ายักษ์ของประเทศจีน ในที่สุดพวกเขาก็เดินทางมาพบกับความสำเร็จ สามารถปรับสถานะการอนุรักษ์ของสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติให้พ้นจากอาการใกล้การสูญพันธุ์เอาไว้ได้

ทว่า ในทางตรงกันข้าม การอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือดาว และสัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ ที่อาศัยร่วมในระบบนิเวศเดียวกัน กลับพบความล้มเหลวไม่เป็นท่า

เมื่อปี 2016 สถานะของแพนด้ายักษ์ ถูกปรับจาก “ใกล้การสูญพันธุ์” (EN) ขึ้นมาเป็น “เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์” (VU) สิ่งนี้เป็นเรื่องบ่งชี้ว่า ความพยายามในการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ของจีนได้เดินผ่านความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง

แต่เมื่อมองในภาพรวมระบบนิเวศ ที่จำต้องประกอบด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นักวิจัยพบว่า ประชากรของสัตว์ผู้ล่ากลับลดลงอย่างน่าตกใจ

ในการศึกษาหัวข้อ Retreat of large carnivores across the giant panda distribution range โดยความร่วมมือของนักวิจัยของจีนและสหรัฐอเมริกา ระบุว่า จากการสำรวจภาคสนามในพื้นที่คุ้มครองทั้งหมด 73 แห่ง ทั่วประเทศจีน พบว่ามีแพนด้ายักษ์อาศัยอยู่ถึง 66 แห่ง

แพนด้ายักษ์ คือสิ่งมีชีวิตที่ถูกจัดว่าเป็น “Umbrella species” หรือสายพันธุ์ที่ให้ร่มเงา ซึ่งหมายความว่า การดำรงอยู่ของมันได้ช่วยเกื้อกูลต่อชีวิตอื่น ๆ ในป่า 

โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า มาตรการปกป้องแพนด้ายักษ์ จะช่วยปกป้องสัตว์ชนิดอื่น ๆ และระบบนิเวศขนาดใหญ่ก็จะได้รับประโยชน์จากงานตรงนี้ไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ความจริงของเรื่องนั้นถูกเพียงครึ่งเดียว และใช้ได้กับสัตว์ผู้ล่าบางชนิด ตรงกันข้ามกับบรรดาสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัย รวมถึงพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป

จากการศึกษาที่อาศัยฐานข้อมูลย้อนหลัง และการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ พบว่า จำนวนประชากรของเสือดาว เสือดาวหิมะ หมาป่า และหมาใน ในพื้นที่อนุรักษ์ลดลงไปจำนวนมาก

สรุปเป็นตัวเลขได้ว่า เสือดาวหิมะลดลง 38% หมาป่า 77% เสือดาว 81% และหมาในมากถึง 95%
.

.
ในขั้นตอนการศึกษา นักวิจัยได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติไว้ทั้งหมด 7,830 จุด ตามพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด โดยหวังว่าจะสามารถบันทึกภาพสัตว์ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

แต่ผลที่ได้ พบว่ากล้องสามารถถ่ายภาพหมาในได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้น ส่วนหมาป่าถ่ายได้ 11 ครั้ง เสือดาว 45 ครั้ง และเสือดาวหิมะ 309 ครั้ง

ในสถานะที่ถูกคุกคาม เสือดาวหิมะดูจะมีโอกาสรอดมากกว่าสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่น ๆ เนื่องจากถิ่นอาศัยตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง ที่มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์น้อย

ทีมวิจัยกล่าวเตือนว่า ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการพึ่งนโยบายอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดในภูมิภาค

โดยทีมวิจัยได้เรียกร้องให้เร่งดำเนินการปกป้องระบบนิเวศอันเปราะบางนี้ในทันที

เพราะสัตว์ผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศที่พวกมันอาศัย เมื่อประชากรนักล่ามีเสถียรภาพ พวกมันจะรักษาห่วงโซ่อาหารให้สมดุล โดยไม่ทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดใดมีประชากรมากเกินไป แต่หากเมื่อไหร่ที่ประชากรผู้ล่าลดลง มันจะส่งผลต่อขนาดจำนวนและพฤติกรรมของประชากรสัตว์ชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งสุขภาพของสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย

การศึกษาสรุปว่า ตัวเลขสัตว์ผู้ล่าทั้ง 4 ที่ลดลง เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น การตัดไม้ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การลักลอบล่าสัตว์ จำนวนเหยื่อที่ลดลง รวมถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ

สำหรับงานอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ – สัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน – เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา โดยแพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อว่าผสมพันธุ์ได้ยาก แต่ในที่สุดความพยายามในการอนุรักษ์ของจีนก็ได้รับผลตอบแทน จากจำนวนประชากรแพนด้าป่าที่เพิ่มขึ้น

ส่วนสำคัญของความพยายาม เกิดจากการจัดตั้งเขตอนุรักษ์แพนด้าขึ้น จากเดิมที่พวกมันต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยมานาน ดังนั้น จีนจึงสร้างเขตอนุรักษ์ขนาดยักษ์บนเทือกเขาหลายแห่ง ซึ่งมีไม้ไผ่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้สัตว์ปลอดภัย และอยู่ในที่เดียว

ในปี 2017 จีนประกาศแผนเรื่องการสำรองพื้นที่ 27,134 ตารางกิโลเมตร (10,476 ตารางไมล์) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ถึงสามเท่า

และมีเป้าหมายให้เป็น “สวรรค์ของความหลากหลายทางชีวภาพและให้ความคุ้มครองระบบนิเวศทั้งหมด”

แต่จากการศึกษาของคณะวิจัยร่วมระหว่างจีนและอเมริกา ทำให้ทราบว่า แผนการเหล่านั้นมันไม่สำฤทธิ์ผล

สิ่งมีชีวิตอย่างเสือดาวหรือหมาป่า มีความต้องการที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันอย่างมาก พวกมันต้องการพื้นที่ในการเดินเตร่และล่าสัตว์มากกว่าแพนด้าถึง 20 เท่า ขณะเดียวกันยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า

สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์ผู้ล่าอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการล่าที่สูงกว่าแพนด้า – และเป็นเหตุที่แสดงให้เห็นว่าความพยายามอนุรักษ์ที่มุ่งเน้นเฉพาะแพนด้ายักษ์ ไม่อาจตอบสนองความต้องการเฉพาะของสัตว์ชนิดอื่นได้
.

Giant panda (Ailuropoda melanoleuca) feeding in a bamboo forest, Sichuan (Szechwan) province, China.

.
ทีมวิจัยเสนอว่า การอนุรักษ์ควรมองสัตว์ที่เป็นร่มเงามากกว่าหนึ่งชนิด ซึ่งเคยมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนถึงการตั้งเป้าหมายอนุรักษ์สายพันธุ์หนึ่งสายพันธุ์เดียวโดยเฉพาะว่าเป็นการทำงานในวงที่แคบเกินไป และทำให้เราละเลยความสนใจสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

ยกตัวอย่าง ประเทศอินเดียที่ได้สร้างเครือข่ายการปกป้องเสือโคร่งขึ้น โดยชูให้เป็นสัตว์เป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) โครงการดังกล่าวประกาศด้วยว่าเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งหมด แต่ผลลัพธ์กลับทำให้หมาในของอินเดียส่วนใหญ่หายไปจากพื้นที่อนุรักษ์สายพันธุ์เสือ

ทีมวิจัยเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการหลายด้าน เช่น สร้างโมเดลการแก้ไขปัญหาหลากรูปแบบ มีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่แต่ละแห่ง เร่งฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัย การบังคับใช้กฎหมายกับการลักลอบล่าสัตว์ป่าอย่างเข้มงวด จำกัดจำนวนปศุสัตว์ และยกระดับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดการลงมือแก้ไขทันที ก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าจะฟื้นฟูจำนวนประชากรสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารให้สำเร็จได้

ความยั่งยืนของระบบนิเวศ ไม่อาจพึ่งได้จากการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์เพียงชนิดเดียว แต่ต้องรวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ด้วย

 

อ้างอิง
– Jessie Yeung, China saved the giant panda, but conservation efforts ignored other species, says new study

ภาพเปิดเรื่อง
– Giant panda (Ailuropoda melanoleuca) eating bamboo. © Hemera/Thinkstock

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม