สัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจถึงจุดจบในอีก 80 ปีข้างหน้า

สัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจถึงจุดจบในอีก 80 ปีข้างหน้า

เมื่อปีที่ผ่านมา สัตว์ป่าหลายชนิดได้เผชิญพบกับการสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น ฉลามปากเป็ดจีน แรดสุมาตรา เสือโคร่งอินโดจีน (ในบางประเทศ) ขณะที่สัตว์บางชนิดที่เหลือจำนวนประชากรเพียงน้อยนิดต้องอาศัยอยู่ในกรงเลี้ยง หรือหน่วยงานดูแลสัตว์ป่า เช่น อิมาน แรดสุมาตราตัวสุดท้ายของมาเลเซีย ก่อนสิ้นชีวาไปในเดือนพฤศจิกายน 2019

ตามข้อมูลที่สหประชาชาติ (UN) ได้เคยอภิปรายไว้ ทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลกได้ลดลงในอัตราความเร็วอย่างที่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เช่นเดียวกับอัตราการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ ก็กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ประมาณ 1 ล้านชนิด มีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ อธิบายว่า ภายในปี 2100 ประมาณ 50% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลกจะพบกับกาลอวสาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

“ระบบนิเวศ สปีชีส์ จำนวนประชากร สายพันธุ์เฉพาะถิ่น พืชที่เพาะปลูก สัตว์ต่าง ๆ ได้หดตัวลดน้อยลง พวกมันกำลังเสื่อมสภาพและค่อย ๆ หายไป เครือข่ายความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตบนโลกเริ่มเล็กลงเรื่อย ๆ” ศาสตราจารย์ Josef Settele นักชีววิทยา กล่าวในเวทีวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ (IPBES)

“การสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลกระทบทางตรงจากกิจกรรมของมนุษย์ และมันจะนำภัยคุกคามทางตรงคืนกลับมาสู่ความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุก ๆ ภูมิภาค” นักชีววิทยากล่าวเสริม

ภาวะโลกร้อนถือได้ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลง และเมื่อบวกเข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ก็ยิ่งเร่งเร้าให้จำนวนสิ่งมีชีวิตต้องเผชิญหน้ากับขอบเหววิกฤตการสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลจากงานวิจัยที่เพิ่มตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change หัวข้อ ‘Fasting season length sets temporal limits for global polar bear persistence’ อธิบายว่า หมีขั้วโลกจะสูญพันธุ์ไปจากโลกในอีก 80 ปีข้างหน้า หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเป็นไปอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ประชากรของหมีขั้วโลกในบางแห่งได้เดินทางมาถึงขีดจำกัดของการอยู่รอดแล้ว เนื่องจากการละลายของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกทำให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันเหลือน้อยลง

ตามรายงานระบุว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกได้เพิ่มขึ้นราว 13% ในทุก ๆ ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่เราเริ่มเก็บข้อมูลด้วยระบบดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 1970

แต่กระนั้น หมีขั้วโลกหาใช่สายพันธุ์เดียวที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการสูญพันธุ์ ยังมีสัตว์อีกจำนวนมากต้องกับความเสี่ยงนี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่วนใหญ่ล้วนแต่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการสูญพันธุ์ด้วยกันแทบทั้งสิ้น

ซาวลา (วัวหวูกว่าง) หรือบางแห่งอาจรู้จักในสมญา ‘ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่หายากที่สุดในโลก และพบได้เพียงเทือกเขาอันนัมในประเทศเวียดนามและลาว มีรายงานข้อมูลภาพถ่ายใบสุดท้ายของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ว่าถูกจับได้เมื่อ 7 ปีก่อน ในประเทศเวียดนาม

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า สัตว์สายพันธุ์นี้เหลือไม่เกิน 750 ตัว แต่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคิดต่างออกไปว่า ซาวลาอาจเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว

นอกเหนือจากนั้น บรรดาลิงขนาดใหญ่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ถูกจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และยังรวมไปถึง ช้าง สมเสร็จ ตะพาบยักษ์แยงซีเกียง และจระเข้ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ มิใช่เพียงสิ่งมีชีวิตกลุ่มเดียวที่ถูกคุกคาม บรรดาเต่าทะเลนับไม่ถ้วนกำลังถูกกวาดล้างเพื่อนำไปเป็นอาหารและใช้ในยาแผนโบราณ เป็นชะตากรรมแบบเดียวกับนกแก้วมาคอร์ในประเทศบราซิลที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ เพราะถูกล่าไปเป็นอาหาร และจำหน่ายในฐานะสัตว์เลี้ยง (ซึ่งผิดกฎหมาย)

ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางระบบนิเวศสูง แต่ละแห่งต่างมีอัตลักษณ์เฉพาะของตน แต่เหตุที่ต้องมาเผชิญหน้ากับวิกฤตการสูญพันธุ์ เพราะการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาค

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของป่าเขตร้อนเกือบ 15% ที่พบบนโลก อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราการทำลายพื้นที่ป่าของภูมิภาคนี้กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วและน่าตกใจ ตามที่ Valerio Avitabile นักวิทยาศาสตร์ จาก Joint Research Centre (JRC) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และบริการความรู้ของยุโรป ได้อธิบายว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปประมาณ 80 ล้านเฮกตาร์ในปี 2005 และ 2015 ซึ่งเกรงว่าการตัดไม้ทำลายป่าอาจทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หายไปภายในปี 2100

นอกจากนี้ การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายที่ถูกนำไปใช้ในการแพทย์แผนโบราณ การเลี้ยงสัตว์ และเครื่องประดับ ต่างก็เป็นสาเหตุการลดลงของสัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่จริงจังต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นเอกลักษณ์อันไม่สามารถหาจากที่ใดมาทดแทนได้ ความสูญเสียก็จะดำเนินต่อไปจนถึงจุดจบ

 

  • อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction

 

อ้างอิง : Athira Nortajuddin. Southeast Asia’s Vanishing Species
ภาพเปิดเรื่อง : ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม