ประชากรหมีขั้วโลกส่วนใหญ่อาจไม่รอดหลัง พ.ศ. 2643

ประชากรหมีขั้วโลกส่วนใหญ่อาจไม่รอดหลัง พ.ศ. 2643

ไม่กี่ปีมานี้ ภาพหมีขั้วโลกตัวผอมโซเดินหาอาหารอย่างสิ้นหวังได้ทำให้นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารกลายเป็นดาวเด่นบนโปสเตอร์รณรงค์เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การศึกษาชิ้นล่าสุดระบุถึงคำเตือนน่ากังวลว่าหากมนุษย์ล้มเหลวที่จะลดการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ สัตว์ป่าที่แสนจะโดดเด่นชนิดพันธุ์นี้อาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้หลัง พ.ศ. 2643

ในตอนนี้ ประชากรบางกลุ่มได้พ้นระดับที่การรักษาชีวิตรอดเรียกได้ว่ายากลำบาก หรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ การศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ดี ยังมีแสงแห่งความหวังเล็ก ๆ ว่าเหล่าหมีขั้วโลกอาจยังมีโอกาสรอด

ถึงแม้จำนวนประชากรหมีขั้วโลกจะมีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างมากในบางภูมิภาค แต่หากเราสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายในทศวรรษข้างหน้าได้ในระดับหนึ่ง หมีขั้วโลกกลุ่มเล็ก ๆ ก็อาจยังมีชีวิตรอดอยู่บางพื้นที่ของอาร์กติก แต่หากน้ำแข็งที่อาร์กติกละลายลง อนาคตของหมีขาวเหล่านั้นก็คงมลายหายไปเช่นกัน

หมีขั้วโลกคือสัตว์นักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนพื้นโลก แต่ชะตากรรมของมันผูกโยงอย่างแนบแน่นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก Péter K. Molnár ผู้ช่ายศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยเล่าว่า พวกมันพึ่งพาแผ่นน้ำแข็งสำหรับการล่าเหยื่ออันโอชะอย่างแมวน้ำ เนื่องจากหมีขาวไม่ได้มีทักษะการว่ายน้ำที่เพียงพอต่อการล่าในน้ำ 

ช่วงเวลาในชีวิตของหมีขาวสลับสับเปลี่ยนกันไประหว่างช่วงที่หิวโหยและช่วงที่อิมหนำ ในช่วงฤดูหนาวที่แผ่นน้ำแข็งกว้างใหญ่ พวกมันต้องเติมพลังงานโดยการล่าแมวน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสะสมพลังงานไว้ใช้ในช่วงฤดูร้อนเมื่อน้ำแข็งละลายและพวกมันต้องกลับเข้าไปอาศัยในแผ่นดิน

เนื่องจากปริมาณน้ำแข็งที่ละลายลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณประชากรหมีขาวในอาร์กติกถูกบังคับให้อดอยากโดยไม่มีอาหารอย่างยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ 

“ในท้ายที่สุดแล้ว หมีขาวจำเป็นต้องกินอาหาร และการที่จะต้องมีอาหารหมีเหล่านั้นก็ต้องอาศัยน้ำแข็ง” Péter K. Molnár ให้สัมภาษณ์ “เพื่อที่จะให้น้ำแข็งสามารถคงรูปร่างได้ เราก็ต้องควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

สิ่งที่นักวิจัยต้องขบคิดคือโจทย์ว่าหมีขาวในแต่ลภูมิภาคสามารถอดอาหารได้นานเพียงใดก่อนที่ระบบการสืบพันธุ์และการอยู่รอดของหมีวัยเจริญพันธุ์จะเริ่มด้อยลง

การศึกษาพบว่าระยะเวลายาวนานที่สุดที่หมีจะสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารนั้น แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาครวมถึงสภาพเบื้องต้นของหมีเหล่านั้น ในขณะที่ลูกหมีจะเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการอดอาหารเป็นระยะเวลานาน กลุ่มที่เปราะบางรองลงมาคือแม่หมีที่มีลูกอ่อน ต่อด้วยหมีเพศผู้ ส่วนประชากรกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด โดยสามารถอดอาหารได้ยาวนานถึง 255 วันก่อนที่โอกาสรอดชีวิตจะลดลงอย่างรวดเร็ว

 

ต่อมา นักวิจัยจึงทำการศึกษาการคาดการณ์ปริมาณน้ำแข็งอาร์กภายใต้สองฉากทัศน์ที่แตกต่างกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อพิจารณาว่าหมีขั้วโลกจะถูกบังคับให้อดอาหารนานเพียงใดในอนาคต 

ประเด็นที่น่ากังวลคือ ปริมาณน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกปรับตัวลดลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ช่วงเวลา 13 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2550 ถึง 2562 นับเป็นช่วงเวลาที่น้ำแข็งในฤดูร้อนมีปริมาณน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์หากเทียบกับข้อมูลซึ่งเก็บย้อนหลับไปถึง พ.ศ. 2522 อ้างอิงจาก Walt Meier นักวิทยาศาสตร์อาวุโสประจำ National Snow and Ice Data Center

นับตั้งแต่ราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1990 อาร์กติดต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่อบอุ่นเพิ่มในระดับที่เทียบเท่ากับ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ลมความร้อนสูงคือตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำแข็งในทะเลลดน้อยลงซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์

หากมองไปในอนาคต การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าทวีปอาร์กติกอาจไม่หลงเหลือน้ำแข็งอีกเลยในช่วงฤดูร้อนในราว 20 ถึง 30 ปีข้างหน้า “เราไม่สงสัยแล้วว่าฤดูร้อนของอาร์กติกมีโอกาสที่จะไม่มีน้ำแข็งหรือไม่ แต่คำถามตอนนี้คือเมื่อไหร่ที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะมาถึง” Walt Meier กล่าว “แต่มันก็ยังมีโอกาสหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันท่วงที”

หากผสมผสานงานวิจัยทั้งสองชิ้นเพื่อคาดการณ์ว่าหมีขั้วโลกจะต้องอดอาหารนานเพียงใดโดยอิงจากฉากทัศน์ที่ทำนายปริมาณน้ำแข็งในอนาคต นักวิจัยจึงสามารถสรุปได้ว่าสัตว์ที่แสนสง่างามที่อยู่อาศัยกระจายใน 13 ภูมิภาคจะประสบปัญหาอย่างยิ่งในอนาคต

ประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่อาศัยในอ่าวฮัดสัน ประเทศแคนาดา อาจเผชิญกับความอดอยากที่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และอัตราการมีชีวิตรอด อนาคตของหมีขั้วโลกเหล่านี้อาจเลวร้ายลงกว่าเดิมหากเรายังไม่หาวิธีจัดการสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพใต้ฉากทัศน์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ ‘ดำเนินธุรกิจตามปกติ’ โดยมนุษย์ล้มเหลวที่จะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก จะทำให้หมีขั้วโลกเกือบทั้งหมดในอาร์กติกอาจไม่มีชีวิตรอดหลัง พ.ศ. 2643 เว้นแต่เพียงบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะ Queen Elizabeth อันห่างไกลในประเทศแคนาดา แต่หากเราพยายามขึ้นในระดับกลางๆ โอกาสที่ประชากรหมีขั้วโลกในภูมิภาคอื่นๆ จะมีชีวิตรอดก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาก

ผู้เขียนระบุว่าหัวใจสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ชะตากรรมของหมีขั้วโลกอยู่ในมือของเราทุกคน “ผมทราบดีว่าเรื่องที่ผมบอกเล่าเป็นสิ่งที่น่าหดหู่ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังมีองค์ประกอบของความหวังหากเราเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในตอนนี้” Péter K. Molnár กล่าวสรุป

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Most polar bears could struggle to survive in the Arctic by 2100, study finds
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง edition.cnn.com