มาตรการล็อคดาวน์ทำให้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดฮวบ

มาตรการล็อคดาวน์ทำให้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดฮวบ

การวิจัยชิ้นล่าสุดสรุปผลว่า การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19 โดยระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อวันลดลงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ในช่วงต้นเดือนเมษายน หากเทียบกับปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

ข้อค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลงครั้งประวัติศาสตร์ สาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจเกือบทั้งระบบต้องหยุดนิ่ง โดยเฉพาะในประเทศที่มาตรการล็อคดาวน์เข้มงวดซึ่งระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อาจลดลงโดยเฉลี่ยวูงถึง 26 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสหราชอาณาจักร พบว่าระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนออสเตรเลียลดลง 28.3 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

 

“นี่ถือเป็นการลดระดับครั้งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลือถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันว่าการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายหากหวังพึ่งพาเพียงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” Corinne Le Quéré ศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก University of East Anglia และผู้นำคณะวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change กล่าว “มันไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เราควรยินดี เพราะนี่ไม่ใช่วิธีที่เราจะรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงเมื่อไม่นานมานี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เมื่อทุกประเทศกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติ คาดว่าระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเฉลี่ยราว 7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้หากมาตรการจำกัดการระบาดบางอย่างยังบังคับใช้อยู่ อย่างไรก็ดี หากมาตรการทั้งหมดถูกผ่อนคลายลงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปีนี้จะลดลงเพียง 4 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นตัวเลขดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสัดส่วนการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลซึ่งเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีกทั้งยังเป็นขั้วตรงข้ามของแนวโน้มในอดีตที่ผ่านมาซึ่งการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละราว 1 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี Corinne Le Quéré มองว่าตัวเลขดังกล่าว “แทบไม่ส่งผลอะไรในการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส”

หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องหักกลบลบกันเหลือศูนย์ในกลางคริสตศตวรรษนี้หรือเร็วกว่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สภาวะโลกร้อนยกระดับที่จะทำให้เกิดหายนะ อ้างอิงจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel of Climate Change: IPCC) การลดลงของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เนื่องจากโควิด-19 เป็นสิ่งยืนยันว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประสบการณ์จากวิกฤติครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นการไม่ใช้บริการสายการบิน ทำงานที่บ้าน และขับรถน้อยลง สามารถช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดก็ยังพบการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หลงเหลืออีกจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่จึงต้องเกิดจากการเปลี่ยนวิธีที่มนุษย์ผลิตและใช้พลังงาน

“การเปลี่ยนแปลงเพียงพฤติกรรมนั้นไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม หากเราใช้โอกาสนี้เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราจะพบว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้จริง” เธอกล่าวเสริม

การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือราว 60 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากสายการบินระหว่างประเทศถูกยกเลิก การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการคมนาคมภาคพื้นดินลดลงน้อยกว่า หรือราว 36 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมคิดเป็น 86 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนที่ลดลงทั้งหมด

ถึงแม้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงไม่น้อย แต่แทบไม่ส่งผลใดๆ เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศนั้นสูงถึง 414.8 ส่วนต่อล้านส่วน (PPM) เมื่อปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 450 ส่วนต่อล้านส่วนในปีนี้ แต่อาจด้วยความเร็วที่ช้าลงจากวิกฤติโควิด-19

“คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่บนชั้นบรรยากาศอย่างยาวนาน ถึงแม้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงอย่างมาก แต่มันก็ยังเป็นการเติมคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยาอากาศอยู่ดี แต่เพียงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง” Richard Betts ผู้อำนวยการด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำ Met Office Hadley Centre กล่าว “หากเราต้องการลดความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศ อัตรการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องเป็นศูนย์ เหมือนกับเราเติมน้ำในอ่าง ถึงเราจะปรับก๊อกให้น้ำไหลช้าลง แต่น้ำในอ่างก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี”

Mark Maslin อาจารย์ด้านภูมิอากาศจาก University College London ตั้งข้อสังเกตว่าแม้การล็อคดาวน์จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลงอย่างมาก แต่ในฝั่งของการผลิตก็ยังเดินเครื่องตามปกติ “บทเรียนที่สำคัญที่สุดจากการระบาดครั้งนี้ คือเราต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตพลังงานทั่วโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่ทางเลือกอื่นให้เร็วที่สุด หากเรายังต้องการบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปี ข่าวดีก็ดี ความพยายามนี้จะช่วยรักษาอากาศสะอาดและท้องฟ้าใสที่เราได้เห็นในช่วงล็อคดาวน์”

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตพลังงาน การผลิตภาคอุตสากรรม และค่าแทนอื่นๆ เพื่อประมาณการณ์การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลจาก 6 ภาคส่วนคือพลังงาน การคมนาคม อุตสาหกรรม อาคารสาธารณะและอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย และการบิน โดยประมาณการจาก 69 ประเทศ 50 รัฐในสหรัฐอเมริกา และ 30 จังหวัดในจีนซึ่งคิดเป็นการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 97 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก

อย่างไรก็ดี ถึงแม้การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศจะมีการวัดอย่างเป็นประจำ แต่ตัวเลขดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างมากต่อความผันผวนทางธรรมชาติจึงไม่ควรใช้ค่าใดค่าหนึ่งมาวิเคราะห์เพื่อตีความว่าเกิดอะไรขึ้นกับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Lockdowns trigger dramatic fall in global carbon emissions
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์