การตอบสนองต่อ COVID-19 พิสูจน์ให้เห็นว่าแท้จริงเราสามารถหยุดโลกร้อนได้…แต่ไม่ทำ

การตอบสนองต่อ COVID-19 พิสูจน์ให้เห็นว่าแท้จริงเราสามารถหยุดโลกร้อนได้…แต่ไม่ทำ

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาตรการเข้มงวดเพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามาตรการเหล่านี้เพียงพอที่จะจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต หรือว่ามันอาจจะมากไปจนทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหาย แต่สิ่งที่ชัดเจนอย่างมากคือการตอบสนองอย่างจริงจังต่อการระบาดของโรค COVID-19 ตรงกันข้ามกับการตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างภัยคุกคามทั้งสอง

ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการเตือนภัยล่วงหน้าตั้งแต่ปัญหาเกิดใหม่ ๆ ของทั้ง COVID-19 และโลกร้อน ทำให้เรามีเวลาพอที่จะจัดการมันอย่างจริงจัง แต่เราได้จริงจังกับมันตั้งแต่แรกหรือเปล่า ในปัจจุบันผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มี 33,965 ราย (ข้อมูลวันที่ 30 มี.ค.63) แต่จากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ได้คาดการณ์ถึงตัวเลขในอนาคตที่น่ากลัวกว่านั้นมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เตือนให้รัฐบาลของแต่ละประเทศควบคุมสถานการณ์อย่างจริงจัง เช่นเดียวกันแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของสถานการณ์โลกร้อน ก็ได้คำนวณถึงยอดผู้เสียชีวิตถ้าเราไม่แก้ปัญหาโลกร้อนเลยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากโลกร้อนถึงปีละ 250,000 ราย

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และนักจิตวิทยาด้านการตัดสินใจ ได้นั่งคุยกันว่าทำไมการตอบสนองต่อปัญหาใหญ่ทั้งสองอันนี้ถึงได้แตกต่างกันขนาดนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่พอ ๆ กัน จึงได้ข้อสรุปมาอยู่ 4 ข้อ คือ

1. ผลกระทบทางตรง และทางอ้อม

อย่างแรกคือ COVID-19 นั้นมีอันตรายถึงชีวิตโดยตรง ซึ่งส่งผลต่อความกลัวของมนุษย์ง่ายเพราะผลกระทบทางตรงนั้นสัมผัสได้ชัดเจน ถึงแม้ว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบน้อยมากกับคนที่สุขภาพแข็งแรง และมีอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่แค่สถิติผู้ติดเชื้อ และสถิติผู้เสียชีวิตก็เพียงพอแล้วกับการทำให้ผู้คนทุกวัยตกอยู่ในความกลัวอย่างรุนแรง

ถึงแม้ว่าในระยะยาวแล้วปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะคร่าชีวิตคนไปได้มากกว่าปัญหา COVID-19 แต่ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในทางอ้อม ผู้คนจึงไม่ได้เกรงกลัวกันมากเท่ากับปัญหา COVID-19 เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน แต่โลกร้อนขึ้นไม่ได้คร่าชีวิตผู้คน แต่มันทำให้ความถี่ และความรุนแรงของภัยธรรมชาตินั้นมีเพิ่มขึ้น แล้วปัญหาจากภัยธรรมชาติก็กลับมาคร่าชีวิตคนอีกที

อีกเรื่องคือระยะเวลาที่จะส่งผลกระทบนั้นของปัญหาโลกร้อนนั้นช้ามาก ปัญหาเกิดขึ้นแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป จึงทำให้ผู้คนเชื่อว่าเดี๋ยวเราก็ค่อย ๆ ปรับตัวอยู่กับมันไปได้เองแหละ ไม่ต้องแก้หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่หรอก นั่นเลยกลายเป็นจุดแตกต่างอีกอย่างที่ทำให้ผู้คนจำยอมที่จะแก้ปัญหา COVID-19 มากกว่าเพราะผลกระทบนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว

2. กระแสสังคมทำให้การรับรู้ต่อสองเหตุการณ์นั้นต่างกัน

COVID-19 เป็นภัยคุกคามใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในชีวิตเรา และปั่นให้คนหันมาสนใจกันจนเป็น “กระแส” ได้อย่างดี ในขณะที่ปัญหาโลกร้อนมีมานานมากแล้ว ทั้งเก่า และน่าเบื่อ

ส่วนผลของการไม่ทำตามกระแส COVID-19 นั้นก็รุนแรง ผลกระทบของ COVID-19 เกิดขึ้นในช่วงเวลาของคนรุ่นนี้ และมีผลต่อคนในรุ่นนี้ ต่างจากเรื่องโลกร้อนซึ่งเหตุเกิดจากคนรุ่นนี้ กว่าผลกระทบจะมาถึงก็เป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไปแล้ว อีกทั้งปัญหาโลกร้อนยังได้รับการปลุกปั่นจากธุรกิจต่าง ๆ ที่สามารถทำกำไรจากการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ที่น่าเหลือเชื่อคือธุรกิจเหล่านี้เก่งมากในการโต้แย้งกับหลักการทางวิทยาศาสตร์

หลาย ๆ คนยอมทำตามที่นักวิชาการบอกให้ทำในเรื่อง COVID-19 เพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะพิสูจน์ความจริง แม้แต่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศก็ยอมที่จะทุ่มสุดตัวเพื่อปกป้องประชาชนโดยไม่รีรอ

ผู้คนออกมาเดินเล่นแบบห่าง ๆ กันจากมาตรการแยกกันอยู่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

3. ความชัดเจนในวิธีการ

ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น องค์การอนามัยโลกได้เสนอแนวทางที่ง่าย และสามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อชะลอการแพร่กระจายของ COVID-19 รัฐบาลของแต่ละประเทศได้รับขอเสนอแนะวิธีในการป้องกันเหล่านี้ ซึ่งง่ายต่อการสื่อสาร และการสั่งการกับคนในประเทศ เช่น ให้ล้างมือมากขึ้น การหลีกเลี่ยงการสัมผัส การลดการเดินทาง และการกักตัว

ตรงกันข้ามกับวิธีการแก้ปัญหาที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก และวิธีส่วนใหญ่ที่ใช้แก้ปัญหานี้ ส่งผลกระทบอย่างมากเกือบทุกด้านของการดำเนินชีวิต

แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเองก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เพราะมันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ การขาดความชัดเจนนี้เองทำให้เกิดความสับสนในการตัดสินใจ และความล่าช้าในส่วนของผู้กำหนดนโยบาย

4. ความสามารถของประเทศต่าง ๆ ที่จะแก้ปัญหาโดยลำพัง

ในขณะที่วิธีการจัดการปัญหา COVID-19 ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศเพียงแค่ไม่กี่ด้าน เช่น แนวทาง และความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการเดินทางข้ามประเทศ นอกเหนือจากนั้นแต่ละประเทศสามารถดำเนินการได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะชะลอการแพร่กระจายของ COVID-19

ในทางกลับกันการจะควบคุมสภาพภูมิอากาศโลกนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศบนโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าให้ประเทศใดประเทศหนึ่งลดหรือแม้แต่เลิกปล่อยไปเลยจะไม่ได้ผล ปัญหาความร่วมมือนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นอุปสรรคที่ยากที่สุดในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเลยก็ได้

นักดับเพลิงในออสเตรเลียกำลังพยายามที่จะดับไฟในเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ช่วงปลายปี ค.ศ.2019

ถึงแม้ว่าการตอบโต้ระหว่างประเทศต่าง ๆ ต่อปัญหา COVID-19 จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ได้ให้ความหวังเล็ก ๆ ว่าเราจะสามารถช่วยกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงได้ หากเราเอาชนะอุปสรรคทางความคิดที่ทำให้คนส่วนมากบนโลกยอมที่จะทำตามแนวทางแก้ไข

ณ จุดนี้การจัดทำนโยบายในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดูเหมือนจะมีความจำเป็นน้อยกว่ามาตรการเพื่อจัดการกับปัญหา COVID-19

เมื่อสิ้นสุดสถานการณ์ COVID-19 แล้ว พวกเราทุกคนควรจะมองย้อนกลับไปในช่วงเวลานี้เพื่อกลั่นกรองบทเรียน และพิสูจน์ว่าพวกเราผ่านมาไม่ใช่เพราะว่าโชคช่วย แต่เป็นเพราะความสามารถของทุก ๆ คน และจงนำความสามารถนั้นไปใช้ในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ต่อไป

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Coronavirus response proves the world can act on climate change
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร