กรุงเทพฯ ที่ดีกว่า ควรเริ่มจากการมีผู้ว่าที่ดีก่อน ส่องนโยบายขนส่งมวลชนและพื้นที่สีเขียว ชิงผู้ว่าฯ กทม. 2565

กรุงเทพฯ ที่ดีกว่า ควรเริ่มจากการมีผู้ว่าที่ดีก่อน ส่องนโยบายขนส่งมวลชนและพื้นที่สีเขียว ชิงผู้ว่าฯ กทม. 2565

กรุงเทพฯ ที่ดีกว่า ควรเริ่มจากการมีผู้ว่าที่ดีก่อน ส่อง “นโยบาย” ขนส่งมวลชนและพื้นที่สีเขียว ชิงผู้ว่าฯ กทม. 2565

วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อยากออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน แต่พอออกไปก็เจอแต่ห้างหรู ตึกสูง กว่าจะไปถึงสวนสาธารณะก็หมดเวลาไปครึ่งวันแล้ว เพราะสวนสาธารณะใกล้บ้านไม่มีอยู่จริง

อยากนั่งรถขนส่งสาธารณะไปทำงาน จะได้ไม่ต้องทนรถติด แต่กลับพบว่า คุณหนีรถติดในเมืองนี้ไม่ได้หรอก ไหนจะค่าเดินทางที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ แถมยังต้องเปลี่ยนรถหลายต่ออีก จึงทำให้เวลาในการเดินทางของคุณเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

อยากมีทางเท้ากว้าง ๆ มีร่มไม้ตลอดทาง สามารถเดินได้สบาย ๆ แต่ความจริงคือ เดินไปได้สักพัก เจอหลุมน้ำขังกระเด็นเลอะรองเท้าเต็มไปหมด 

คุณเคยคิดมั้ยว่า “กรุงเทพฯ มันดีกว่านี้ได้” ถ้าเรามีผู้ว่าที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นปัญหา และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนทุกคนในกรุงเทพฯ มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ผู้เขียนเป็นคนต่างจังหวัดคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ ไม่มีสิทธิ์มีเสียงต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หวังไว้ลึก ๆ ว่า อยากให้คนกรุงเทพฯ เลือกคนที่จะเป็นผู้ว่ากทม. เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่ประเภทที่ไล่ให้ไปอยู่บนดอยเวลาที่กรุงเทพฯ เจอวิกฤติน้ำท่วม 

อย่างน้อย ๆ ในช่วงชีวิตหนึ่งของการทำงาน จะได้พบเห็นกรุงเทพฯ ในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า

นโยบายขนส่งมวลชน

การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่ควรเหนื่อยขนาดนี้

คุณจะนั่งรถขนส่งสาธารณะมั้ย หากคุณทราบดีว่า การนั่งรถยนต์ส่วนตัวประหยัดเวลาและเงินในกระเป๋าของคุณมากกว่า

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยและสิงคโปร์แล้ว ต่างกันเกือบ 10 เท่า โดยพบว่าประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 18,587 บาท/เดือน สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวที่ 164,194 บาท/เดือน ขณะที่ฮ่องกงมีรายได้ต่อหัว 120,640 /เดือน 

ขณะที่ค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง รวมถึงส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท 

ในระยะทาง 15 กิโลเมตร จากที่บ้านไปยังที่ทำงาน คุณอาจต้องจ่ายค่าเดินทางมากถึง 2,200 บาทต่อเดือน (22 วันทำงาน) ในขณะที่การนั่งรถยนต์ส่วนตัวอาจเสียค่าน้ำมันเพียงเดือนละ 1,760 บาทต่อเดือน (22 วันทำงาน)

สวนสาธารณะ

สวนสาธารณะ ตัวเลือกวันหยุดพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ แต่ไม่ค่อยมีให้เลือก

ข้อมูลสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมพบว่า 10 อันดับสวนสาธารณะที่มีพื้นที่มากที่สุด ได้แก่ สวนหลวง ร.9 มีพื้นที่ 500 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) มีพื้นที่ 375 ไร่ สวนลุมพินี มีพื้นที่ 360 ไร่ สวนเสรีไทยมีพื้นที่ 350 ไร่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพื้นที่ 196 ไร่ สวนจตุจักร มีพื้นที่ 155 ไร่ สวนเบญจกิติ มีพื้นที่ 130 ไร่ สวนวารีภิรมย์ มีพื้นที่ 122 ไร่ สวนนวมินทร์ภิรมย์ มีพื้นที่ 76 ไร่ และสวนธนบุรีรมย์ มีพื้นที่ 63 ไร่

ประชากรในกรุงเทพฯ จากสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง อยู่ที่ 5.6 แสนคน ส่วนพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 6.23 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่ ๆ ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตร/คน 

ป่าในเมืองโดยเฉพาะสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว มีส่วนช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ในวันหยุดพักผ่อนหากไม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด หลายคนก็เลือกที่จะไปสวนสาธารณะ แต่ความเป็นจริงกลับพบว่า สวนสาธารณะใกล้บ้านของคนกรุงเทพฯ มีน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร หรือแม้แต่คอนโดใหญ่ ๆ ก็มีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอต่อประชากรที่อาศัยอยู่เช่นเดียวกัน 

ศัตรูของการ พัฒนาเมือง ไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่คือการตัดสัมพันธ์ของคน ต้นไม้ และป่า

สวนสาธารณะ

ส่องนโยบายขนส่งมวลชนและพื้นที่สีเขียว ผู้ชิงเก้าอี้ผู้ว่ากทม. 2565

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้มีการหาเสียงว่าจะเดินหน้าลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว ส่งเสริมการขึ้นรถเมล์ด้วย ตั๋วคนเมือง ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้เป็นค่าโดยสารได้ 100 บาท ทำ “ตั๋วร่วม” บัตรใบเดียว ขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสายและเชื่อมต่อกับรถเมล์-เรือโดยสารได้ และลดค่าโดยสารให้เหลือ 15-45 บาทต่อเที่ยว 

ในขณะที่นโยบายพื้นที่สีเขียว วิโรจน์ประกาศเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ ใช้กลไกภาษีที่ดินเปลี่ยนที่ปลูกกล้วยเป็นสวนสาธารณะ และทวงคืนสนามหลวงกลับมาเป็นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้มีการหาเสียงว่าจะมีการแก้รถติดด้วย AI ขอคืนผิวทางจราจรทำทางเท้ามาตรฐานสากล และจะสร้างทางจักรยานลอยฟ้า และไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นว่า อัตรารถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสายในอัตรา 20 – 25 บาท 

ในขณะที่นโยบายพื้นที่สีเขียว สุชัชวีร์เสนอเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม และจะลดภาษีให้เจ้าของที่ดินเอกชนนำมาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ

รสนา โตสิตระกูล ได้มีการหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส และควรโอนรถไฟฟ้าไปให้ รฟม.ดูแลเพื่อให้รัฐเป็นหน่วยงานกลาง และสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้ และมีระบบตั๋วใบเดียว ราคาไม่ควรเกิน 44 บาท สามารถเดินทางทั่วกรุงเทพ

ในขณะที่นโยบายพื้นที่สีเขียวรสนายังไม่มีนโยบายที่แน่ชัด แต่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น นโยบายทำโซลาร์ รูฟ (Solar Roof) บนหลังคา เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้มีการหาเสียงว่าจะมีการหารือร่วมกับ รฟม. เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดค่าแรกเข้า และลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลง ทำให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโปร่งใส ถูกต้อง และหาทางลดค่าโดยสารให้ได้มากที่สุด ค่ารถเมล์ กทม. 10 บาท ตลอดสาย เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุฟรี

ในขณะที่นโยบายพื้นที่สีเขียว ชัชชาติเสนอเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลานกีฬาให้ชาว กทม.สามารถเดินเท้าถึงภายใน 15 นาที ปลูกต้นไม้ล้านต้นภายใน 4 ปีพร้อมกับจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต เสริมร่มเงาเพิ่มพื้นที่สีเขียว

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงสมัครชิงเก้าอี้อีกครั้งเพื่อต้องการให้กรุงเทพฯ ไปต่อ มีนโยบายขยายสัมปทานสายสีเขียวให้กับเอกชน โดยยกร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บีทีเอสซีในฐานะผู้รับสัมปทานแต่ปัจุบันเรื่องยังยืดเยื้อ และจะผลักดันให้เกิดระบบตั๋วใบเดียว เพราะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งพยายามผลักดันยังเกิดขึ้นไม่ได้เพราะมีเจ้าภาพหลายคน 

ในขณะที่นโยบายพื้นที่สีเขียว อัศวินเสนอเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา เพื่อลดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลในเขตเมืองหลวง ทำให้ได้พื้นที่กลับคืนมาแล้ว 240 ไร่

ในอนาคตอันใกล้นี้เราหวังว่าคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ จะดีขึ้นกว่าเดิม
“เพราะเมืองที่ดี คือเมืองที่เหมาะสำหรับทุกคน”

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


อ้างอิง เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม: ส่องนโยบายเด่นด้านการจราจรและขนส่งสาธารณะ, timeout.com
เปิดนโยบาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ความท้าทายผู้ว่ากรุงเทพฯคนใหม่, กรุงเทพธุรกิจ
ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.+นโยบาย / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน, มติชน สุดสัปดาห์

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง