เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย บนเวที COP26

เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย บนเวที COP26

การประชุม COP26 หรือการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

.
โดยในช่วงวันแรกจะเป็นวาระที่ผู้นำแต่ละประเทศมาร่วมถกและแถลงวิสัยทัศน์ว่า ประเทศของตนมีทิศทางอย่างไรในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นกล่าววิสัยทัศน์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ดังนี้

ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส

คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (เป้าหมายแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ – Nationally Appropriate Mitigation Actions) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่ง NDC (แผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น – Nationally Determined Contributions) ฉบับปรับปรุงปี 2020 และจัดทำแผนงานต่างๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุด ไทยได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC (ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) โดยไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้

วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมย์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050

ขณะนี้ประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และไทยจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุม APAC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า

สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว และโลกกำลังบอกเราว่าการประทุษร้ายธรรมชาติต้องยุติเพียงเท่านี้ เพื่อการดำรงไว้ซึ่งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศที่ทุกคนต้องหายใจร่วมกัน ดังนั้น มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิดและมีความอดทนอย่างสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา

ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี “แผนสอง” ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี “โลกที่สอง” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว