7 วาระเร่งด่วนของการแก้ไข ‘วิกฤตโลกร้อน’ ที่ต้องเกิดขึ้นในปี 2565

7 วาระเร่งด่วนของการแก้ไข ‘วิกฤตโลกร้อน’ ที่ต้องเกิดขึ้นในปี 2565

7 วาระเร่งด่วนของการแก้ไข ‘วิกฤตโลกร้อน’ ที่ต้องเกิดขึ้นในปี 2565 คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนการเงินภูมิอากาศ ตั้งเงินทุนสำหรับความสูญเสียและความเสียหาย ยุติการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดอนุมัติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่ หยุดก๊าซมีเทน และลงทุนในการอนุรักษ์และฟื้นฟู

.
นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมีความหวังอย่างมากว่าในปี 2564 จะสามารถจินตนาการถึงหนึ่งปีแห่งความก้าวหน้า โดยในที่สุดประเทศต่างๆ ก็ปรับนโยบายของตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพอากาศในปารีส และปรับปรุงทิศทางของโลกให้เหมาะสำหรับสัตว์ป่าทุกชนิด

ทว่าในขณะที่ประเทศต่างๆ ได้ก่อตั้งแนวร่วมและให้คำมั่นสัญญา แต่ส่วนใหญ่กลับล้มเหลวในการตอบสนองต่อความท้าทายของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศขั้นพื้นฐานที่สุด เช่น การจัดหาเงินทุนด้านสภาพอากาศที่เพียงพอสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ

ในขณะเดียวกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงได้สร้างอันตรายกับชุมชนทั่วโลก มิหนำซ้ำการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ดีดตัวขึ้นในระดับสูงเท่าก่อนการแพร่ระบาด ด้วยอัตรานี้ โลกกำลังอยู่ในภาวะร้อนเกินเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงด้านสภาพอากาศในปารีส และจะเกิดวงจรย้อนกลับที่เป็นอันตราย เช่น การละลายของดินเยือกแข็ง ระบบนิเวศป่าไม้ที่พังทลาย นำไปสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อมภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

ไม่มีเวลาให้เสียเปล่าสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่มีความหมาย ทุกวันคือโอกาสในการลงทุนและสร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะที่เรามองไปข้างหน้าในปี 2565 มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมมากมายที่เราหวังว่าประเทศ บริษัท และบุคคลต่างๆ จะก้าวหน้า นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น
.

1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นง่ายมาก ประเทศต่างๆ เพียงแค่ต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจทุกประเภท ประเทศต่างๆ จึงล้มเหลวในการยอมรับฉันทามติทางวิทยาศาสตร์

หลายร้อยประเทศให้คำมั่นว่าจะบรรลุ “การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์” ภายในกลางศตวรรษ แต่ตามรายงานของ Climate Action Tracker แผนส่วนใหญ่ของพวกเขาในรูปแบบปัจจุบันยังทำให้โลกร้อนขึ้นกว่า 2.7 องศาภายในสิ้นศตวรรษ

ภายใต้ข้อตกลงด้านสภาพอากาศของกรุงปารีส ประเทศต่างๆ จะจัดทำเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDCs) ในปี 2565 ประเทศต่างๆ จะต้องปรับปรุง NDCs ของตน เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจอย่างไรให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส

การปรับปรุงครั้งใหญ่ที่สุดต้องมาจากประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย บราซิล และจีน
.

2. ขับเคลื่อนการเงินภูมิอากาศ

วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นความอยุติธรรมทั่วโลก ประเทศที่มีส่วนรับผิดชอบน้อยที่สุดต่อการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด เนื่องจากความไม่สมดุลนี้ ประเทศที่มีรายได้สูงจึงให้คำมั่นสัญญาในปี 2552 ว่าจะให้เงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ แก่การเงินด้านสภาพภูมิอากาศประจำปีภายในปี 2563 เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จนถึงตอนนี้ ประเทศต่างๆ ล้มเหลวในการตระหนักถึงความมุ่งมั่นนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ต้นทุนที่แท้จริงของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศที่มีรายได้สูงต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาทางการเงินด้านสภาพอากาศดั้งเดิม และจากนั้นต้องดำเนินการให้เหนือกว่า เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนเศรษฐกิจของตนได้อย่างเพียงพอ เงินทุนนี้ควรมาในรูปของทุนสนับสนุนมากกว่าเงินกู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำต้องแบกรับภาระหนี้สินเพิ่มเติม
.

ในแอฟริกาตะวันตกออกทั้งที่มาดากัสการ์ และเคนยา ผู้คนทางตอนเหนือของประเทศไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ เพราะสภาพอากาศแห้งแล้ง ไร้ฝน l Photo AP Photo/Laetitia Bezain

.

3. ตั้งเงินทุนสำหรับความสูญเสียและความเสียหาย

ค่าใช้จ่ายในการฟื้นตัวจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มสูงขึ้น เมื่อไฟป่ากับพายุรุนแรงขึ้น และความแห้งแล้งเลวร้ายลง ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องระดมเงินทุนสำหรับสิ่งที่เรียกว่า ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เงินทุนเหล่านี้จำเป็นต้องกระจายไปทั่วโลกตามความจำเป็น เพื่ออธิบายความอยุติธรรมในอดีตของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งที่มีอยู่ระหว่างประเทศ

เช่นเดียวกับการปรับตัวของสภาพอากาศ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องสร้างกลไกในปี 2565 สำหรับความสูญเสียและความเสียหายที่อนุญาตให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูจากเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ระหว่างการประชุม COP26 ของกลาสโกว์ ประเด็นความสูญเสียและความเสียหายถูกเสนอโดยประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก และในปีต่อๆ ไปจะเห็นได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกนี้จะกลายเป็นความจริง
.

4. ยุติการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

กองทุนการเงินระหว่างประเทศพบว่าการยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล จะส่งผลอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทันที อันที่จริง การกำหนดราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแม่นยำโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตและผลกระทบทางสังคมจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หนึ่งในสาม

จากนั้น เงินจำนวนนั้นจะถูกโอนไปยังแหล่งพลังงานหมุนเวียนและแง่มุมอื่นๆ ของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ เพื่อเป็นทุนในการเปลี่ยนแปลงอย่างยุติธรรม
.

5. หยุดอนุมัติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศรายงานว่า หากประเทศต่างๆ ต้องการควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องไม่มีการอนุมัติโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่ขึ้นมาอีก มันไม่เหมือนกับการบอกว่า ‘การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดต้องหยุดทันที’ ในทางตรงกันข้าม โครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่นั้นเพียงพอต่อความต้องการทั่วโลกมานานหลายทศวรรษแล้ว

ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องจริงจังกับการยุติการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2565 โดยปฏิเสธข้อเสนอแหล่งผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่ สำหรับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการต่างๆ ในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์จะต้องอาศัยความพยายามทางการเมืองอย่างมาก แต่งบประมาณคาร์บอนทั่วโลกนั้นยังไม่ยืดหยุ่น – ชั้นบรรยากาศสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ได้มากเพียงแค่นี้ ก่อนที่โลกจะไม่เอื้ออำนวยอีกต่อไป
.

ท่าเรือขนส่งถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย l Photo bloomberg

 

6. หยุดก๊าซมีเทน

เมื่อต้องวิเคราะห์เรื่องภาวะโลกร้อน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะได้รับความสนใจมากที่สุด แต่ก๊าซมีเทนก็เป็นก๊าซเรือนกระจกชั้นนำรองลงมา และในขณะที่ก๊าซมีเทนอาจไม่ได้อยู่ในชั้นอากาศนานเหมือนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก๊าซมีเทนทำให้เกิดความร้อนมากกว่า

การลดปล่อยก๊าซมีเทนลงครึ่งหนึ่ง – ส่วนใหญ่โดยการค้นหาและหยุดการรั่วไหลของก๊าซมีเทน – จะป้องกันไม่ให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.3 องศาเซลเซียส ตามข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

“การตัดก๊าซมีเทนเป็นกลไกที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีก 25 ปีข้างหน้า และเสริมความพยายามที่จำเป็นในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” Inger Andersen กรรมการบริหารของ UNEP กล่าวในแถลงการณ์ “ประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมีมากมายและมีค่ามากกว่าต้นทุน เราต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างเร่งด่วนให้ได้มากที่สุดในทศวรรษนี้”
.

7. ลงทุนในการอนุรักษ์และฟื้นฟู

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงจะยังคงเกิดขึ้น หากประเทศต่างๆ ล้มเหลวในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ตั้งแต่ป่าไม้ มหาสมุทร ไปจนถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องหยุดการทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมและฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรม ประมาณ 75% ของที่ดินและมหาสมุทรได้เสื่อมโทรมไปแล้วเพราะการใช้ประโยชน์มากเกินไปและมีมลพิษมากเกินไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่า 100 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะปกป้อง 30% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งทางบกและทางทะเลให้สำเร็จภายในปี 2030 แต่ผู้ก่อมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดบางส่วนยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล และจีน

ถึงวันนี้ เป้าหมาย 30/30 ยังต้องการเงินลงทุนมหาศาลในการทำงานร่วมกันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ป่าระหว่างประเทศและพื้นที่ทางทะเล

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศต่างๆ ยังต้องยุติหรือเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า การพังทลายของดิน การขาดแคลนน้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หันการลงทุนในการเกษตรแบบปฏิรูปแทน เพื่อขจัดจุดอันตรายไปจากโลก

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


เรียบเรียงจาก 7 Urgent Climate Actions We Want to See in 2022

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม