เรื่องที่ต้องคุยถ้าทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง

เรื่องที่ต้องคุยถ้าทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง

ถ้าทำกระเช้าภูกระดึง จะมีสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์หลายประการ

ประการแรก ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ที่มีคนครอบครองอยู่รอบๆ ภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่างๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น และหมุนเวียนมาเยือนเพื่อขึ้นลงกระเช้าไปที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้สองเท้าเดิน

ประการที่สอง ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา และไม่กล้าขึ้น รวมถึงผู้มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสภาพร่างกายมีโอกาสขึ้นไปได้

และกระเช้าไฟฟ้าอาจช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ ขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปได้ง่ายขึ้น

นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น

แต่มันน่าเบื่อมากๆ เวลามีคนดีเบตกัน บนเรื่องอะไรที่ เฟคๆ แบบนี้ เพราะมันเถียงในเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของบริบทที่แท้จริง

ปีนี้ถ้าจะคุยกัน มันควรต้องเป็นเรื่องธุรกิจเที่ยวภูกระดึงและเลยจะคุ้ม จะเจ๊ง จะไปต่ออย่างไร ตามจินตนาการของนักธุรกิจที่จ้องจะหาผลประโยชน์ คุยกันตรงๆ มองภูกระดึงเป็น ‘ต้นทุน’ ที่เจ๊งได้และจะไม่กลับคืน และแน่นอนว่าไม่มีใครรับผิดชอบอะไรได้

เพราะเป้าหมายแท้จริงของมันคือการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ที่จะมาจังหวัดและอำเภอรอบๆภูเขาภูกระดึง เพื่อขยายต่อยอดธุรกิจต่างๆ นี่ต่างหากคือความต้องการที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่คิดจะพัฒนาบ้านเมือง

แต่ปัญหาคือความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นจริงๆ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำกำไรได้จริงไหมจากการเที่ยวกระเช้าบนภูเขาลูกนี้

เพราะคนอยากได้กระเช้า คือนักธุรกิจในจังหวัดที่ต้องการ Mass tourism ให้มาภูกระดึงเยอะๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดครับ

ดังนั้น หากไปจำกัดสารพัด มันก็ไม่ตอบโจทย์ที่จะเพิ่มจำนวนกท่องเที่ยวในจังหวัด

แต่พอนักท่องเที่ยวเยอะๆ มันก็พัง ไม่สวย สักพักก็ไม่มีจุดขาย หรือต้องทำตลาดว่ามาขึ้นกระเช้าเล่นสักครั้งในชีวิต แล้วหาลูกค้าขึ้นกระเช้าหน้าใหม่ไปเรื่อยๆ

อีกอย่าง ข้อจำกัดภูกระดึงมันมีมาก ถ้าไม่ใช่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมมันก็ไม่สวยแล้ว ไม่รู้จะขึ้นไปดูอะไร เดือนมกราคมถึงเมษายนนี่แห้งมากแล้ว พอเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนมันมีแต่ฝนและหมอก ฟ้าผ่า ลมแรง อันตราย ปกติจะปิดให้ฟื้นตัว

แต่ถ้ามีกระเช้าแล้วจะเอาให้คุ้มก็ต้องเปิด ซึ่งผมว่ามันก็ไม่น่าเที่ยว เพราะดูพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ไม่เห็น ทากก็เยอะ แถมยังมีหมอกบังวิว มันก็ไม่น่าเที่ยวอีก

ดังนั้น กระเช้ามันก็ไม่สามารถทำให้คนมาเที่ยวเยอะๆ ได้ทั้งปี

คนอยากได้ที่มีที่มีทางหรือทำธุรกิจอยู่แล้วเบื้องต้น ขอแค่เริ่มมีโครงการ ก็เพิ่มมูลค่าธุรกิจ ปั่นราคาซื้อขายได้แล้ว ส่วนคนถูกขายฝันก็มีความหวัง

ส่วนยาวๆ ก็ไปเสี่ยงเอาข้างหน้า อะไรจะเสียหาย มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องสนใจ

ไม่ใช่เรื่อง สิ่งแวดล้อม หรือ อนุรักษ์อะไรเลยเลยนะครับ

เกือบสิบปีที่แล้วผมถามคำถามไว้สามระดับ จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ไม่เห็นใครมาตอบคำถามผมเลยนะ คุยกันแต่เรื่องน่าเบื่อเดิมๆ ผมว่าผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล้าๆ มาตอบคำถามสามข้อนี้หน่อย มันไม่มีถูกผิดหรอกครับ แต่มันจะส่อให้เห็นตัวตนของคุณ

ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วมีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้นและเดินเที่ยว

สิ่งที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติให้เราได้ซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนตอนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในไทยมีที่เดียวคือ ‘ภูกระดึง’ ส่วนที่อื่นๆ มีถนนขึ้นถึงหรือเดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก

ดังนั้น เมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามา ย่อมสู้ความสบายเย้ายวนจากการขึ้นกระเช้าไม่ได้

คนจะเดินขึ้นก็คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย

พวกที่เลือกเดินจึงเป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาแล้วไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงปัจจุบัน

การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชันนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา

นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าจากสิ่งนี้ไปหรือไม่

ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เช่นเมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ

ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป ‘เดิน’ และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่

รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ

เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวยๆ ข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่

ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมาก เราพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์อันอุดมด้วยธรรมชาติไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตเลยหรือไม่

หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น ยกเลิกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไปเลย

นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด

เรื่องก็ไม่มีอะไรมากกว่านี้

ผู้เขียน

Website | + posts

กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)