แม่เต่ามะเฟืองกับไข่ 136 ฟอง อยู่รอดมากว่าร้อยล้านปีแต่กำลังจะสูญสิ้นเพราะมนุษย์ 

แม่เต่ามะเฟืองกับไข่ 136 ฟอง อยู่รอดมากว่าร้อยล้านปีแต่กำลังจะสูญสิ้นเพราะมนุษย์ 

เรื่องราวโศกนาฏกรรมการตายทั้งกลมของแม่เต่ามะเฟืองกับไข่อีก136ใบ ที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา จากการถูกอวนรัดคอจนจมน้ำตาย สันนิษฐานว่าแม่เต่าตัวนี้กำลังขึ้นมาวางไข่ (เป็นปกติที่พบเห็นแม่เต่าตัวนี้มาวางไข่ในระหว่างปี) แต่ครั้งนี้กลับพบในสภาพไร้ลมหายใจพร้อมลูกน้อยที่ยังไม่ฝัก ซึ่งสุดท้ายแล้วไข่เต่าเหล่านี้ก็ไม่สามารถนำไปฟักต่อได้  

เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้นถือเป็นเครื่องเตือนใจที่ชัดเจน ถึงสถานะอันเปราะบางของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลไทย เนื่องจากเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์อย่างยิ่งของโลก (Critically endangered) อีกทั้งยังเป็นสัตว์สงวนของไทย 

การสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความตระหนักรู้ในเรื่องการเดินทางที่เต็มไปด้วยอันตรายของเต่ามะเฟืองในน่านน้ำไทยเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่เจ็บปวดของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างที่สัตว์ทะเลต้องเผชิญเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ และแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพิสูจน์ให้นานาชาติได้เห็นมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการทำประมงที่มีจรรยาบรรณมากยิ่งขึ้น 

เต่าถือว่าเป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในโลกโดยถือกำเนิดขึ้นช่วงปลายยุคจูแรสซิก (Jurassic) ตอนปลาย หรือกว่าร้อยล้านปีที่แล้ว เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) ซึ่งเป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเต่าทะเลทั้งหมด เดินทางข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ และมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางทะเล มีส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพสายใยอาหารในมหาสมุทร 

การสูญเสียเต่ามะเฟืองเพียงตัวเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเมียที่พร้อมจะทำรัง ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ต่อจำนวนเต่าที่ลดน้อยลง หากเราเทียบอัตราการรอดชีวิตของเต่าตัวนึงนับจากช่วงฟักออกจากไข่จนถึงวัยสืบพันธุ์นั้นโดยธรรมชาตินั้นถือว่าน้อยมากเช่น โดยปกติแล้วเต่าจะวางไข่หลายครั้งเฉลี่ยประมาณหนึ่งพันฟองในแต่ละปี แต่มีโอกาสการฟักไม่สำเร็จจะอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนไข่ทั้งหมดก็จะเหลือแปดร้อยฟอง 

พอฟักจากไข่ก็ต้องตะเกียกตะกายคลานลงทะเล ระหว่างทางก็จะถูกสัตว์ชนิดต่างๆ บนชายหาดอื่นจับกินจนเหลือประมาณสี่ร้อยตัว กว่าจะเติบโตเต็มไวก็จะเหลือประมาณสองร้อยตัว จนเมื่อเวลาผ่านไปสองทศวรรษเต่าก็จะเข้าสู่ช่วงวางไข่และเหลือรอดไม่ถึงยี่สิบตัว 

ดังนั้น กิจกรรมของมนุษย์ที่สร้างขึ้น ถือเป็นส่วนที่เร่งให้อัตราการรอดของเต่าในธรรมชาติต่ำมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังกรณีการตายของแม่เต่าที่หาดท้ายเหมือง 

ซึ่งสาเหตุหลักของอุตสาหกรรมการประมงไทยที่ขาดจรรณยาบรรณ อาทิ การจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch) การจับสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายโดยการตกปลาเชิงพาณิชย์ ยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อเต่ามะเฟืองรวมไปถึง อวนผี (Ghosting Fishing net) หรือเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งหรือสูญหายอยู่ในทะเลทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ส่วนมากมาจากการทำประมงที่ผิดกฏหมายโดยการทำลายหลักฐาน 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในน่านน้ำไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอวนจับปลา และอุปกรณ์อื่นๆ ดักจับอย่างไม่เลือกหน้า ไม่เพียงแต่สิ่งที่ตั้งใจจับเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ที่นำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิต  

การตายของเต่ามะเฟืองมีนัยยะสำคัญมากต่อเสถียรภาพของระบบนิเวศทางทะเลเนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการควบคุมประชากรแมงกะพรุนเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากแมงกะพรุนกินตัวอ่อนของปลาและแข่งขันกับปลาเพื่อหาทรัพยากรแพลงก์ตอน 

ในพื้นที่ที่มีประชากรแมงกระพรุนเยอะเกินไปสามารถก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อประชากรปลาทั้งด้านความมั่งคงทางอาหารและการขยายพันธุ์ ดังนั้นการมีอยู่ของเต่ามะเฟืองจึงเป็นส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของสายใยอาหารแก่ท้องทะเล 

นอกจากนี้ กระบวนการวางไข่ของมันยังช่วยในการหมุนเวียนสารอาหาร เสริมสร้างระบบนิเวศชายฝั่ง และสนับสนุนรูปแบบสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย โดย การขนส่งสารอาหารจากน่านน้ำมหาสมุทรที่มีความอุดมสมบรณ์ (ที่ที่มันกิน) ไปยังน่านน้ำชายฝั่งที่มีสารอาหารต่ำ (ที่ที่พวกมันทำรัง) สารอาหารจากของเสียช่วยให้พืชทะเลมีปุ๋ย เช่น แพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นรากฐานของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร 

นอกจากนี้ สารอาหารจากไข่ที่เน่าเปื่อยซึ่งฟักออกมาไม่ได้และจากลูกอ่อนที่ไม่สามารถอยู่รอดออกสู่มหาสมุทรได้ ยังมีส่วนช่วยในระบบนิเวศชายหาด 

โศกนาฏกรรมของเต่ามะเฟืองในประเทศไทยเป็นการเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตโบราณเหล่านี้ และขยายออกไปต่อระบบนิเวศทางทะเลของเราด้วย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มมาตรการอนุรักษ์ ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องมือแยกเต่าทะเล (Turtle Excluder Devices : TEDs) ในอวนจับปลา การบังคับใช้กฎระเบียบด้านการประมงที่เข้มงวดยิ่งขึ้นโดยสามารถติดตามตำแหน่งเรือประมงทุกลำโดย การจับต้องมีจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้  

กลยุทธ์การอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพจะต้องเกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่นโดยโครงการอนุรักษ์ที่เกิดจากชุมชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชายหาดที่ทำรังและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านการประมงที่ยั่งยืน การสร้างความตระหนักรู้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเต่าทะเลต่อระบบนิเวศ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเต่ามะเฟืองมีลักษณะการอพยพย้ายถิ่นในระยะทางไกล ซึ่งก้าวข้ามเขตแดนและเขตอำนาจศาลของประเทศ เพื่อบรรเทาภัยคุกคามและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างมนุษย์กับสัตว์ทะเลโบราณที่แสนจะทรงคุณค่าอย่างแม่เต่ามะเฟืองตัวนี้  

อ้างอิง

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia