‘ฮัมซา’ แม่น้ำใต้พิภพ สายธาราที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนป่า ลึกกว่า 4 กิโลเมตร 

‘ฮัมซา’ แม่น้ำใต้พิภพ สายธาราที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนป่า ลึกกว่า 4 กิโลเมตร 

ความอัศจรรย์ของธรรมชาติที่ได้สรรค์สร้างสรรพสิ่งให้ก่อกำเนิดมาทั้งมีชีวิตและไม่มีด้วยหน้าที่และเหตุผลในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ บางทีมนุษย์อย่างเราให้ความสำคัญกับอวกาศอันไกลโพ้นมากกว่าที่จะสำรวจใต้ท้องทะเลหรือภาคพื้นธรณีบนโลกของเราเสียอีก ทำให้มีความพิศวงและยิ่งใหญ่ในธรรมชาติอีกมากมายที่รอให้มนุษย์ที่ใคร่รู้อย่างพวกเราค้นพบในสักวัน 

การค้นพบแม่น้ำฮัมซา (The Hamza river) ซึ่งเป็นแม่น้ำใต้ดินอันกว้างใหญ่ในภูมิภาคอเมริกาใต้ที่สายธาราไหลเวียนอยู่ใต้แอมะซอนอันยิ่งใหญ่ ได้สร้างความตื่นตาให้นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประชาชนทั่วไป 

แม่น้ำถูกตั้งชื่อตามนักธรณีฟิสิกส์ชาวบราซิลเชื้อสายอินเดียนามว่า วาลิยา มานนาธาล ฮัมซา (Valiya Mannathal Hamza) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นพบเมื่อปี 2011 โดยเดิมทีย้อนกลับไปเมื่อสามทศวรรษก่อนหน้ามีจุดเริ่มต้นมาจากการค้นพบจากการวิเคราะห์การไล่ระดับของอุณหภูมิและการเคลื่อนที่ของน้ำในบ่อน้ำลึกที่บริษัทน้ำมันสัญชาติบราซิลอย่าง เปโตรบราส (Petrobras) ซึ่งได้ทำการขุดพื้นดินเพื่อสำรวจน้ำมันในปี 1970 และ 1980 

นักวิจัยรวมทั้ง ฮัมซา ได้สังเกตเห็นความผิดปกติในหน้าจอแสดงอุณหภูมิ ซึ่งบ่งชี้ถึงการไหลของน้ำที่ช้าและสม่ำเสมอผ่านหินที่มีรูพรุนที่อยู่ลึกลงไปใต้แอ่งแม่น้ำอะเมซอนกว่า 4 กิโลเมตร การวิเคราะห์นี้ประกอบกับข้อมูลทางเคมีจากตัวอย่างน้ำ เผยให้เห็นถึงระบบแม่น้ำใต้พิภพอันกว้างใหญ่ โดยได้ท้าทายความเข้าใจแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับอุทกวิทยา (Hydrology) ของลุ่มน้ำอะแมซอน พร้อมเผยให้เห็นระบบการไหลของน้ำผิวดินและใต้ผิวดินที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของภูมิภาคอเมริกาใต้และพลวัตของน้ำทั่วโลก อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับวัฏจักรของน้ำที่ซับซ้อนของธรรมชาติ 

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าแม่น้ำใต้ดินอาจมีความยาว 6,000 กิโลเมตร และกว้างกว่าแม่น้ำอะแมซอนหลายร้อยเท่า การค้นพบนี้นำเสนอข้อมูลอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาของลุ่มน้ำแอมะซอน มีส่วนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าน้ำมีปฏิกิริยาอย่างไรกับชั้นต่างๆ ของเปลือกโลก และอาจนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบภายในของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของรูพรุนและการซึมผ่านของชั้นหิน 

นอกจากนั้น การค้นพบนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการประเมินทฤษฎีการไหลของน้ำใต้ดินอีกครั้ง และเน้นย้ำถึงความซับซ้อนของวัฏจักรน้ำของโลก รวมถึงทางเดินของน้ำที่รอการค้นพบ 

การทำความเข้าใจการไหลและการกักเก็บน้ำใต้ดินถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ 

และการค้นพบแม่น้ำฮัมซาอาจมีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแอมะซอน ส่งผลกระทบต่อการเกษตร การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดำรงชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในภูมิภาคอเมริกาใต้ 

การศึกษาปรากฏการณ์ทางอุทกวิทยาขนาดใหญ่ดังกล่าวสามารถเป็นชุดข้อมูลในการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เช่นกัน แหล่งน้ำใต้พิภพนี้มีบทบาทต่อวัฏจักรของน้ำทั่วโลกโดยส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลการหมุนเวียนของคาร์บอน และระดับความชื้นในบรรยากาศ ก่อให้เกิดชุดข้อมูลในการทำความเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ซึ่งมีความสำคัญต่อการการพยากรณ์สภาพอากาศที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น 

ในส่วนของความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำแอมะซอนนั้น การมีอยู่ของแม่น้ำใต้ดินมีส่วนทำให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์อีกด้วย แหล่งน้ำใต้ดินนี้มีบทบาทในการรักษาระดับความชื้นของระบบนิเวศในระดับภูมิภาค แม้จะอยู่ในในช่วงฤดูแล้งสายธาราก็ยังคงไหลต่อไป ก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะของพืชและสัตว์ในลุ่มน้ำแอมะซอน 

เมื่อพิจารณาว่าแม่น้ำฮัมซาใหญ่กว่าแม่น้ำแอมะซอนหรือไม่ จำเป็นต้องดูในเรื่องของเกณฑ์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบให้ชัดเจน โดยแม่น้ำฮัมซานั้นมีสายธาราใต้ดินขนาดมหึมาด้านใต้ของแม่น้ำแอมะซอน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปริมาณและอัตราการไหลของน้ำ แม่น้ำแอมะซอนมีมากกว่าแม่น้ำฮัมซามาก โดยถือเป็นแม่น้ำบนผิวดินที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากการอุ้มน้ำปริมาณมหาศาลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ในขณะที่กระแสน้ำของฮัมซา แม้ว่าจะมีขนาดที่ใหญ่และมีความซับซ้อนมากกว่าใต้ผืนดิน แต่ก็ไหลช้ากว่าและปริมาณโดยรวมน้อยกว่ามาก  

การค้นพบครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงพลังและความสำคัญของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยแบบสหวิทยาการ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิธีการขั้นสูง นักวิจัยได้เจาะทะลุม่านของพื้นผิวโลก และเผยให้เห็นความซับซ้อนของการทำงานภายในของมัน และเป็นข้อพิสูจน์ถึงความอยากรู้อยากเห็นและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ โดยเป็นสัญญาณสำหรับการสำรวจในอนาคตที่อาจคลี่คลายความลึกลับของโลกของเราต่อไป 

แม้จะมีการค้นพบ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้จักแม่น้ำฮัมซามากนัก การวิจัยในอนาคตอาจจะต้องระบุมิติที่แน่นอน ลักษณะการไหลรวมไปถึงปฏิสัมพันธ์กับแม่น้ำแอมะซอนและระบบน้ำอื่นๆ รวมถึงการทำความเข้าใจผลกระทบทางนิเวศของแม่น้ำใต้ดินนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาผ่านสหสาขาวิชาชีพที่ครอบคลุม ผสมผสานอุทกวิทยา ธรณีวิทยา ชีววิทยา และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 

โดยสรุปแล้วการค้นพบสายธาราใต้พิภพนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและธรณีศาสตร์ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักอย่างลึกซึ้งต่อพลังที่ซ่อนอยู่ซึ่งควบคุมโดยโลกธรรมชาติของเรา มันทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจที่น่าสนใจถึงความซับซ้อน ความสามารถในการฟื้นตัวของโลก และการเชื่อมโยงไปถึงระบบที่น่าพิศวงของธรรมชาติที่ช่วยค้ำจุนทุกสรรพชีวิตในทุกรูปแบบ 

ในขณะที่มนุษย์อย่างพวกเรายังคงสำรวจปรากฏการณ์ที่ซ่อนอยู่เหล่านี้ต่อไป ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับโลกธรรมชาติจะขยายออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเป็นแนวทางในความพยายามของเราที่จะอนุรักษ์และทะนุถนอมทรัพยากรอันล้ำค่าของโลกนี้สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป 

อ้างอิง 

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia