งานวิจัยเผยพบเส้นใยพลาสติกในน้ำประปาทั่วโลก

งานวิจัยเผยพบเส้นใยพลาสติกในน้ำประปาทั่วโลก

น้ำประปาในหลายประเทศทั่วโลกถูกตรวจพบว่าปนเปื้อนพลาสติกขนาดจิ๋ว นำไปสู่การเรียกร้องจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ให้ศึกษาถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนดังกล่าวต่อสุขภาพของมนุษย์

น้ำประปาจากกว่าสิบประเทศถูกนำมาวิเคราะห์โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ซึ่งสนับสนุนโดย Orb Media ที่เปิดเผยผลการศึกษากับสำนักข่าว the Guardian โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83 มีการปนเปื้อนเส้นใยพลาสติก โดยพบในน้ำประปาจากประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด คือร้อยละ 93 ทั้งน้ำประปาซึ่งเก็บจากสภาคองเกรส สำนักงานใหญ่ของสํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา และทรัมป์ทาวเวอร์ที่นิวยอร์ก รองลงมาคือประเทศเลบานอนและอินเดีย

ทางฝั่งสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรพบว่า ประเทศเยอรมัน และฝรั่งเศสมีอัตราปนเปื้อนต่ำที่สุดคือร้อยละ 72 โดยจำนวนเส้นใยที่พบในน้ำ 500 มิลลิลิตรเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ในสหรัฐอเมริกา และ 1.9 ในสหภาพยุโรป การศึกษาดังกล่าวได้ขยายขอบเขตการปนเปื้อนของพลาสติกมาใกล้ตัวเรา จากเดิมที่งานวิจัยมักเน้นผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเล และนำเสนอว่าประชาชนกินพลาสติกจิ๋วเหล่านั้นผ่านการบริโภคอาหารทะเล

“เรามีข้อมูลจากการศึกษาสัตว์ป่า และผลกระทบของพลาสติกต่อสัตว์เพียงพอที่จะต้องกังวล” ดร. เชอร์รี เมสัน (Dr. Sherri Mason) ผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติกจาก State University of New York กล่าว “หากเราพบว่าพลาสติกสร้างปัญหาต่อสัตว์ แล้วไม่คิดหรือว่า พลาสติกก็น่าจะสร้างผลกระทบต่อคนเช่นกัน”

สัดส่วนแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนพลาสติกจิ๋ว และค่าเฉลี่ยของปริมาณเส้นใยที่ปนเปื้อน

 

งานศึกษาอีกหนึ่งชิ้นในไอร์แลนด์ก็พบการปนเปื้อนของพลาสติกจิ๋วทั้งในน้ำประปาและบ่อน้ำสาธารณะ “เราไม่รู้ว่าการปนเปื้อนดังกล่าวจะก่อผลกระทบกับสุขภาพของเราอย่างไร แต่ตามหลักความระมัดระวัง เราต้องรีบหาคำตอบเพื่อประมาณว่ามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน” ดร. แอนน์ มารี มาฮอน หัวหน้านักวิจัยกล่าว

ดร.มาฮอนระบุเพิ่มเติมว่า มีข้อกังวลหลักสองประการคือ พลาสติกขนาดจิ๋วและสารเคมีหรือแบคทีเรียที่ติดไปกับเม็ดพลาสติก “ถ้าเราพบว่ามีเส้นใยพลาสติกปนเปื้อนอยู่ ก็เป็นไปได้ว่าจะมีพลาสติกที่เล็กระดับนาโนซึ่งเราไม่สามารถวัดได้อยู่เช่นกัน พลาสติกนั้นเล็กขนาดที่จะทะลุไปในเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ ซึ่งน่ากังวล” การศึกษาของเธอนั้นวัดพลาสติกขนาด 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดใหญ่ 2,500 เท่าเมื่อเทียบกับนาโนเมตร

พลาสติกจิ๋วเหล่านี้ยังดึงดูดแบคทีเรียอีกด้วย โดยมีการศึกษาว่าแหล่งน้ำหรือบ่อน้ำทิ้งที่มีไมโครพลาสติกก็มีแนวโน้มว่าจะปนเปื้อนแบคทีเรียอันตรายเช่นกัน พลาสติกจิ๋วยังทราบกันว่าเป็นที่กักเก็บสารเคมีมีพิษ โดยการศึกษาในสัตว์พบว่าสารดังกล่าวจะถูกปลดปล่อยในร่างกาย นอกจากนี้ การศึกษาของศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แฟรงค์ เคลลี (Frank Kelly) จาก King’s College London ได้เคยให้ข้อมูลต่อรัฐสภาอังกฤษว่า “หากเราสูดเส้นใยพลาสติกเหล่านี้เข้าไปในปอด ก็มีแนวโน้มว่าเส้นใยเหล่านั้นจะทำให้ปอดส่วนล่างหรือระบบไหลเวียนโลหิตปนเปื้อนด้วยสารเคมี” เมื่อได้เห็นผลการศึกษาการพบเส้นใยพลาสติกในน้ำประปา เคลลีแจ้งว่าควรมีการศึกษาอย่างเร่งด่วนว่าการรับประทานเส้นใยเหล่านั้นสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไร

พลาสติกจิ๋วเหล่านั้นมาปนเปื้อนในน้ำประปาได้อย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทราบ แต่แหล่งปนเปื้อนที่น่าจะเป็นไปได้ก็เช่นชั้นบรรยากาศซึ่งเส้นใบพลาสติกจะหลุดลอยจากเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องอบผ้าก็เป็นแหล่งปล่อยเส้นใยพลาสติกสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน

การศึกษาอีกหนึ่งชิ้นระบุอีกหนึ่งความเป็นไปได้ว่า เส้นใยพลาสติกเหล่านั้นอาจจะมาจากเครื่องซักผ้าซึ่งแต่ละครั้งจะมีเส้นใยพลาสติกปนเปื้อนไปราว 700,000 ชิ้น เมื่อพลาสติกจิ๋วเหล่านั้นเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ก็อาจถูกพัดพาโดยฝนไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายหนึ่งที่บ่อน้ำของครัวเรือนในอินโดนีเซียถึงมีเส้นใยพลาสติกปนเปื้อน

ระบบบำบัดน้ำตามมาตรฐานปัจจุบันนั้นไม่สามารถกรองพลาสติกจิ๋วนี้ออกไปได้ นอกจากนี้ ทางเลือกโดยดื่มน้ำขวดที่ซื้อตามร้านค้าก็อาจไม่ได้ปลอดภัยจากเส้นใยพลาสติกจิ๋วเหล่านี้ เพราะการศึกษาข้างต้นก็พบการปนเปื้อนในน้ำดื่มบางยี่ห้อที่วางขายอยู่ในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

ปัจจุบัน เราผลิตพลาสติกราวปีละ 300 ล้านตัน โดยมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลหรือกำจัดโดยการเผา ส่วนที่เหลือก็จะปนเปื้อนในอากาศ ผืนดิน และมหาสมุทร รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมพบว่าตลอด 60 ปีที่ผ่านมา เราผลิตพลาสติกปริมาณกว่า 8.3 พันล้านตัน โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าพลาสติกจะกลายเป็นวัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ

การศึกษาดังกล่าวจึงฉายภาพปัญหาขยะพลาสติกให้เข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายคำถามที่ต้องการคำตอบตั้งแต่การศึกษาซ้ำเพื่อยืนยันความถูกต้องของผลการศึกษา รวมถึงหาแหล่งที่มาของพลาสติกที่ปนเปื้อน ดร. มาฮอน ให้ความเห็นว่าพลาสติกนั้นมีประโยชน์มาก แต่เรายังต้องพัฒนาการจัดการขยะพลาสติกให้ดีกว่านี้

“เราจำเป็นต้องใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน แต่เรากำลังทำร้ายสิ่งแวดล้อมโดยการทิ้งขยะพลาสติกอย่างไร้ความรับผิดชอบ”

 


 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Plastic fibres found in tap water around the world, study reveals โดย Damian Carrington
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์