เอเชีย ดินแดนแห่งขยะพลาสติก

เอเชีย ดินแดนแห่งขยะพลาสติก

ป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยซากถุงพลาสติกในเวียดนาม วาฬที่ตายลงเพราะกลืนถุงพลาสติกในไทย และแพขยะจำนวนมหาศาลไม่ไกลจากเกาะสวรรค์ของอินโดนีเซีย นี่คือตัวอย่างภาพวิกฤตการณ์ขยะพลาสติกในเอเชีย

 

ขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงมหาสมุทรทุกปี เทียบเท่าได้กับรถขยะ 1 คันขยะพลาสติกเต็มคันรถและทิ้งลงทะเลต่อเนื่องทุกๆ 1 นาที ทุกวัน ตลอดปี ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มาจากประเทศเอเชีย 5 ประเทศ คือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม อ้างอิงจากรายงานเมื่อ พ.ศ. 2558 โดย Ocean Conservancy

ประเทศเหล่านี้คือกลุ่มประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย และเป็นที่ที่พลาสติกถูกผลิต บริโภค และกลายเป็นขยะ ประเทศเหล่านี้ยังมีระบบการจัดเก็บขยะที่กระจัดกระจายไร้ระเบียบอีกด้วย “เรากำลังเผชิญวิกฤตมลภาวะขยะ เราเห็นขยะพลาสติกทุกที่ ทั้งในแม่น้ำ มหาสมุทร เราต้องทำอะไรบางอย่างกับปัญหานี้” Ahmad AshovBirry นักรณรงค์จากกรีนพีซ อินโดนีเซียให้กับสัมภาษณ์กับ AFP

 

ฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกจำนวนมาก / PHOTO AFP/Noel CELIS

 

วันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา ได้นำเสนอหายนะซึ่งเกิดจากพลาสติก โดยมีสโลแกนประจำปีว่า “ถ้าคุณใช้ถุงพลาสติกซ้ำไม่ได้ ก็ให้ปฏิเสธ” นอกจากมลภาวะพลาสติกจะทำลายทัศนียภาพอันสวยงาม พลาสติกยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิตอีกด้วย เช่น วาฬที่ตายทางตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งพบถุงพลาสติกในท้องกว่า 80 ใบ การพบเห็นซากนกทะเลหรือเต่าที่เกี่ยวกับพลาสติกจนตายและถูกซัดมายังชายฝั่ง ก็เป็นภาพที่พบเห็นได้บ่อยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดอาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

พลาสติกจิ๋ว หรือไมโครพลาสติก เป็นเศษเสี้ยวพลาสติกที่ถูกย่อยสลายและมีคุณสมบัติในการดูดซับสารเคมีที่เป็นพิษอย่างดีเยี่ยม ไมโครพลาสติกเหล่านี้ถูกพบว่าปนเปื้อนในน้ำประปา น้ำใต้ดิน และในปลาที่ชาวเอเชียบริโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จวบจนปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของเรา

Nguyen Thi Phuong ชาวประมงหญิงชาวเวียดนามซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ บริเวณชายฝั่งทะเลจีนใต้ ในจังหวัด Than Hoa ระบุว่า หมู่บ้านของเธอกำลังกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะอย่างช้าๆ “ฉันแทบจะทนไม่ได้ที่ทุกคนต่างเอาขยะมาทิ้งที่นี่ มันเป็นมลภาวะต่อเด็กๆ และไม่ปลอดภัย”

ในป่าชายเลนที่อยู่ไม่ไกล เพื่อนบ้านของเธอกำลังขุดลงไปในเลนที่เต็มไปด้วยขยะ เพื่อหาหอยทางหรือกุ้งที่หลงเหลืออยู่ ท่ามกลางกิ่งก้านที่เต็มไปด้วยเศษถุงพลาสติกซึ่งถูกคลื่นซัดมาฝากไว้ตอนที่น้ำขึ้น ส่วนชายหาดหนึ่งกิโลเมตรก็เต็มไปด้วยรองเท้าแตะ ถุงขนม หลอดยาสีฟัน กล่องน้ำผลไม้ แหตกปลา ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ และเศษเสื้อผ้า

 

ป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ประเทศเวียดนาม / PHOTO AFP/Nhac NGUYEN

 

“ไม่ง่ายเลยที่จะหาปลาที่กุ้งที่นี่” Vu Quoc Viet ชาวประมงสัญชาติเวียดนามให้สัมภาษณ์ และระบุว่าเขามักพบแต่ซากพลาสติกในแหของเขา

การจัดเก็บขยะในชนบทของเวียดนามนั้นไม่มีประสิทธิภาพมากนัก สภาพดังกล่าวคงไม่แตกต่างนักกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่พลาสติกจำนวนมหาศาลมีจุดจบที่มหาสมุทร อ้างอิงจาก Joi Danielson ผู้จัดการโครงการ Ocean Plastics Asia ที่ SYSTEMIQ ในประเทศทั้ง 5 ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉลี่ยแล้ว ขยะร้อยละ 40 เท่านั้นที่ถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสม โดยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดเก็บขยะน้อยมาก ยิ่งในเมืองใหญ่ที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ยิ่งไปกว่านั้น การอุปโภคพลาสติกก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามรายได้ที่มากขึ้น การพึ่งพิงผลิตภัณฑ์พลาสติกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราจะเห็นพลาสติกเข้ามาเกี่ยวพันกับแทบทุกมิติในชีวิต

หากตัวเลขยังคงเป็นเช่นปัจจุบัน ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสู่ 250 ล้านตันภายใน พ.ศ. 2568 อ้างอิงจากรายงานของ Ocean Conservancy นั่นหมายความว่าปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะมากกว่าปริมาณปลาทั้งหมดในมหาสมุทรทั่วโลก หากยังไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยนักสิ่งแวดล้อมต่างก็มองว่าประเทศจีนควรลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ

 

กราฟแสดงปริมาณการใช้พลาสติก พลาสติกที่ถูกทิ้ง ถูกนำไปเผา และนำมารีไซเคิล ตั้งแต่ ค.ศ. 1950

 

เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศจีนประกาศว่าจะหยุดนำเข้าขยะรีไซเคิลจากโลกตะวันตกเนื่องจากไม่เป็น “ที่ทิ้งขยะโลก” อย่างไรก็ดี ขยะส่วนใหญ่ในจีนเกิดขึ้นภายในประเทศ และการจัดการในชนบทก็ยังไม่มีระบบนัก อย่างไรก็ดี ถึงขยะพลาสติกจะเข้าขั้นวิกฤติ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียให้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงคลิปไวรัลที่นักดำน้ำชาวอังกฤษ Rich Horner ลงไปแหวกว่ายท่ามกลางขยะพลาสติกบริเวณชายฝั่งของเกาะบาหลี ต่างก็ทำให้สาธารณชนให้ความสนใจมากขึ้น ก้าวต่อไปคือการดำเนินนโยบายจัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน

“มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ปัญหานี้ ถ้าเราตั้งใจจะจัดการจริงๆ ก็แทบไม่มีอะไรที่จะหยุดเราได้” Carl Gustaf Lundin ผู้จัดการโครงการสัตว์น้ำและขั้วโลก จาก IUCN (International Union for Conservation of Nature) ให้สัมภาษณ์

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Plastic wasteland: Asia’s ocean pollution crisis
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์