เกิดเป็นเสือ

เกิดเป็นเสือ

ผู้เขียนเป็นเด็กเมืองจันท์ เมื่อยังเล็กอยู่ที่บ้านสวนหนองอ้อ ต้องเดินสี่ชั่วโมงจึงจะถึงตลาดจันท์ ได้รู้จักเสือโคร่งแต่ครั้งนั้น ทั้งเป็นเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว

ใกล้ตัวก็คือ ที่สวนยางบนซึ่งอยู่เชิงเขาสระบาป ห่างจากหนองอ้อราวสามกิโลเมตร เมื่อถึงหน้าทุเรียนสุก ที่บ้านต้องทำข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนไปเซ่นที่จอมปลวกกลางสวนยางบน นัยว่าที่นั่นคนตัดยางถูกเสือกัดตาย ไม่ใช่กัดธรรมดา แต่กัดแล้วกินเฉพาะ “ไอนั่น” โดยเอาตัวพิงจอมปลวกไว้เพื่อกินเฉพาะที่ได้อย่างถนัดๆ

หน้านาวของทุกปีที่เรียกว่าลมว่าว บนเขาสระบาปจะขาดน้ำ เสือจะลงมาตีนเขาเพื่อหาน้ำ มีข่าวว่าเสือลงมาทางโน้นทางนี้ คนตัดยางไปตัดยางตอนเช้ามืดก็ถูกเตือนว่าระวังจะถูกเสือกัด แกก็ปากพล่อยท้าทายว่า “เสือกัด… น่ะซี” ผลปรากฏว่ามิช้ามินาน แกก็ยืนตายพิงจอมปลวกกลางสวนยาง เสือกินเฉพาะที่แกท้าทายพอดี เป็นผลให้ต้องเซ่นข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนทุกปี

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เสือโคร่งที่เขาเกลือ เขาเกลือนี้เป็นชาวเขาของเขาสอยดาว กั้นทางจากมะขามขึ้นไปโป่งน้ำร้อน จะไปโป่งน้ำร้อน กำพุช บ้านผักกาด ฯลฯ จะต้องข้ามเขาเกลือ เดินทางข้ามเขาเป็นทางเกวียน ต่อมาสมัยที่ไทยรบกับฝรั่งเศสเมื่อ 70 ปีมาแล้ว ทหารได้ปรับปรุงทางเกวียนให้เป็นทางรถยนต์ขนปืนใหญ่ข้ามไปได้ บนจุดสูงสุดของทางมีศาลเจ้าพ่อเขาเกลือ ใครไปใครมาก็จะหักกิ่งไม้มาบูชาจนเป็นกองสูง บนเขานี้อุดมไปด้วยหมี เพราะมีป่าระกำหนาแน่น สำหรับเสือก็แน่นอนว่าต้องชุมด้วย มีหนุ่มหนึ่งข้ามมาจากฝั่งโป่งน้ำร้อนจะลงมาที่บ้านโป่งโรงเซ็นทางมะขาม เห็นว่าบ่ายแล้ว เกรงว่าข้ามเขาไม่ทันมืด ก็เลยอธิฐานขอเจ้าพ่อเขาเกลือให้กลับถึงบ้านก่อนมืด ไม่ทันขาดคำเจ้าพ่อก็จัดให้ คือมีหน้าเสือโคร่งตัวใหญ่โผล่มาข้างศาล ได้ผลทันที พ่อหนุ่มก็วิ่งจากศาลไม่ยอมหยุดลงมาถึงบ้านที่ตีนเขาก่อนค่ำจริงๆ

ที่บ้านโป่งโรงเซ็นนี้ก็มีเสือโคร่ง เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สองยุติในปี 2487 ผู้เขียนเดินทางกลับจากพระตะบองผ่านป่าเขากลับมาจันทบุรี ข้ามเขาเกลือมาแล้วเราก็พักขบวนเกวียนที่วัดเชิงเขาเกลือ ที่นี่มีผู้ใหญ่บ้าน จำชื่อไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าแกหัวร้านแบบแร้งกระพือปีก แกเล่าเรื่องเสือโคร่งว่า คืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด แกและลูกบ้านอีกหลายคนมาค้างวัดถือศีล เนื่องจากเป็นวันพระ ในป่ามีเสียงเสือคำรามโฮกฮาก พร้อมกับมีผู้หญิงร้องโอ๊ยๆ โหยหวนสลับกันไป แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย จนรุ่งเช้าถึงได้เกณฑ์กันเข้าไปในป่า ผลปรากฏว่าไม่พบร่องรอยของผู้หญิงถูกทำร้ายเลย มีแต่รอยเท้าเสือ แกสรุปให้ฟังว่านั่นแหละเสือสมิง แต่เรื่องนี้พอเถียงได้ เพราะได้รับข้อมูลภายหลังว่า ในป่ามีตัวที่ร้องเหมือนผู้หญิงถูกทรมานเยือกเย็นนั้น คือบ่างชนิดหนึ่ง ที่เขานางรำห้วยขาแข้งก็มี ที่เขาหลวงปักษ์ใต้ก็มี

เรื่องของเสือโคร่งจึงเป็นเรื่องที่ผู้เขียนรับรู้มาตั้งแต่ยังเด็ก แม้เมื่อเป็นสาวแล้ว เวลานั่งเล่นที่เฉลียงหน้าบ้านที่บ้านหนองอ้อตอนกลางคืน ก็ยังอดหวาดๆ ไม่ได้ว่าจะจ๊ะเอ๋กับเสือโคร่ง ดังนั้นเมื่อได้ติดตามงานของ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้ศึกษาเรื่องเสืออย่างจริงจังทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีเป็นเวลายาวนานเกือบยี่สิบปี จึงเป็นเรื่องที่สนใจและประทับใจ

สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ แหล่งเรียนรู้ด้านการทำงานวิจัยเรื่องเสือโคร่ง เป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศ

 

มาถึงเรื่องของเสือที่ห้วยขาแข้ง ประมาณเกือบยี่สิบปีที่แล้ว เท่ากับอายุของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้เขียนได้เห็นภาพของเสือโคร่งเล่นน้ำอยู่ในลำห้วยขาแข้งตรงสบกระดิ่ง เป็นเสือโคร่งตัวโตเต็มวัย แต่ภาพนั้นไหว ผู้ถ่ายคือ ดร.ฝน ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ซึ่งสารภาพอย่างติดตลกว่า “มือสั่น” เรื่องของเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งก็เหมือนๆ กับเสือโคร่งในป่าเมืองจันท์ คือมีเรื่องราวมากมาย แต่ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการ มาได้เรื่องจริงๆ ก็เมื่อ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ และคณะสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำทำการศึกษา

ผู้เขียนติดตามการศึกษาเรื่องเสือของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำมาตั้งแต่ต้น ประมาณปี 2536 – 2537 ข่าวแรกที่ได้รับคือ มีเสือดาวมาติดกรงที่ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ตั้งใจดักชะมด โดยเอาไก่เป็นๆ เป็นตัวล่อ เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นกันมากในยุคนั้น ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีดยาสลบให้เสือดาวที่ติดกรงสลบ และเอาตัวออกมาวัดสัดส่วน ตั้งแต่เขี้ยว อุ้งเท้า ความยาวหัวจรดหาง ชั่งน้ำหนัก ฯลฯ ขณะเก็บข้อมูลจากเสือดาวตัวเป็นๆ นั้น ก็ต้องราดแอลกอฮอล์ ปรนนิบัติพัดวี เพื่อไม่ให้ความร้อนขึ้นสูงจนเป็นอันตรายต่อเสือ ต้องคอยวัดปรอททางก้นเสือ ส่วนหัวเสือนั้นก็เอาผ้าปิดไว้ โดยยังเกรงๆ ว่าเสือจะจำหน้าผู้รังแกได้ ต้องเอาเทปพันปาก ข้อสำคัญคือ การใส่เข็มขัดคอที่ติดวิทยุได้ เพื่อติดตามได้ว่าเสือไปหากินที่ไหน นอนที่ไหน ใช้พื้นที่บริเวณใด ยังมีชีวิตรักตามปกติเหมือนไม่ใส่เข็มขัดคอหรือไม่ ฯลฯ

งานเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 จนชำนาญร่วมกันทั้งเสือและผู้ศึกษาเสือ เหยื่อจากไก่เป็นๆ ก็เปลี่ยนเป็นโครงไก่ เสือก็ยังเข้ากรง ที่สนุกก็คือ เสือบางตัวเรียนรู้ว่าในกรงมีอาหารเข้าไปแล้วได้กินฟรี อาจถูกวางยาสลบบ้างก็ไม่เป็นไร ฟื้นแล้วไปไหนมาไหนได้ตามปกติ ได้ทราบว่าเสือที่ทำสถิติสูงสุดเข้ากรงถึง 7 ครั้ง จนผู้ศึกษาต้องย้ายกรงหนี

หลังจากรู้เรื่องเสือดาวเสือดำจนช่ำชองแล้ว ในปี 2539 สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำก็มุ่งไปสู่งานวิจัยเสือโคร่ง ซึ่งไม่มีใครในประเทศศึกษามาก่อน ดร.ศักดิ์สิทธิ์ตอบคำถามเรื่องแรงจูงใจให้ทำการศึกษาเสือโคร่งว่า เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ใหญ่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก มีความสำคัญต่อความคงอยู่ของระบบนิเวศ จะรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ได้ก็ต้องรักษาเสือโคร่งไว้ให้ได้ เพราะเสือโคร่งจะอยู่ได้จะต้องมีผืนป่าขนาดใหญ่เพียงพอ มีเหยื่อเพียงพอ มีน้ำ มีปัจจัยแวดล้อมที่ดี การรักษาเสือโคร่งจะต้องรักษาเป็นกลุ่มประชากร ไม่ใช่เหลืออยู่ตัวสองตัว แต่ต้องเป็นกลุ่มประชากรที่มีผลต่อกลุ่มพันธุกรรม อีกทั้งเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่คนสนใจให้ความสำคัญมาก

งานศึกษาเรื่องเสือโคร่งยังมีแนวร่วมสำคัญคือ WCS (WILDLIFE CONSERVATION SOCIETY) ซึ่งมี ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ เป็นกำลังหลัก ด้วยการวางกล้องดักถ่ายภาพ (CAMARA TRAP) กล้องนี้จะวางไว้สองข้างทางเสือผ่าน หากมีสัตว์หรือคนผ่านไป กล้องจะถ่ายรูปไว้โดยอัตโนมัติ ถ้านึกเห็นภาพในผืนป่ากว้างใหญ่ของผืนป่าห้วยขาแข้ง โดยมีการวางกล้องได้ตลอดเหนือจรดใต้ ภาพที่ได้นอกจากเสือโคร่ง ยังได้ภาพของชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในผืนป่านี้

ข่าวแรกที่ได้รับเรื่องการจับเสือโคร่งเพื่อการศึกษาของ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อปี 2539 ก็คือ ได้ต่อกรงไม้ใหญ่โตแข็งแรง ใช้วัวเป็นเหยื่อล่อ ผลคือ เสือเข้าไปกินเหยื่อ ทลายกรงเรียบร้อยเลย เป็นอันว่าไม่สำเร็จ ฝ่ายผู้ศึกษาไม่ท้อ ลงทุนต่อกรงใหม่ คราวนี้เป็นกรงเหล็กมีกลไกพร้อม ถ้าเสือเข้าไปหาเหยื่อเมื่อใด ประตูกรงจะปิดโดยอัตโนมัติ ผลปรากฏว่าเสือโคร่งรู้ทัน ทำตัวแบนๆ คลานเข้าไปลากเหยื่อออกมาได้ เลยเสียเวลาเปล่าอีก การล่อเสือเข้ากรงนี้ดำเนินต่อไปเป็นปี ทำกรงนับสิบกรง ทั้งกรงโปร่งกรงทึบ จน ดร.ศักดิ์สิทธิ์แทบหมดทุนก็ยังไม่ประสบผล ก็พอดีมีระฆังช่วย คือ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ถูกย้ายไปอยู่ภาคอีสานเมื่อ พ.ศ.2540

ในภาพจากซ้าย อ.รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ และคุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำคนปัจจุบัน

 

การศึกษาเสือโคร่งถูกพักยกแรกไว้ก่อน ปี 2547 ได้มีคำสั่งให้ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จึงได้สานต่อศึกษาเสือโคร่ง

คราวนี้สามารถจับเสือโคร่งใส่เข็มขัดคอติดวิทยุติดตามพฤติกรรมได้ด้วยการใช้กับดักแทนกรงดัก การวางกำดักให้เสือโคร่งมาติดแล้วยิงยาสลบ ก่อนที่จะทำการติดเข็ดขัดคอวิทยุติดวิทยุ ได้แนวทางมาจากการวิจัยเสือโคร่งของประเทศรัสเซีย แต่การทำงานให้ได้ผลนั้น เป็นประสบการณ์เฉพาะของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เป็นต้นว่า ควรจะวางกับดักไว้บริเวณไหนเสือจึงจะเอาตีนมาติดกับ ติดแล้วเสือต้องไม่เป็นอันตราย กับต้องมีขนาดพอเหมาะ การศึกษารายละเอียดของชีวิตเสือโคร่งนั้นทำกันอย่างลึกซึ้งละเอียดลออ ทั้งจากการวางกล้องดักถ่ายภาพในเส้นทางเสือผ่าน จนแยกแยะได้ว่าเป็นเสือตัวไหน มีการตั้งชื่อ กำหนดหมายเลขประจำตัว ศึกษาจากขี้เสือเพื่อให้ประมาณได้ว่าตัวอะไรเป็นอาหารเสือ ซึ่งสรุปได้ว่า เสือโคร่งชอบกินสัตว์กีบขนาดใหญ่ เช่น วัวแดง กวาง กระทิง หมูป่า ดังนั้น ป่าใดที่มีอาหารเสือเหลืออยู่น้อย หรือไม่มีเลย เสือโคร่งก็อยู่ไม่ได้

นับจากจับเสือโคร่งติดวิทยุตัวแรกได้ที่เขาบันไดเมื่อปี 2547 ก็พัฒนาฝีมือเรื่อยมา แต่ละปีจับได้หลายตัว แต่ก็เสียเหยื่อไปมาก เสือโคร่งฉลาดมาก เรียนรู้เร็ว ถ้าสงสัยจะไม่เฉียดกรายมาอีกเลย

ปี 2553 นี้ติดปอกคอได้ 4 ตัวแล้ว เป็นตัวเมียกำลังท้องหรือมีลูกอ่อนทั้งสิ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี นับแต่ทำงานวิจัยเรื่องเสือและถ่ายภาพด้วย CAMARATRAP มีเสือกว่า 70 ตัวที่ผ่านตา บางตัวหายไปแล้ว บางตัวมาใหม่

ขอแปลงสารเล็กน้อย “เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก เกิดเป็นเสือยิ่งยากกว่าหลายเท่า” เกิดเป็นเจ้าป่าตัวโตคำรามสนั่น เป็นที่เกรงขามของสัตว์อื่น แต่กว่าจะได้กินแต่ละมื้อต้องออกแรงล่า ได้บ้างไม่ได้บ้าง อาหารก็มิได้มีเหลือเฟือต้องเดินทางไกลเพื่อเสาะหา เสือตัวผู้แต่ละตัวมีอาณาเขตของตนเองราว 100-200 ตารางกิโลเมตร ในอาณาเขตของตัวผู้อาจมีตัวเมียหากินอยู่ด้วย ถ้าเหยื่อสมบูรณ์เช่นตอนใต้ของห้วยขาแข้ง ตัวเมียแต่ละตัวใช้พื้นที่ราว 30 ตารางกิโลเมตร ถ้าเหยื่อปานกลาง เช่น แถวเขานางรำ เสือจะครองพื้นที่ราว 60 ตารางกิโลเมตร เมื่อโตเต็มวัยอายุราวปีเศษก็ต้องหากินเอง หากพื้นที่นั้นๆ มีเจ้าของอยู่แล้ว อาจต้องไปเป็นสัมภเวสีอาศัยอยู่ตามสันเขา เพราะเสือชอบพื้นที่ราบๆ เหมือนสัตว์อื่นๆ ครั้นตัวที่ครองพื้นที่อยู่เดินอ่อนแอลง ตัวใหม่ที่หนุ่มกว่าสดกว่าก็เข้ามาครองพื้นที่แทน อายุเสือโคร่งในป่าสูงสุดที่พบคือ 15 ปี จะมีลูกเมื่อ 3-4 ปี ยังดีที่จับเหยื่อได้ตัวหนึ่งก็กินไปหลายวัน ไม่เฉพาะตัวเสือโคร่งเองที่มีราคาสูงมาก เหยื่อของเสือโคร่งไม่ว่าวัวแดง กวาง หรือกระทิง ก็เป็นที่ต้องการของมนุษย์ ทั้งเสือโคร่งทั้งเหยื่อจึงเป็นเป้าหมายการล่า ดังนั้นเสือโคร่งจะอยู่ได้ ทั้งตัวเสือ อาหารของเสือ และบ้านของเสือ จะต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างจริงจัง

ประเทศไทยให้คำมั่นไว้กับนานาชาติในการประชุมเรื่องเสือโคร่งที่ประเทศเนปาล เมื่อตุลาคม ค.ศ. 2009 ว่า ปีขาลรอบหน้าคือปี ค.ศ. 2022 เสือโคร่งในประเทศไทยจะเพิ่มอีก 1 เท่า ตามที่ได้รับการบอกเล่า ปีขาลปีนี้ ค.ศ.2010 มรดกโลกทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง มีขนาดพื้นที่ประมาณ 6,600 ตารางกิโลเมตร มีเสือโคร่งรวมกันประมาณ 120 ตัว โดยอยู่ที่ห้วยขาแข้งประมาณ 80 ตัว ห้วยขาแข้งวันนี้ค่อนข้างเต็มแล้ว ถ้าจะเพิ่มจำนวนต้องไปเพิ่มพื้นที่โดยรอบ เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คลองลาน ตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง รวมถึงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและด้านตะวันตก จะเพิ่มได้มีสูตรสำเร็จคือ เพิ่มคุณภาพของพื้นที่ให้เป็นป่าสมบูรณ์ ดูแลให้เป็นบ้านที่ปลอดภัย ไม่ถูกล่า มีอาหารเพิ่มขึ้นจนเพียงพอตามที่ศึกษามา

ดร. ศักดิ์สิทธิ์ทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “ความจริงใจที่จะอนุรักษ์”

ผู้เขียนขออนุญาตปิดท้ายบทความนี้ว่า คนไทยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างจริงจังและจริงใจ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะการคงอยู่ของประชากรเสือโคร่งในผืนป่าธรรมชาติ คือหลักประกันว่าทุกคนในแผ่นดินไทยจะมีน้ำกินน้ำใช้ อย่างน้อยเท่ากับที่มีอยู่ในวันนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าต้องการให้ประชาการเสือโคร่งมีจำนวนเพียงพอที่จะสืบสานพันธุกรรม จะต้องมีผืนป่าธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ ป่านั้นต้องมีพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ที่วัวแดง กวาง นิเวศธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น น้ำ นอกจากเป็นธนาคารของความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตน้ำชั่วชีวิต ช่วยขับและเก็บน้ำไว้ในฤดูฝนตลอดปี จากแอ่งซับน้ำซึมที่สัตว์ป่าได้อาศัยดื่มกิน ไหลบรรจบกันเป็นห้วยเล็กห้วยน้อย รวมกันเป็นคลอง เป็นแม่น้ำ ที่คนได้อาศัยใช้อุปโภคบริโภคอยู่ในปัจจุบัน

นี่คือประโยชน์ของการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ส่งผลโดยตรงต่อคนไทยทุกภาคส่วน ช่วยกันรักษาแหล่งผลิตน้ำชั่วชีวิต เพื่อตัวเราในวันนี้ และส่งต่อแก่ลูกหลานของเราในวันนี้

“ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต”

 


 

บทความโดย รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร