ปณิธานหิ่งห้อย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

ปณิธานหิ่งห้อย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

แม้ ‘มด’ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักต่อสู้เพื่อประชาชน จะจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมในวัยเพียง 52 ปี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2550 แต่พลังของเธอที่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนจนกล้าที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิจากสังคมในการจัดการฐานทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง ยังคงอยู่ในใจของใครหลายคนอย่างมิเสื่อมคลาย

ด้วยความดีงามที่เธอได้สร้างไว้ ทำให้ ‘ป๋วย เสวนาคาร’ เลือกเป็น 1 ใน 12 คน สยามปูชนียบุคคลแห่งสันติประชาธรรม

‘วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ หรือ ‘มด’ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในครอบครัวคนจีน เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เริ่มทำกิจกรรมเข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ขณะที่เรียนอยู่ชั้นม.ศ. 5 ได้ไปร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ซึมซับกับปัญหาสังคม การเมืองมาตั้งแต่สมัยนั้น หลังจากนั้น ปี 2517 สอบเอ็นทรานซ์ ได้เข้าเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม

ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา วนิดาเป็นแรงหนุนและเป็นเบื้องหลังคนสำคัญในการเรียกร้องต่อสู้ของคนงานโรงงานฮาร่า ที่ใช้เวลาชุมนุมถึง 5 เดือน จนที่สุดขบวนการต่อสู้นั้นพัฒนาจนถึงขั้นคนงานโรงงานฮาร่าสามารถยึดโรงงานแล้วผลิตสินค้าออกมาขายได้เอง

ระหว่างเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ยังเรียนไม่จบก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ต้องหลบไปอยู่ในเขตป่าแถวภาคใต้ประมาณ 4 ปี และไปอยู่ป่าภาคอีสานอีก 2-3 เดือน หลังจากนั้นจึงกลับมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งในปี 2524 เรียนอยู่ 3 ปี จึงได้ปริญญาตรี พร้อมกับประกอบอาชีพส่วนตัวที่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย และเป็นไกด์นำเที่ยวอยู่หลายปี

วนิดาเริ่มเข้ามาทำงานด้านภาคประชาชนด้วยการร่วมรณรงค์กับขบวนการสันติภาพต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เข้าร่วมขบวนการเชื่อมสันติภาพไทยลาว จับงานในภาคประชาชนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2532-2533 กับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

งานชิ้นแรกๆ ที่ทำคือ ทำงานเชิงวิชาการในการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง เขื่อนแก่งเสือเต้น จนมาถึงเขื่อนปากมูล และมีบทบาทในการก่อตั้งสมัชชาคนจนร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเคยให้คำปรึกษาชาวบ้านที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ไม่ว่ากรณีท่อก๊าซปตท.ที่กาญจนบุรี สงขลา กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด กรณีการสร้าง เขื่อนสาละวิน เขื่อนสิรินธร ไปจนถึงบรรดาผู้ป่วยจากมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้เขียนบันทึกถึงความเป็นวนิดาไว้ในบทบรรณาธิการนิตยสารสารคดีว่า “มดในวัยสามสิบต้นๆ ผู้มีแววจะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ได้ตัดสินใจละทิ้งความสุขสบายส่วนตัว กลับไปทำงานกับคนยากคนจนตามความเชื่อ ตามอุดมคติอีกครั้งหนึ่ง ความเชื่อที่ว่า ความยากจนไม่ได้เกิดจากเวรกรรม แต่เกิดจากความไม่เป็นธรรม มดไม่ได้ต่อสู้เพื่อคนจนเพียงอย่างเดียว แต่มดปลุกให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม”

สำหรับวนิดา เธอไม่คิดว่าความยากจนเป็นเพราะเวรกรรม แต่เป็นเพราะความเอารัดเอาเปรียบทางสังคม

“ความยากจนคืออะไร ดิฉันคิดว่าแม้ไม่จบ ป. 4 หรือ ป. 6 ทุกคนก็ตอบได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ดิฉันคิดว่าความยากจนน่าจะเกิดมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแกและขาดโอกาส มีบางคนบอกว่า ไม่มีความยากจนถ้าพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ แต่ดิฉันขอเสริมว่า ไม่มีความทุกข์ยากถ้ามีความยุติธรรม ทำไมดิฉันถึงใช้คำว่าทุกข์ยาก เพราะบางครั้งความยากจนไม่ใช่ความทุกข์ เช่น ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ อาจจะไม่ใช่ความทุกข์ แต่ถ้าเราไม่มีจะกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ดิฉันคิดว่านี่คือความทุกข์”

“ดิฉันคิดว่าสาเหตุแห่งความทุกข์ยากเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม เพราะว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนเกิดมาตัวเปล่า ไม่มีอะไรติดตัวออกมาเลย แต่ทำไมบางคนมีชีวิตที่สุขสบายโดยไม่ต้องทำงานหนัก แต่ทำไมบางคนทำงานหนักแทบตาย เพียงเพื่อที่จะมีอาหารแค่มื้อนี้หรือมื้อหน้าเท่านั้น ดิฉันคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้น”

“ดิฉันคิดว่าความยากจนเหล่านี้ น่าจะเกิดจากความไม่เป็นธรรมมากว่า และยังเกิดจากระบบที่เลือกปฏิบัติ ทำไมคนบางคนจึงสามารถมีชีวิตอยู่ได้บ้างพอสมควร แต่ว่าคนส่วนใหญ่ต้องเดือดร้อนหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ดิฉันจึงคิดว่าระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบบเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อ่อนแอกว่า กับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า กับผู้ที่รู้น้อยกว่า”

ในงานเสวนา ‘สืบสานปณิธานหิ่งห้อย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ ซึ่งจัดขึ้นหลังการจากไปของวนิดา ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึงความรู้สึกเสียดายที่หญิงแกร่งผู้นี้ต้องจบชีวิตลงเสียก่อน มิเช่นนั้น ประเทศไทยคงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ เพราะในสมัยระบอบเผด็จการเธอสามารถจะคุยกับคน 1 คน คน 2 คน หรือ คน 3 คน ให้ตื่นได้โดยไม่ต้องทำตัวเป็นแกนนำ แต่เธอจะทำตัวเป็นลูกหลาน จนสามารถสร้างสมัชชาคนจนขึ้นมาได้ โดยที่ไม่เคยอ้างว่า เธอเป็นผู้สร้างองค์กรนี้ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่มี วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สมัชชาคนจนคงไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญ คนจนทั้งหมดรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ นับว่าสิ่งนี้สำคัญมากสำหรับการเป็นผู้นำที่ดี คือ ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ

“มดเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงให้คนอย่างผมมารับใช้คนเล็กคนน้อย ซึ่งผมไม่มีทางรู้จักคนเล็กคนน้อยได้ และเวลาที่ผมเดือดร้อนก็มีเหล่าสมัชชาคนจนคอยช่วยเหลือ นั่นแสดงว่ามดไม่มีพรมแดน ไม่มีความเป็นชาตินิยม แต่มีความเป็นมนุษยนิยม ความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ ซึ่งคนอย่างมดถือเป็นคนที่วิเศษที่สุดในสังคมที่คนไทยยังมองไม่เห็น” ส.ศิวรักษ์ กล่าว และยกตัวอย่างถ้านายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีมดคอยช่วยเหลือ ท่านก็ไม่มีทางจะเข้าถึงคนจนได้เลย แต่ที่สามารถเข้าถึงสมัชชาคนจนได้ด้วยเพราะมีมดเป็นแกนกลางประสาน

ในมุมของคนร่วมต่อสู้กับวนิดาอย่างแม่ใหญ่ไฮ ขันจันทา กล่าวถึงมดว่า “แม่รู้จักมดเมื่อปี 2542 ในช่วงที่ไปชุมนุมสมัชชาคนจนที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนกับพี่น้องกลุ่มปัญหาอื่น ได้รู้จักกับมดที่นั่น มดเป็นคนเก่ง ในการอยู่ร่วมกันมดเป็นผู้ช่วยคิด ช่วยออกความเห็น พาเฮ็ดพาทำ มดไม่เคยทำเพื่อตนเอง ทำเพื่อผู้อื่นตลอดเวลา ทำเพื่อชาวบ้าน เพื่อชุมชน เพื่อคนจน คนที่เดือดร้อนจากเขื่อนหรือโครงการรัฐ มดไม่เคยมีผลประโยชน์อะไรที่เข้ามาช่วยไทบ้าน และสิ่งที่ช่วยก็เป็นเรื่องใช้ความคิด ปัญหาของเราจะแก้ไขอย่างไร มดมาช่วยคิด ไม่ใช่พวกเราทำเพื่อมดแต่มดทำเพื่อเรา แม่ถือว่ามดมีบุญคุณต่อพวกเรามาก สุดพรรณาได้บุญคุณสูง เมื่อมดจากไปอยู่ภพอื่นแล้วพ่อแม่ก็คิดถึง”

“มดเป็นบุคคลสำคัญของคนจนคนหนึ่ง ความช่วยเหลือของมดเป็นการช่วยเหลือที่เป็นเหมือนการกู้ชาติ กู้แผ่นดินให้กลับคืนมา คิดถึง พูดถึงเมื่อไหร่ก็น้ำตาตก คิดว่าไม่มีใครเหมือนมดได้อีกแล้วในขบวนคนจน เมื่อไม่มีมดเราก็จะอยู่ต่อไป แม้ว่าคนที่ช่วยคิดจะมีน้อยลง”

“แม่รักมดเหมือนลูกคนหนึ่ง มดทำให้แม่ได้ชีวิตกลับคืนมา”

 

ปณิธานหิ่งห้อย

ฉันคือหิ่งห้อย
ฉันจะเรืองแสงในยามที่ทุกสิ่งมืดมิด
ฉันจะบินว่อนฉวัดเฉวียน
เฝ้ามองความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างเงียบสงบ
ฉันจะมีอุเบกขา ต่อทุกสิ่งที่พบเห็น
จะไม่ยินดีหรือยินร้าย ต่อทุกข์โศกหรือรื่นรมย์
ฉันภาวนาให้ผู้คนที่ทนทุกข์และตัวฉัน
ได้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนของกิเลสและเคราะห์กรรม
ฉันภาวนาให้พ่อแม่พี่น้องของฉัน หลานของฉัน
เป็นเช่นหิ่งห้อย เรืองแสงร่วมกันบนหนทางธรรม
ฉันจะร่วมกับหิ่งห้อยนับล้านล้าน
ทอแสงสร้างขวัญขึ้นแทนหมู่ดาว
คราเมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงพราว
หิ่งห้อยน้อยค่อยจากลา

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
ศูนย์ฝึกวิปัสสนากรรมฐานโกเอ็นก้า
20 กันยายน 2546

 


เรียบเรียงจาก
– ทำไมต้องช่วยคนจน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2540
– หนังสือปณิธานหิ่งห้อย รวมงานเขียนและบทรำลึก วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
– ชีวิตและความตายของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นิตยสารสารคดี เข้าถึงได้ที่ http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=48
– ย้อนรำลึก ‘มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ นักต่อสู้หญิงเพื่อคนจน เข้าถึงได้ที่ http://goo.gl/EuJGbl
– เส้นทางชีวิต และความใฝ่ฝัน “มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” เข้าถึงได้ที่ http://www.prachatai.com/journal/2007/12/15050
เผยแพร่ครั้งแรก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 6 ธันวาคม 2015
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร