ประเทศไหนบ้าง วางมาตรการลดละเลิกพลาสติก

ประเทศไหนบ้าง วางมาตรการลดละเลิกพลาสติก

ในปีนี้องค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ประกาศแนวคิดรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้หัวข้อ “Beat Plastic Pollution” หรือ “รักษ์โลก ลดพลาสติก” ใช้คำขวัญ “ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ก็ควรเลิกใช้” (If you can’t reuse it, refuse it)

เราต่างก็รู้ต้นเหตุของปัญหา ของขยะพลาสติกมากมายที่แทบจะล้นโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์หลากหลายชีวิต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมามากมายและยาวนานหลายปี

แต่ในหลายๆ ประเทศต่างก็เริ่มที่จะตื่นตัว หาทางฟื้นฟู ยับยั้งขยะพลาสติกที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการออกกฏหมายบังคับการใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละประเทศจะมีมาตรการการแก้ปัญหาอย่างไร ชวนย้อนทบทวนเรื่องราวเหล่านั้นอีกครั้งผ่านบทความที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเคยนำเสนอในตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา

 

ประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น มีด ส้อม ช้อน จาน และแก้ว ที่ทำจากพลาสติก โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใน ค.ศ. 2020 และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การเติบโตสีเขียว (Energy Transition for Green Growth Act) ที่ได้ประกาศแบนถุงพลาสติกทั่วประเทศ

สำหรับกฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้ในฝรั่งเศส ระบุให้จำหน่ายหรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานอาหารที่เป็นพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่างน้อยร้อยละ 50 เท่านั้น ข้อบังคับดังกล่าวเกิดจากการบรรลุข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ข้ามผ่านการแบนถุงพลาสติกสู้พลาสติกสำหรับรับประทานอาหาร

“เราจะเป็นประเทศตัวอย่างที่ลดการปล่อยปล่อยแก๊สเรือนกระจก มีรูปแบบการผลิตพลังงานที่หลากหลาย และมีการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น” ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสแสดงความเห็น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ฝรั่งเศสประกาศห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารที่ทำจากพลาสติก

 

เทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรี ประเทศอังกฤษ ประกาศเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกใบละ 5 เพนซ์ (ราว 2 บาท) ตามร้านค้าขนาดเล็กเพื่อจัดการปัญหา ‘วัฒนธรรมทิ้งขว้าง (throwaway culture)’ ของชาวอังกฤษ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวระหว่างการปราศรัยเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าเตรียมจะยกเลิกข้อยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในร้านชำที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 250 คน ซึ่งปัจจุบันร้านขนาดเล็กเหล่านี้ยังแจกถุงพลาสติกได้ฟรี ในขณะที่นโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ โดยมีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึงร้อยละ 90 คิดเป็นปริมาณถุงพลาสติกกว่า 9 พันล้านใบ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อังกฤษเริ่มนโยบายเก็บภาษีถุงพลาสติกในร้านค้าขนาดเล็ก

 

นเรนทระ โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ตั้งมั่นว่าจะหยุดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกชนิดในประเทศอินเดียภายใน พ.ศ. 2565 การริเริ่มดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดมลภาวะพลาสติกซึ่งมีจุดกำเนิดจากประชากรอินเดียกว่า 1.3 พันล้านชีวิต และยังเป็นระบบเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย ตามการรายงานของสำนักข่าว the Guardian

“การตัดสินใจของเราในวันนี้ จะเป็นการนิยามอนาคตของเราทุกคนในวันข้างหน้า” นเรนทระ โมที ระบุ “แม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่จากการตระหนักรู้ของสาธารณะ เทคโนโลยี และความร่วมมือในระดับโลก ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถตัดสินใจเลือกเดินในทางที่ถูกที่ควรได้ ผมอยากให้เราร่วมกันแก้ปัญหามลภาวะพลาสติก และร่วมสร้างโลกให้น่าอยู่มากกว่าเดิม”

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ นายกฯ อินเดียให้คำมั่น หยุดพลาสติกใช้แล้วทิ้งทั้งหมดภายในปี 2565

 

ประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สถาบันพลาสติก บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 แห่ง จึงร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือ แคปซิล โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม นับจากสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจากการดำเนินงานในครั้งนี้คาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มได้ถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี

พลาสติกหุ้มฝาขวดผลิตจากพลาสติกพีวีซี (Polyvinyl Chloride: PVC) มีขนาดชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม แต่ยากต่อการรวบรวมและจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลและไม่คุ้มทุนในการดำเนินการ

ที่ผ่านมาทำให้พบขยะจากพลาสติกหุ้มฝาขวดถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทางทะเล ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ และส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติมที่ เลิกใช้แล้ว พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม

 

Milo Cress เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี จากการที่เด็กคนหนึ่งสั่งน้ำโซดาในร้านอาหาร โดยดึงหลอดออกจากแก้วเพราะมองว่าหลอดพลาสติกคือขยะที่ไม่จำเป็น และเขายังเริ่มโครงการรณรงค์ “Be Straw Free” ปัจจุบันเคลื่อนไหวต่อต้านหลอดพลาสติกมากกว่า 6 ปี เขาได้เดินทางไปออสเตรเลีย โปรตุเกส เยอรมนี ฝรั่งเศส รวมถึงรัฐบอสตันและวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา เพื่อไปกล่าวสุนทรพจน์สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับโครงการรณรงค์ต่อต้านหลอดพลาสติกของเขา

อ่านเพิ่มเติมที่ เด็กหนุ่มอายุ 15 กับภารกิจหยุดใช้หลอดพลาสติก

 

นี่เป็นเพียงบทความจากที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเสนอว่าในตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากที่กล่าวมานี้ เชื่อว่า มีอีกหลายประเทศ และหลายกลุ่มองค์กรที่เริ่มเอาจริงเอาจังกับการจัดการปัญหาพลาสติกที่กำลังสร้างความเจ็บป่วยให้กับโลกและกำลังกระทบผลกลับคืนมาสู่ตัวเรา

เราหวังว่าบทความเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน ได้หันกลับมามองพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง ตลอดจนถึงการผลักดันให้เรื่องพลาสติกเป็นวาระ นโยบาย ที่รัฐบาลขานรับ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นมาในอนาคต

อย่าให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงแค่กระแสรณรงค์เพียงวันหรือเดือนสิ่งแวดล้อมโลกและหายไป

สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า วันนี้พลาสติกสร้างผลกระทบอะไรให้แก่โลกเราไปแล้วบ้าง ชวนอ่านบทความด้านล่างต่อไปนี้

เอเชีย ดินแดนแห่งขยะพลาสติก
ชะตากรรมสัตว์ทะเลไทยในวังวนของขยะพลาสติก
องค์การอนามัยโลกเดินหน้าตรวจสอบ หลังพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวด
พลาสติกไปที่ไหน ปะการังป่วยที่นั่น
งานวิจัยเผยพบเส้นใยพลาสติกในน้ำประปาทั่วโลก
‘ขยะ’ ระเบิดเวลาสิ่งแวดล้อม

 


เรียบเรียง ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน