ป่าไม้ ป้องกันน้ำท่วม ได้อย่างไร ?

ป่าไม้ ป้องกันน้ำท่วม ได้อย่างไร ?

รู้หรือไม่ว่า “ป่ามีกลไกป้องกันน้ำท่วม” ซึ่งเป็นกลไกที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมาก สังเกตได้จากเวลาฝนตกหนักในป่าที่อุดมสมบูรณ์แต่น้ำกลับไม่เคยท่วม ซึ่งแตกต่างจากในเมืองที่ตกเพียงไม่กี่วันหรือบางครั้งไม่กี่ชั่วโมงก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว ซึ่งบทความต่อไปนี้จะเล่าให้ฟังถึงกลไกป้องกันน้ำท่วมของป่า แต่ก่อนจะนำเข้าสู่เนื้อหาหลัก ลองมาดูกันก่อนว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ในเมือง ชุมชนที่อยู่อาศัย หรือจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นกรุงเทพมหานครด้วยก็ได้

 

น้ำท่วมเมืองเพราะอะไร

พื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่จะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เพราะน้ำจากที่ต่างๆ จะไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ซึ่งพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนอย่างกรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ราบลุ่ม แต่สำหรับสถานะของกรุงเทพฯ ในวันนี้ แม้ไม่มีน้ำจากข้างนอกเข้ามาแต่ถ้าฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานก็สามารถทำให้น้ำท่วมได้

เนื่องจากพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่ถูกปูทับด้วยถนน คอนกรีต อาคาร สิ่งก่อสร้างมากมาย การระบายน้ำนั้นต้องอาศัยคลองหรือท่อช่วยระบายออกสู่แม่น้ำ เพื่อลดระดับของน้ำในพื้นที่ ถ้าระบายไม่ทันน้ำก็จะท่วม เพราะน้ำต้องใช้เวลาในการถ่ายเทจากพื้นที่ที่ฝนตกไปยังท่อระบายน้ำ และไหลลงแม่น้ำ กลไกนี้ต่างจากป่าซึ่งมีกลไกการป้องกันน้ำท่วมอย่างน่าอัศจรรย์ โดยผ่านกลไกการซับน้ำของป่า

 

กลไกการซับน้ำของป่า

กลไกลการซับน้ำของป่านั้นเรียกได้ว่ากลไกที่สำคัญในการช่วยไม่ให้น้ำที่อยู่ในป่าไหลบ่าลงไปท่วมพื้นที่ราบลุ่มหรือพื้นที่เมือง โดยกลไกดังกล่าวเริ่มจาก

กลไกการซับน้ำของป่า

1. ฝนที่ตกลงมาทำให้มีปริมาณน้ำในป่ามากขึ้น ความสามารถในการรับน้ำของพื้นที่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในดินที่มีอยู่ก่อน ว่ามีมากน้อยเพียงใด

2. ฝนที่ตกกระทบผิวดินรวมทั้งน้ำที่ไหลมาจากที่อื่นจะถูกดูดซับลงดิน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ดินซับน้ำได้มากขึ้นอยู่กับระยะเวลาว่าน้ำอยู่กับพื้นดินตรงนั้นนานเท่าไหร่ ตัวแปรสำคัญที่ช่วยขวางให้น้ำอยู่ได้นานขึ้นก็คือต้นไม้ (จะกล่าวในหัวต่อไป)

3.น้ำที่ถูกดูดซับด้วยดินจะแทรกอยู่ระหว่างอนุภาคของดิน ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินขึ้นอยู่กับปริมาณของอินทรียวัตถุที่อยู่ในดิน ถ้ามีปริมาณมากดินจะสามารถอุ้มน้ำได้มาก น้ำที่กักเก็บไว้นั้นจะค่อยๆ มุดลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน

4.น้ำใต้ดินจะค่อยๆ ระบายออกสู่ลำธารสายเล็กๆ รวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ทำให้มีน้ำใช้ได้ทุกฤดูกาลก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายกับสัตว์ป่าและมนุษย์

ป่าจึงเปรียบเสมือนฟองน้ำขนาดใหญ่ที่คอยซับน้ำไว้ไม่ให้ไหลบ่าลงมาท่วม

 

การมีต้นไม้ช่วยป้องกันน้ำท่วมอย่างไร

ต้นไม้ที่อยู่ในป่าไม่ได้เกิดมาเพื่อให้มนุษย์ตัดเอาเนื้อไม้ไปใช้เพียงเท่านั้น แต่มันยังมีประโยชน์ในทางอ้อมอีกมากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงประโยชน์ในการช่วยป้องกันน้ำท่วม โดยแต่ละส่วนของต้นไม้ล้วนช่วยให้เกิดกระบวนการซับน้ำลงดิน มีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างเป็นระบบ สามารถอธิบายด้วยภาพด้านล่างนี้

ระบบการป้องกันน้ำท่วมของป่า

(A) ฝนที่ตกลงมาในผืนป่าจะผ่านชั้นเรือนยอดของต้นไม้ ใบไม้ที่ถูกเม็ดฝนกระทบจะช่วยลดแรงของเม็ดฝนก่อนที่จะตกลงสู่พื้นดิน ป้องกันดินอัดตัวกันแน่นเป็นการช่วยให้น้ำซึมผ่านดินได้ดีขึ้น

(B) กิ่งไม้และลำต้นจะช่วยชะลอการไหลของน้ำในแนวดิ่ง

(C) รากของต้นไม้ที่แตกแขนงไปตามพื้นดินจะช่วยสกัดน้ำที่ไหลมาจากทางอื่นให้ไหลช้าลงเพื่อจะมีเวลาซึมลงดินได้นานขึ้น

(D) เศษซากใบไม้จะช่วยขวางการไหลและชะลอน้ำไม่ให้ไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่ด้านล่าง

(E) อินทรียวัตถุจากการย่อยสลายของต้นไม้ จะช่วยปรับโครงสร้างของดินให้มีรูพรุน ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น

จะเห็นได้ว่าต้นไม้คือกลไกสำคัญที่เป็นตัวกั้นการไหลของน้ำให้ช้าลง กล่าวคือต้นไม้ช่วยกักเก็บน้ำให้คงอยู่ได้ ส่วนจะนานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับว่าผืนดินบริเวณนั้นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นหรือไม่ และปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยซับน้ำนั่นก็คือดิน

 

ทำไมดินในป่าถึงกักเก็บน้ำได้ดีกว่าดินในเมือง

ความสามารถในการซับน้ำของดินจะดีมากขึ้นถ้ามีสารอินทรีย์มาก อินทรียวัตถุในดินซึ่งเกิดจาการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ในป่ามีความสามารถในการซับน้ำไว้ได้ในปริมาณมาก ประมาณ 6-20 เท่าของน้ำหนัก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นอนุภาคขนาดเล็ก และมีลักษณะเป็นสารคอลลอยด์จึงมีพื้นที่ผิวในการดูดซับน้ำไว้ได้มากเป็นพิเศษ

อนุภาคของอินทรียวัตถุ ยังประกอบกันเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีช่องขนาดเล็กที่ดูดซับน้ำได้อยู่มาก การใส่อินทรียวัตถุลงไปในดิน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำของดินทราย หรือดินเนื้อหยาบ (ดร. นิวัติ อนงค์รักษ์) ซึ่งแตกต่างจากดินในเมืองที่ไม่ค่อยมีซากพืชซากสัตว์คอยเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินความสามารถในการอุ้มน้ำจึงน้อยกว่ามาก

 

แล้วในเมืองจำเป็นต้องปลูกป่าเพิ่มหรือไม่

จากที่ได้อธิบายถึงกลไกการซับน้ำของป่าว่าช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ และช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากรุงเทพฯ ก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วม จึงเกิดคำถามตามมาว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพจำเป็นต้องปลูกป่าเพื่อให้มีป่าคอยซับน้ำหรือไม่ คำตอบของคำถามนี้เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้และตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันไม่มีที่ให้ปลูกแล้ว” คงต้องอาศัยวิธีการอื่นช่วยในการจัดการน้ำในกรุงเทพฯ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าจะไม่สำคัญต่อคนกรุงเทพหรือคนในเมืองอีกหลายๆ แห่ง เนื่องจากว่าป่าที่อยู่รอบนอกนั้นจะช่วยซับน้ำในพื้นที่ไม่ให้ไหลมาท่วมในเมือง เป็นการช่วยบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมโหฬารเมื่อป่านั้นได้หมดไป


บทความโดย นางสาวมะลิวรรณ นามขันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร