พบพืชชนิดใหม่ “ชมพูราชสิริน” ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

พบพืชชนิดใหม่ “ชมพูราชสิริน” ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

นักพฤษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติฯ นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดลพบ “ชมพูราชสิริน” พืชชนิดใหม่ของโลก ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาฯ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

.
สิงหาคมกันยายน 2020 – นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ พบพืชไม่ทราบชนิด ขณะสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพืชบริเวณภูเขาในอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

ลักษณะไม้ล้มลุก เป็นพืชอิงอาศัยขึ้นบนเปลือกไม้ต้นขนาดใหญ่

ภายหลังได้รับการยืนยันว่าพืชชนิดใหม่ของโลก และได้รับนามว่าชมพูราชสิริน

เป็นพืชสกุลส้มกุ้ง (Begonia) วงศ์ส้มกุ้ง (Begoniaceae)

ล่าสุดได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 49(2)

โดยมีชื่อพฤกษศาสตร์ที่ขอพระราชทานนามว่า Begonia sirindhorniana Phutthai, Thanant., Srisom & Suddee คำระบุชนิด “sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

การกระจายพันธุ์ของชมพูราชสิริน” เบื้องต้นคาดว่าเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย และอาจมีการกระจายพันธุ์ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ชายแดนฝั่งเมียนมาร์

แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสามารถพบได้ตรงชายแดนฝั่งเมียนมาร์หรือไม่ แต่นักวิจัยเชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะขยายออกไปมากกว่าบริเวณที่พบ

นอกจากนี้ แหล่งที่พบซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่คุ้มครอง อาจได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวจากผู้คนจำนวนมากตลอดทั้งปี ส่งผลต่อโอกาสรอดของสายพันธุ์

รายนามผู้ค้นพบและร่วมตีพิมพ์ ประกอบด้วย

นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร และ ดร.สมราน สุดดี นักพฤกษศาสตร์หน่วยงานหอพรรณไม้ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ส้มกุ้ง (Begoniaceae) ของไทย ร่วมกับนักวิจัยอิสระ นายไพรวัลย์ ศรีสม

Dr. Mark Hughes ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ส้มกุ้งแห่งสวนพฤกษศาสตร์เอดินบะระ สก๊อตแลนด์
.

.
สำหรับอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ บ้านห้วยผาก ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง

อยู่ในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 132,905 ไร่

จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 1995

ตามวัตุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า สำรวจสภาพทางสังคมทางกายภาพและชีวภาพ เพื่อจัดทำเป็นแหล่งความรู้ และเผยแพร่ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน

ตลอดจนประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตต่อไป

ในแง่ความอุดมสมบูรณ์ ที่ตั้งของอุทยานธรรมชาติวิทยายังเป็นป่าต้นน้ำภาชี

มีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มป่าตะวันตกกับผืนป่าแก่งกระจาน

ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยทรัพยากรป่าไม้ประเภทป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

จากการสำรวจพันธุ์พืชและสัตว์ป่าโดยคณะนักวิจัย พบว่า มีไม้ใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 4.5 เซนติเมตร จำนวน 40 วงศ์ 109 สกุล 156 ชนิด

ไม้พื้นล่างจำพวกไม้พุ่มและไม้ล้มลุก จำนวน 55 วงศ์ 173 สกุล 218 ชนิด

สำหรับสัตว์ป่า พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 457 ชนิด

จำแนกเป็น นก 141 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 48 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 34 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 40 ชนิด ปลา 35 ชนิด และแมลง 159 ชนิด

 


อ้างอิง
Photo : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน