ตอบกลับสทนช. เรื่อง ขอให้พิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ตอบกลับสทนช. เรื่อง ขอให้พิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ตามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นเรื่องขอคัดค้านการผ่านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชน (EHIA) อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้พิจารณาลดขนาดอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมแนบรายชื่อประชาชนผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ผ่าน change.org จำนวนกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564  โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนรับมอบ และได้แจ้งเรื่องต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาและแจ้งตอบมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั้น

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ชี้แจงตอบกลับมายังมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 2 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. กรณีที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านการเห็นชอบโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรีของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการและควรลดขนาดอ่างเก็บน้ำลงมาเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสูญเสียผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นอย่างถาวร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของช้างป่า จากการตรวจสอบเอกสารรายชื่อคัดค้านตามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรส่งมาพบว่า มีรายชื่อคัดค้าน 9,996 รายชื่อ และมีรายชื่อที่แจ้งว่าอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด 329 รายชื่อ โดยเป็นไปมาตรา 43(3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น เช่นเดียวกับที่ประชาชนลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาแสดงให้เห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ไม่มีผู้คัดค้านโครงการ สอดคล้องกับผลการมีส่วนร่วมที่ปรากฏในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

2. ประเด็นการลดขนาดอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดให้มีขนาดหรือความสามารถเก็บน้ำเพียงเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาการขาดแคลนน้ำในภาวะวิกฤตเท่านั้น โดยขอให้ใช้พื้นที่ป่าเพียง 2,315 ไร่ ปัจจุบัน กรมชลประทานได้มีการดำเนินการวางแผนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และด้านการมีส่วนร่วมตามหลักวิชาการ โดยได้เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีมติเห็นชอบต่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 และให้พิจารณาการใช้พื้นที่อย่างจำกัด โดยให้ลดพื้นที่เหลือ 10,000 – 12,000 ไร่ ซึ่งจากการนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 กรมชลประทานได้เสนอผลการปรับพื้นที่น้ำท่วมในเขตป่าไม้ให้เหลือเพียง 11,982 ไร่ ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นอกจากนี้ โครงการยังได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุไว้ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะแจ้งให้กรมชลประทานพิจารณาข้อเสนอของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและชี้แจงให้ครบถ้วนก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอชี้แจงประเด็นตามเอกสารสำนักทรัพยากรธรรมชาติดังต่อไปนี้

1. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไม่ผิดคาดที่ได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ปฏิเสธทุกประเด็นความเห็นที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ ขอให้พิจารณาทบทวนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด 

2. ในโพสต์นี้จึงอยากจะย้ำถึงความล้มเหลว ของกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมถึงกระบวนการพิจารณา EHIA ฉบับดังกล่าว

2.1 ล้มเหลวในการพิจารณาเลือกกลุ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมในกระบวนการ ที่เน้นเอาตัวแทนผู้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาสนับสนุนโครงการ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ที่เห็นต่าง กลับไม่มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีต่างๆ ได้ หรือหากเข้าร่วม เสียงในเวทีก็จะพุ่งเป้าเข้ามาโจมตี แทนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นอันเป็นประโยชน์ร่วมกัน

2.2 พื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถือเป็นพื้นที่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ทุกคนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หากมีการยกเลิก หรือเพิกถอนเพื่อกิจกรรมอันเป็นประโยชน์กับกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะของต่างชาติ ผู้จะดำเนินการควรให้ความสำคัญกับความเห็นของสาธารณะ หรือกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ร่วมกันปกป้อง ดูแลทรัพยากรของสาธารณะเหล่านี้ ไม่ใช่การเอารายชื่อผู้คัดค้านมาแยกแยะภูมิลำเนา และปฏิเสธความเห็นขององค์กร หรือผู้ที่ไม่อยู่ในพื้นที่โครงการ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่แคบมากสำหรับการดูแลโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ ในพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศ  

2.3 เมื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ ของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ได้แสดงความห่วงกังวลถึงข้อมูลประกอบใน EHIA ที่อาจไม่ครบถ้วนต่อการพิจารณา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานประสานสนับสนุนการพัฒนาโครงการ ควรที่จะจัดเวทีประชุมร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลทั้งสองฝ่าย ได้มาแลกเปลี่ยน และร่วมกันพิจารณาในเชิงเทคนิควิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาโครงการให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับสังคม

2.4 อยากเรียกร้องให้สาธารณชน ร่วมออกมาส่งเสียงถึง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งชาติ ในการระงับกระบวนการผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อทบทวนความเหมาะสมในการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด 

3. อนาคต รัฐควรทบทวนการจัดทำ EHIA และกระบวนการในการพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประเมินโครงการที่จะมีผลกระทบในทุกมิติ อย่างแท้จริง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 (จำนวน 12 เรื่อง) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 ที่ให้ถือว่าการประชุม กก.วล. เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 (เรื่อง มติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 ครั้งที่ 11/2548 และครั้งที่ 12/2548) รับทราบมติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 ที่ให้นำมติ กก.วล. เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญ และเรื่องที่ กก.วล. พิจารณาได้ข้อยุติแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ โดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเข้าสู่การพิจารณาสรุปได้ว่า

“รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทาน ให้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นการใช้พื้นที่ของโครงการให้เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการใช้น้ำและการอยู่ร่วมกันกับสัตว์ป่า”

คัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยเครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออก และศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์