ที่มาของรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร

ที่มาของรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร

รูปปั้น สืบ นาคะเสถียร

.
หากใครเคยมีโอกาสเดินทางไปยังผืนป่าห้วยขาแข้ง เชื่อเหลือเกินว่าหมุดหมายหนึ่งในทริปนั้นต้องมีการเข้าไปเยี่ยมชมรูปปั้นของคุณสืบ นาคะเสถียร รวมไว้ด้วยอย่างแน่นอน

รูปปั้นที่สร้างขึ้นกลางป่าใหญ่ ถือเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณที่สำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ รวมถึงเป็นอนุสรณ์ไว้รำลึกถึงคุณงามความดีที่คุณสืบเคยเป็นต้นแบบไว้ให้กับผืนป่าแห่งนี้

แต่ทราบหรือไม่ว่า กว่ารูปปั้นจะสำเร็จลุล่วงได้นั้นมีที่มาอย่างไร ?

อาจารย์รตยา จันทรเทียร ผู้รับตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเมื่อครั้งต้องตัดสินใจสร้างรูปปั้น ได้เล่าถึงที่มาให้ฟังว่า กว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ต้องผ่านการถกเถียงกันอยู่นาน

เริ่มจากประเด็นที่ว่า ควรตั้งอยู่ที่ใด ?

ระหว่างที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นพลังใจแก่ชาววนศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ว่ารุ่นพี่ได้เสียสละทุกอย่างเพื่อผืนป่าสัตว์ป่า

หรือตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้มีสิ่งเตือนใจว่าเราต้องช่วยกันรักษาผืนป่า รักษาทั้งกาย วาจา ใจ เช่นเดียวกับคุณสืบ

และอีกความเห็น คือ บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ลึกจากถนนใหญ่เข้าไป 15 กิโลเมตร ตั้งอยู่ท่ามกลาง ห้วย ป่าเขา สัตว์ป่า ใกล้กับบ้านที่คุณสืบเสียสละชีวิต

ท้ายที่สุดได้ข้อสรุปกันว่า รูปปั้นจะตั้งอยู่ท่ามกลางห้วย ป่าเขา บ้านของสัตว์ป่า

อีกเรื่องที่ถกเถียงกัน คือ อิริยาบถของรูปปั้นและการแต่งกาย จะเป็นรูปก้าวย่าง เดิน นั่ง ยืน หรือต้องมีสัตว์ป่าประกอบอยู่ด้วยหรือไม่ ?

ถ้ามีจะเป็นสัตว์ป่าตัวไหน ?

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรปั้นเป็นรูปคุณสืบนั่งลูบหลังกวาง แต่อีกฝ่ายก็ท้วงว่านั่นคือ ‘สโนว์ไวท์’ ไม่ใช่คุณสืบ

จนท้ายที่สุดการถกเถียงก็มาเห็นพ้องตรงกันว่า รูปปั้นนี้ไม่ใช่รูปนั่งหรือยืนเฉยๆ แต่ควรเป็นอิริยาบถที่มีความหมาย ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายเห็นตรงกันว่าให้แต่งกายตามแบบที่คุณสืบใช้ประจำวันและคุ้นตาของทุกคนจะเหมาะสมที่สุด

ซึ่งข้อสรุปก็เป็นดังที่ทุกท่านได้เห็นว่า…

คุณสืบกำลังก้าวเดิน ใบหน้าและดวงตามองตรงเข้าไปยังผืนป่าตะวันตก ถ้าลากเส้นตรงตามสายตาไปอีก 100 กิโลเมตร จะเป็นป่าและป่าและป่า บ้านหลังใหญ่ที่สุดของสัตว์ป่าในประเทศไทย

คุณสืบแต่งตัว เช่นที่คุ้นตาของลูกน้อง คือ ชุดลุยป่า แบกเป้และเครื่องนอน ในกระเป๋ากางเกงข้างหนึ่งมีซองบุหรี่ มือหนึ่งถือสมุดบันทึก อีกมือหนึ่งถือปากกา (ของฝากจากคนรู้ใจ) มีกล้องดูนกคล้องคอ และสะพายกล้องถ่ายรูปพร้อมบันทึกข้อมูลต่างๆ ตามประสานักวิชาการ

.
ผู้ออกแบบและปั้น คือ อาจารย์เสวต เทศน์ธรรม อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

มีทีมกรรมการมูลนิธิสืบฯ ช่วยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด คือ คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ คุณวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคุณเบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนสนิทของคุณสืบ

รูปปั้นคุณสืบแล้วเสร็จและนำไปติดตั้งที่ห้วยขาแข้งในวันที่ 12 สิงหาคม 2536 มีพิธีบวงสรวงและพิธีทางศาสนา ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 3 ของการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร
.

.

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code