สุขสันต์วันเกิดนะ ต้าวเหม่ง  

สุขสันต์วันเกิดนะ ต้าวเหม่ง  

10 มีนาคม 2567 เป็นวันที่ ‘ต้าวเหม่ง’ ลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดจากพ่อแจ๊คและแม่นุ้ยแห่งสวนสัตว์นครราชสีมามีอายุครบขวบปี 

จากการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมงานโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ จนถึงวันนี้ ‘ต้าวเหม่ง’ มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงดี มีรูปร่างหน้าตาและสัดส่วนสมตามวัย 

โดยวัดส่วนสูงได้ 102 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 4.4 กิโลกรัม ความกว้างของปีก 106 เซนติเมตร (ข้อมูลเมื่อ 26 มิ.ย. พ.ศ.2566) 

ย้อนไปเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว หลังจากแม่นุ้ยได้วางไข่ ต้าวเหม่งถูกนำมาฟักตัวในตู้ควบคุมอุณหภูมิเพื่อให้มั่นใจว่ามันจะฝักออกมาลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัย 

เธอเริ่มหัดกินอาหารเองเมื่อช่วงอายุสองเดือน ผ่านการเรียนรู้การกินซากสัตว์ป่าเช่น แพะ และเสริมด้วยหนู 

บ้านหลังแรกของต้าวเหม่ง เป็นห้องปรับสภาพก่อนไปกรงใหญ่ กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของต้าวเหม่ง มักกินกับนอน 

ในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ทีมพี่เลี้ยงทั้งตื่นเต้นและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะต้าวเหม่งเริ่มขยับขาและเริ่มทดลองบินออกกำลัง ทั้งการกระโดดกระพือปีกแล้วก็เล่นโดยใช้ปากจิกนู่นจิกนี่ ถ้าหากกระโดดไม่ดีหรือผิดท่า ขาอาจจะเคล็ดได้หรืออาจซนไปจิกที่ช่องไม้หรือติดตาข่ายปากอาจจะติดตาข่ายหรือติดไม้ได้ 

การกระพือปีกก็เช่นเดียวกันถ้าไปกระพือปีกใกล้ๆ กับผนังปูนหรือตาข่ายก็อาจจะทำให้บาดเจ็บได้ 

จนมาถึงวันที่ 114 ต้าวเหม่งก็เริ่มเกาะขอนไม้ได้อย่างแม่นยำ 

พี่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลต้าวเหม่งให้เล่าว่า “เนื่องจากลูกเกิดจากตู้ฟักเพราะฉะนั้นการฝึกบินฝึกขยับปีกกินวิธีการฝึกด้วยพี่เลี้ยงทั้งหมดและสุขภาพของลูกปกติแข็งแรงอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มนกแร้ง” 

อันที่จริง ต้าวเหม่ง เกือบมีน้อง แต่น่าเสียดายที่ไข่ใบต่อมาของพ่อแจ๊คและแม่นุ้ย แม้จะมีเชื้อแต่ไม่สมบูรณ์พอที่ฟักเป็นตัว 

หลังจากนี้ ภายใต้ โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย   ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ในส่วนของ การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทีมงานต้องมีความมั่นใจว่าปล่อยไปแล้วพญาแร้งสามารถตั้งประชากรใหม่ได้ในธรรมชาติ จำนวน และสัดส่วนเพศของพญาแร้งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต 

เพราะพญาแร้งหว่าจะถึงวัยผสมพันธุ์ได้จะมีอายุ 10-15 ปี ขึ้นไป ซึ่งใช้เวลานาน และก่อนปล่อยจะต้องมีการปรับสภาพให้สามารถใช้ชีวิตในแหล่งอาศัยเดิมได้เช่นกัน

นกแร้งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของระบบนิเวศในพื้นที่บริเวณนั้น ในฐานะสัตว์กินซาก ที่ป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนช่วยในวงจรของสารอาหาร การลดลงของจำนวนนกแร้งอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความสมดุลของระบบนิเวศ  

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงสิ่งที่สามารถทำได้ผ่านการอุทิศตน ความร่วมมือ และความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกของเรา การเดินทางของลูกแร้งผมแดงเพิ่งเริ่มต้น และเรื่องราวของมันคือสัญญาณแห่งความหวังสำหรับอนาคตของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia