ชวนดูพรรณไม้ในป่าภูกระดึง 

ชวนดูพรรณไม้ในป่าภูกระดึง 

ช่วงหยุดยาวปีใหม่ หลาย ๆ ท่านอาจได้มีโอกาสขึ้นไปเป็นผู้พิชิตภูเขาหินทรายยอดตัดรูปหัวใจมาแล้ว “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” นอกจากมิตรภาพที่พบเจอได้ระหว่างการเดินขึ้นลงภูแห่งนี้จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้ว บนภูกระดึงมีอะไรน่าสนใจมากกว่าที่หลายคนคิด จึงอยากชวนมาทำความรู้จักภูกระดึงให้มากขึ้นอีกนิด และครั้งต่อไปคุณอาจจะขึ้นภูกระดึงด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป  

ภูกระดึงถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในจังหวัดเลย และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 โดยตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 มีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น กุหลาบพันปีสีแดงและสีขาว ฯ รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว ฯลฯ 

นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา 

ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมาทำให้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566 อุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park) แห่งที่ 57  

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้ภูกระดึงได้รับการยอมรับจนถูกประกาศเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์ ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสความงามของพรรณไม้บนยอดภูกระดึงหลาย ๆ ชนิดที่น่าสนใจกันค่ะ 

พรรณไม้ที่สำรวจพบเป็นครั้งแรกของโลกบนภูกระดึง และมีการเก็บตัวอย่างแห้งแล้วนำไปจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ได้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) หลายชนิด ถือว่าภูกระดึงเป็นแหล่งตัวอย่างต้นแบบ (Type locality) ของพืชเหล่านั้น เช่น ดอกหรีดกอ หญ้าบัวแบ กระดุมภูกระดึง กระดุมสยาม ฯ 

ดอกหรีดกอ, ดอกหรีด Gentiana hesseliana Hoss. var. lakshnakarae (Kerr) Toyokuni เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กต้นเตี้ยติดผิวดินสูง 3 – 5 ซม. ดอกออกที่ปลายยอดเป็นกระจุก 2 – 8 ดอก โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วยสีน้ำเงินอ่อน ยาว 1.2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ดอกหรีดกอเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ออกดอกเดือนตุลาคม-เมษายน หมอคาร์ ชาวไอริช สำรวจพบบนภูกระดึงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2467 ตัวอย่างแห้งต้นแบบเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร 

ดอกหรีดกอ, ดอกหรีด

หญ้าบัวแบ Xyris Kradungensis B.Hansen เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าหรือมีหัวอยู่ใต้ดิน ใบออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ช่อดอกออกที่ปลายยอดมีก้านช่อดอกยาว 8 – 15 ซม. ปลายก้านเป็นตุ่มดอกที่มีกาบโค้งสีแดงคล้ำเรียงสลับซับซ้อนติดกันแน่นเป็นก้อนกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 8 มม. ระหว่างกาบมีกลีบดอกบาง ๆ สีเหลือง ยื่นพ้นออกมากาบละ 3 กลีบ กลีบดอกบานอยู่ได้วันเดียว ออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม  

หญ้าบัวแบ

กระดุมสยาม, จุกนกยูงหรือข้าวตอก Eriocaulon siamense Moldenke วงศ์ Eriocaulaceae เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปีและเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย ศ. ดร.เต็ม สมิตินันท์ สำรวจพบบนภูกระดึงเป็นครั้งแรก เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นในที่ชุ่มน้ำตามทุ่งหญ้าบนภูกระดึง ในระดับความสูง 1,100 – 1,300 เมตร  ออกดอกในเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ดอกตูมกับดอกบานเต็มที่จะมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ในดอกบานจะเห็นอับเรณูเป็นจุดเล็ก ๆ สีม่วงดำ คำระบุชนิดว่า “siamense” หมายถึงสยาม หมายความว่าพืชชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทยนั่นเอง 

กระดุมสยาม, จุกนกยูง หรือข้าวตอก

กระดุมกระดึง, กระดุมภูกระดึง Eriocaulon Ubonense f. kradungense วงศ์ Eriocaulaceae เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี T.Shimizu ชาวญี่ปุ่นและคณะ สำรวจพบบนภูกระดึงเป็นครั้งแรก ออกดอกในเดือนกรกฎาคม – กุมภาพันธ์ บนภูกระดึงพบได้ตามลานหินและตามริมทางเดินที่ชุ่มน้ำหรือในทุ่งหญ้าในระดับความสูง 280 – 1,300 เมตร

กระดุมกระดึง, กระดุมภูกระดึง

พืชกินแมลง กับดักสัตว์อันน่าพิศวง เหล่าพืชกินแมลงมักจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่พืชหาธาตุอาหารได้ยาก อาจจะเป็นที่ที่ดินไม่ดี ดินมีสารพิษมาก หรือดินมีน้ำขัง ขาดออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของแบคทีเรียตัวย่อยสลายซากอินทรีย์ เช่น ตามป่าพรุ หรือหนองโคลนตม หรือในที่ที่ดินมีค่าความเป็นกรดสูง และมีธาตุอาหารในดินต่ำ และแน่นอนว่าบนภูกระดึงแห่งนี้ก็มีพืชกินแมลง แถมมีหลายชนิดอีกด้วย 

หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินแมลงที่มีการสร้างกับดักแบบหลุมพราง “Pitfall traps” โดยหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะมีใบที่เปลี่ยนไปเป็นกับดักรูปหม้อหรือกระเปาะ (Pitchers) พวกมันล่อแมลงด้วยน้ำหวานกลิ่นหอม ยั่วยวนเจ้าเหล่าแมลง เมื่อแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กตกลงไปในกระเปาะ ผนังด้านในกระเปาะที่มีไขเคลือบอยู่จะทำให้เหยื่อลื่นและไต่ขึ้นมาได้ยาก ภายในกระเปาะมีของเหลวที่สามารถย่อยแมลงและสัตว์ขนาดเล็กได้ เมื่อเหยื่อจมในของเหลวจะถูกย่อยอย่างช้า ๆ และหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะได้รับสารอาหารที่ถูกย่อยเหล่านี้

หม้อข้าวหม้อแกงลิง

หยาดน้ำค้าง, จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl) ใบของพืชกลุ่มนี้จะมีขนต่อม (Glandular trichomes) ที่สร้างของเหลวเป็นเมือกเหนียวดูคล้ายหยดน้ำค้างที่เกาะอยู่บนใบ แมลงอาจจะมาตอมเพราะเข้าใจว่าเป็นดอกไม้ที่มีน้ำหวาน เมื่อแมลงสัมผัสก้อนเหนียว ๆ นั่น มันก็จะติดกับดักเมือกเหนียวเหล่านี้ พืชกลุ่มหยาดน้ำค้าง จะใช้น้ำย่อยที่สร้างจากขนต่อมในการย่อยและดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อ พืชกลุ่มหยาดน้ำค้างจึงได้รับธาตุอาหารเพิ่มเติมจากแมลงที่ติดกับดัก ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารในดินต่ำได้ 

หยาดน้ำค้าง, จอกบ่วาย

ทิพเกสร Utricularia minutissima Vahl. หน้าตาอาจดูไม่เหมือนพืชกินแมลงที่มีสารเหนียว ๆ หรือมีลักษณะเหมือนถ้วยหรือหม้อใบยาวมีฝาปิดแบบหม้อข้าวหม้อแกงลิง แต่หญ้าเข็มก็เป็นพืชกินแมลงเช่นเดียวกัน พวกมันสร้างกับดักแบบดูด “Suction” โดยพืชในกลุ่มนี้หลายชนิด ใบเปลี่ยนเป็นถุงกับดักที่มีขนาดเล็ก (Bladder traps) สำหรับดักสิ่งมีชีวิตในน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเหยื่ออาจจะเป็นกลุ่มแมลงน้ำหรือแพลงก์ตอนสัตว์ ตรงบริเวณปากถุงกับดักจะมีส่วนของรยางค์หรือเส้นขนเล็ก ๆ โดยระบบกลไกการดักจับเหยื่อ พืชจะมีการขับน้ำออกจากถุงกับดักจนเกิดลักษณะคล้ายระบบสุญญากาศ เมื่อสิ่งมีชีวิตในน้ำขนาดเล็กสัมผัสกับรยางค์เหล่านี้ ถุงกับดักแมลงจะดูดน้ำเข้า ทำให้เหยื่อที่อยู่ในน้ำไหลเข้ามาในถุงกับดักแมลงอย่างรวดเร็ว  

ทิพเกสร

นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้อีกหลายชนิดที่น่าสนใจ บางชนิดยังไม่สามารถหาชื่อได้ แต่พวกมันก็สวยจนผู้เขียนไม่อยากเก็บภาพความงามนี้ไว้แค่เพียงคนเดียว ตามมาดูความสวยงามของพรรณไม้บนภูกระดึงกันค่ะ 

หางเสือหรือหางเสือลาย Platostoma cochinchinense (Lour.) A. J. Paton  ไม้ล้มลุกบนดินทราย สกุลพืชที่ลงท้ายด้วยคำว่า “stoma” ส่วนใหญ่เป็นสกุลไร้เพศ (neuter) คำระบุชนิด “cochinchinense” หมายถึงภาคใต้ของเวียดนาม

ส้มแปะ
สนทราย
Centrolepis cambodiana
Justicia procumbens
Pentanema indicum
สันตะวาใบข้าว
เอื้องหิน Cyanotis arachnoidea C.B. Clarke วงศ์ Commellinaceae
แววมยุรา
ใบก่วมแดง หรือเมเปิ้ล อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของภูกระดึง

อ้างอิง

  • หนังสือซุปเปอร์มดถั่วยักษ์และแม่หมี สำนักพิมพ์สารคดี 
  • หมายเหตุนิเวศวิทยา (Ecological Notes) บันทึกธรรมชาติหลากเผ่าพันธุ์ The record of natures ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ 2550 
  • Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
  • หอพรรณไม้ Forest Herbarium

ผู้เขียน

+ posts

ตำแหน่ง หมาเฝ้าป่า ผู้มีความหลงใหลในโลกใบจิ๋วของพืชและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย มีความสุขกับการปั่นจักรยาน ทำขนมปัง และชอบใช้ของมือสอง