เข้าป่า ไปสบตา เยืองหม่น

เข้าป่า ไปสบตา เยืองหม่น

หลังจากจัดนิทรรศการ “ชีวิตเหนือภูผา” ในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ผ่านพ้นไป

ด้วยเรื่องราวของกวางผาที่ยังคงอบอวลอยู่ในใจมาตลอดสองเดือน ทำให้เราตัดสินใจออกไปตามหาชีวิตที่ไม่ได้อยู่บนภาพถ่ายเพื่อหวังว่าจะได้สบตากับเจ้ากวางผาตัวเป็นๆ ด้วยสายตาตัวเองสักที

เมื่อช่วงเวลาได้… โอกาสเหมาะ การเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้น…

 

ออกเดินทาง

ครั้งนี้เราจะได้สัมผัสบรรยากาศของแม่แจ่มแบบเต็มอิ่ม

จากการเดินทางด้วยรถสาธารณะจากกรุงเทพฯ นอนยาวๆ ไป  1 คืน ตื่นเช้ามาก็ถึงจอมทอง ซึ่งเป็นจุดต่อรถสองแถว จอมทอง-แม่แจ่ม โดยใช้เส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ แล้วเลี้ยวซ้ายตัดเข้าสู่เมืองแม่แจ่ม บริเวณด่านตรวจที่ 2 ของดอยอินทนนท์ (ก่อนขึ้นยอดดอย)

สำหรับที่พักวันแรก เราได้ไปอยู่ที่บ้านต้นตาล-นางแล อยู่ใน ต.ช่างเคิ่ง ขยับออกมาจากตัวเมืองแม่แจ่มเล็กน้อย รายล้อมไปด้วยภูเขาและทุ่งนา มองเห็นเทือกดอยอินทนนท์ทมึนอยู่เบื้องหน้า อากาศเริ่มเย็น เหมือนที่นี่กำลังใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวเร็วกว่าที่อื่น (วันที่เดินทางยังไม่มีประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวจากกรมอุตุฯ)

 

 

มื้อแรกที่แม่แจ่ม เราได้ลิ้มลองอาหารเหนือสูตรเด็ดฝีมือเจ้าบ้าน ผักกาดจอ ไส้อั่วย่าง (อันนี้อร่อยมาก เผ็ดนิดหน่อย กลิ่นหอมฟุ้งสามบ้านแปดบ้าน) น้ำพริกคั่ว ลาบหมู ข้างๆ มีกระติกน้ำแข็ง มาตั้งด้วย 2 กระติก ตอนแรกก็งงอยู่ว่าเอาน้ำแข็งมาทำไมตั้ง 2 กระติก พอเปิดออกมาพบว่าเป็นกระติกใส่ข้าวเหนียว ยังไม่ทันจะได้ถามอะไร เจ้าบ้านก็ชวนให้ลงมือกินได้เลย เราถึงเข้าใจว่าที่นี่หยิบข้าวเหนียวกินจากกระติกกันเลยจาน ช้อน ไม่ต้องใช้

ตกค่ำก็เริ่มจัดสัมภาระ เตรียมเสื้อผ้า และอุปกรณ์ เพราะพรุ่งนี้เราจะเริ่มออกเดินทางไปตามหา “เยืองหม่น” บนดอยสูงกัน

จริงๆ แล้ว “กวางผา” มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น อาชิ ซาย ม้าเทวดา เยืองหม่น แล้วแต่พื้นที่ไหนจะเรียกอย่างไร สำหรับที่นี่ เรียกกวางผาว่า “เยืองหม่น” (เป็นคำภาษาเหนือ)

การเดินทางครั้งนี้เราใช้พาหนะคู่ใจเป็นมอเตอร์ไซต์ บรรทุกคนและสัมภาระไปแบบอีรุงตุงนัง ใช้เส้นทางแม่แจ่ม-ขุนยวม ขับหยอกเขาเย้าโค้งกันไปรวมระยะทางแล้ว 70 กว่ากิโลเมตร

 

เข้าสู่บ้านเยืองหม่น

เราเดินทางในช่วงบ่ายผ่านทุ่งโล่งที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงวัว แล้วมุ่งดิ่งลงเขา ลัดเลาะไปตามเชิงเขาหลายต่อหลายลูก บางช่วงเป็นทางชัน เงยหน้าขึ้นมองแล้วถึงกับถอนหายใจยาวๆ

ทางเดินเป็นเส้นทางที่เรียกได้ว่าเป็นทางวัวเดินนั่นแหละ ส่วนมนุษย์อย่างพวกเราบางช่วงก็เดินได้แค่แถวเรียงหนึ่ง เพราะเป็นทางแคบๆ ขวามือเป็นภูเขาสูง ซ้ายมือคือทางลาดเกือบดิ่งลงหุบ ทางเดินช่วงนี้ต้องระวังเพราะดินค่อนข้างร่วน อาจลื่นหล่นลงไปได้ง่าย ขนาดระวังแล้วก็ยังมีพลาดไปบ้าง ใจหล่นหายไปเหมือนกัน

 

ทิวทัศน์ระหว่างทางไปหาเยืองหม่น
บ้านของเยืองหม่น

 

เดินบ้าง พักบ้าง ผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงถึงที่ตั้งแคมป์ เราเลือกพื้นที่ตั้งแคมป์ตรงข้ามกับดอยหมื่อกาโด่ เพื่อที่จะได้รอดูเจ้าเยืองหม่น จากมุมที่พอจะมีโอกาสมองเห็นได้ ซึ่งหากเป็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะนอนกันบนสันดอยหมื่อกาโด่เลย เพื่อที่จะได้สัมผัสบรรยากาศ และชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างเต็มตา

หากอยู่ตรงสันด้านบนหมื่อกาโด่สามารถมองทิวทัศน์ได้โดยรอบ คลื่นภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนสุดลูกหูลูกตา มองเห็นได้ทั้งฝั่งของ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

พื้นที่บริเวณนี้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น แหล่งน้ำธรรมชาติก็พอมีอยู่บ้าง แต่ต้องลงหุบไปค่อนข้างไกล แถมยังเป็นทางลาดชัน เราจึงใช้น้ำกันอย่างประหยัดที่สุด ส่วนเรื่องอาบน้ำไม่ต้องพูดถึง…

 

สันดอยหมื่อกาโด่
คลื่นภูเขาสุดลูกหูลูกตา
ระหว่างรอ

 

เฝ้ามอง

การมาครั้งนี้นับว่าไม่ผิดหวัง เพราะทั้งสามวันเราได้เห็นเยืองหม่น รวมแล้ว 5 ตัว ซึ่งจากจุดที่เราอยู่กับดอยหมื่อกาโด่ ก็ไม่ไกลกันนัก สำหรับเราแล้วการมองหาเจ้าสัตว์ป่าตัวเล็กที่สีกลมกลืนกับธรรมชาติ และกิจวัตรประจำวันที่นิ่งแสนนิ่งถือเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน ต้องอาศัยการบอกและชี้ให้ดูจากน้องที่ไปด้วยกัน

บางครั้งมองด้วยตาเปล่าก็ยังไม่เห็น ต้องมองจากช่องมองภาพที่ติดเลนส์ 400 mm. จึงจะเห็นเจ้าเยืองหม่น ยืนขยับใบหูซ้ายดุ๊กดิ๊ก แล้วก็ยืนนิ่งๆ ไปอีกนานหลายนาน

เฝ้ามองอยู่สักระยะก็เริ่มจับทิศทางทางได้ จึงใช้วิธีการมองจากช่องมองภาพกล้องตัวเองบ้าง เมื่อเอาเจ้า Fuji ติดเลนส์ 230 + กดปุ่มขยายภาพดูไปด้วย ก็เห็นได้ชัดอยู่เหมือนกัน (แต่หากถ่ายออกมาก็ยังตัวจิ๋วอยู่เหมือนเดิม) โชคดีที่วันนี้เจ้าเยืองหม่นนัดเพื่อนๆ ออกมาวิ่งเล่นรับแสงแดดอุ่นๆ ริมหน้าผากันถึง 3 ตัว

 

 

ช่วงที่ได้เห็นเจ้าตัวน้อยวิ่งไล่กันลงมาตามแนวผา ผู้ชมอย่างเราก็พลอยครึกครื้นไปด้วย มันเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและเหมือนความสุขก้อนใหญ่หล่นตูมลงมาใส่หัวใจ

พี่ช่างภาพสัตว์ป่าคนหนึ่งเคยบอกกับเราว่า การที่ได้มาดูกวางผาที่หมื่อกาโด่ เราจะได้เห็นกวางผากับเบื้องหลังที่เป็นผาหินแกรนิต ซึ่งสวยและแปลกตากว่าที่อื่น ซึ่งมันก็สวยจริงอย่างที่พี่เขาเล่า แต่จะสวยกว่าที่อื่นหรือเปล่าก็ยังไม่รู้แน่ เพราะเพิ่งเคยมาดูด้วยตาตัวเองที่นี่ครั้งแรก เมื่อมีโอกาสต่อไปคงต้องไปเยือนบ้านเยืองหม่นบนดอยอื่นๆ ดูบ้าง

 

หมื่อกาโด่ – พะติโด่

สำหรับดอย “หมื่อกาโด่” ลักษณะโดยทั่วไปเป็นเขาหินแกรนิต ประกอบด้วยหน้าผา ทุ่งหญ้า และป่าดิบเขา เป็นพื้นที่ที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ความสูงประมาณ 1,700 เมตร เหนือระดับทะเล ไม่ไกลกันมีอีกหนึ่งดอยเชื่อมต่อถึงกัน เรียกว่า “พะติโด่” ทั้งสองแห่งเป็นที่อยู่อาศัยของเยืองหม่น จากการสำรวจโดยทีมสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว พบเยืองหม่นบริเวณนี้ทั้งหมด 11 ตัว

จากผลการสำรวจประชากรเยืองหม่นหรือที่ภาษากลางเราเรียกกันว่ากวางผา ในปี 2561 ได้ทำการสำรวจในพื้นที่ภาคเหนือ 10 พื้นที่ (9 พื้นที่อนุรักษ์ 1 พื้นที่ กำลังจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่แจ่ม) พบกวางผาในธรรมชาติ 288 ตัว โดยพบมากที่สุด ที่ดอยหลวงเชียงดาว 100 ตัว รองลงมาเป็นดอยอินทนนท์ พบ 47 ตัว

สำหรับดอยหมื่อกาโด่ และพะติโด่ กำลังอยู่ระหว่างเสนอเรื่องเป็นพื้นที่จัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ดังนั้นในวันนี้… บ้านของเยืองหม่นทั้งสองแห่งจึงยังไม่มีสถานภาพเป็นพื้นที่อนุรักษ์แต่อย่างใด…

ไร่กะหล่ำ ไร่ข้าวโพด ยังคงรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ วัวของชาวบ้านยังคงเดินหากินอยู่ในทั้งสองดอย เช่นเดียวกับเสียงปืนจากการล่าสัตว์ป่าก็ยังดังให้ได้ยินอยู่ร่ำไป ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่เหมือนกันว่าเจ้าเยืองหม่นทั้ง 11 ตัว นี้อนาคตของมันจะเป็นอย่างไร…

 

ดอยพะติโด่ มองจากหมื่อกาโด่ และเห็นเป็นเนินหลังเต่า
พื้นที่เกษตร ด้านล่างติดเชิงดอยพะติโด่

 

ต้องออกตัวก่อนว่าการเดินทางมาในครั้งนี้ มีจุดหมายเพียงเพื่อที่จะได้ดูเยืองหม่นให้เห็นด้วยสายตาตัวเองแค่นั้น… แต่เอาเข้าจริง กลับออกมาด้วยความรู้สึกกังวลเล็กๆ เนื่องจากทั้งสองดอยนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบระเบียบมากนัก อีกทั้งช่วงที่เราขึ้นไป (อาจจะด้วยความบังเอิญ) ได้เจอกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ประมาณ 20 คน ขึ้นไปตั้งแคมป์บนสันดอยหมื่อกาโด่ และส่งเสียงดังมากตลอดเช้าเย็น

ด้วยธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งปรุงแต่ง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก จึงทำให้เข้าใจได้ว่าอาจเป็นเส้นทางแห่งความสำราญของนักเดินป่า

แต่หากเป็นนักเดินป่าแล้ว ก็ต้องต้องเข้าใจด้วยว่า… เรากำลังเข้าไปในอาณาจักรของป่า ของสัตว์ป่า ควรหลีกเลี่ยงการรบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่าให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งแคมป์ เสบียงอาหารที่เตรียมเข้าไป ขยะที่จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่เรื่องที่ง่ายที่สุดคือ การใช้เสียง

เราไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะรู้หรือไม่ว่า พื้นที่ที่เขากำลังยืนอยู่ คือบ้านที่เยืองหม่นใช้อาศัย แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะมีความเกรงใจต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นมารยาทด้วย

ป่าเป็นของทุกคน

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้สัมผัสและชื่นชมความงามของผืนป่าและสัตว์ป่า

ลูกหลานของเราในอนาคตก็เช่นกัน

 

 


เรื่อง / ภาพ เกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร