แรงบันดาลใจงานอนุรักษ์จากช่างภาพแห่งท้องทะเล – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

แรงบันดาลใจงานอนุรักษ์จากช่างภาพแห่งท้องทะเล – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

หลายคนจดจำภาพ “ฉลาม” ในฐานะสัตว์นักล่าอันดับสูงแห่งท้องทะเล มันมีบทบาทที่สำคัญไม่ต่างจาก “เสือโคร่ง” ที่คอยรักษาสมดุลของระบบนิเวศผืนป่า

จากแรงบันดาลใจแห่งความงามของโลกใต้ท้องทะเล และงานศึกษาวิจัยฉลามได้ทำให้ คุณศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ได้ต่อยอดสิ่งต่างๆ มากมาย ในฐานะช่างภาพสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ผมได้เห็นสัตว์ที่หลงใหลถูกตัดเป็นชิ้นๆ กระจายอยู่บนพื้นนั่นเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ช่างภาพหนุ่มได้เห็น ซึ่งออกจะขัดจากภาพจำทั่วไป

Catch composition and aspects of the biology of sharks caught by Thai commercial fisheries in the Andaman Sea เป็นผลงานวิจัยของ คุณศิรชัย ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ถ่ายทอดเรื่องราวสู่สาธารณะผ่านนิตยสาร National Geographic Thailand ในชื่อ เมื่อนักล่าสิ้นลาย

ฉลาม เป็นสัตว์นักล่าที่มีอายุยืน ออกลูกจำนวนน้อยเฉลี่ย 10-20 ตัวต่อปี หรือบางชนิดประมาณ 4 ปี แต่มันถูกคุกคามจากมนุษย์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประมงที่มีอัตราการจับฉลาม 100 ล้านตัวต่อปีทำให้ฉลามเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

และไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกหูฉลามมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก

ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนฉลามสูญหายไปจากท้องทะเลถึงร้อยละ 90 และประชากรที่เหลือปัจจุบันอาจไม่เหลือตัวที่สามารถสืบพันธุ์ได้ เพราะเป็นตัววัยอ่อน ซึ่งบ่งบอกว่าฉลามวัยผู้ใหญ่นอกจากจะไม่หลงเหลือในธรรมชาติแล้ว แหล่งอนุบาลที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตยังถูกทำลายลงจนแทบจะไม่เหลือ

ในสายตาของช่างภาพแห่งท้องทะเล นอกจากการติดตามศึกษาเรื่องของฉลามแล้ว เขายังได้เป็นประจักษ์พยานภัยคุกคามอื่นอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษทางทะเลการทำประมงในไทยที่สูงเกินขนาดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความสวยงาม ความสมบูรณ์ ความเสื่อมโทรม ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การกำเนิดของปะการังขนาดเล็ก ปลาจำนวนมากพยายามหลบหนีจากอวนหาปลาในทะเลอันดามัน การตามหาปูทหารปากบารา เป็นต้น

คุณศิรชัย เชื่อว่า ภาพถ่ายสารคดีสามารถสื่อถึงใจผู้คนได้รู้สึกและหยุดคิด นี่คือพลังของการถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ (Conservation Photography)

“เราต่างมีความเชื่อมโยงกับท้องทะเลไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ในแง่ที่เราได้รับทรัพยากรผลประโยชน์เม็ดเงิน หรือผลกระทบที่ส่งต่อท้องทะเล เช่น ออกซิเจนที่ใช้หายใจก็มีเปอร์เซนต์ส่วนใหญ่มาจากท้องทะเลและแพลงก์ตอน ทรัพยากรทางทะเลมากมายสามารถเกื้อหนุนให้อุตสาหกรรมประเทศไทยยังอยู่ได้ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การประมงที่สร้างอาชีพให้ผู้คน หรือด้านแหล่งอาหาร”

“แต่อีกทางหนึ่ง พฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างเราก็ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลได้เช่นกัน ปัญหาการจัดการขยะที่หลุดรอดไปสู่ทะเลสุดท้ายแล้วมันก็วนเวียนมาสู่มนุษย์ในรูปแบบไมโครพลาสติกในอาหารที่เรากินเข้าไป พฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำนั้นส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คิด”

ช่างภาพสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเลตั้งคำถามว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะเหลืออะไรให้คนรุ่นต่อๆ ไปและคนเหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไร

“ความหวังในการฟื้นตัวอนาคตอยู่ที่พวกเราทุกคน ผมหวังว่าข้อความในภาพของผมจะทำให้คนบางคนสนใจ และหยุดคิดว่าเราควรใช้ชีวิตอยู่บนโลกอย่างไร”

John Vink ช่างภาพสารคดีชาวเบลเยี่ยมกล่าวว่า ภาพถ่ายไม่ได้ทำอะไรได้มากด้วยตัวของมันเอง มันสามารถให้ได้แค่ข้อมูล ไม่ได้อวดอ้างตัวมันเองว่ามันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนโลกได้ คือ คนที่ได้รับสาส์นจากมันและเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากคนทุกคนร่วมมือกัน คนทุกคนร่วมถึงคนที่ทำงานอนุรักษ์ที่ต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดผลดังที่หวังกันไว้ เกิดภาพที่ต้องการเห็นร่วมกันในที่สุด คุณศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย กล่าวทิ้งท้าย

 


เรื่อง พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร