มหัศจรรย์กวางผาแห่งลุ่มน้ำแม่ตื่น

มหัศจรรย์กวางผาแห่งลุ่มน้ำแม่ตื่น

ความมหัศจรรย์ ที่ว่าคือความสามารถในการเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างปราดเปรียวบนหน้าผาสูงชัน ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศ เเละเรียนรู้สำหรับการอยู่ในโลกที่ดูเหมือนจะหดแคบลง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์

. . .

แดดอ่อนยามสายกับอุณหภูมิยี่สิบองศาฯ ต้นๆ หลังจบจากข้าวต้มควันฉุย บริเวณศาลารับแขกของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

พี่หมาย สัตวบาล ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จัดการข้าวของท้ายรถกระบะ และยกถังน้ำมันที่เตรียมไว้สำหรับเติมน้ำมันเรือขึ้นท้ายรถ ก่อนจะนำพวกเราออกเดินทางไปยัง ‘หน่วยพิทักษ์ป่าผาเวียง’ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 หน่วยพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น

ระยะเวลากว่าสองชั่วโมงบนถนนดินลูกรังวกไปเวียนมาตามแนวเขา เมื่อเเรกสภาพสองข้างทางเป็นพื้นที่เกษตร และทำปศุสัตว์ เมื่อรถวิ่งไปลึกเข้าพื้นที่สองข้างทางก็แปรเปลี่ยนสภาพไปเป็นป่าเต็งรัง

ฤดูนี้ป่าเต็งรังเเทบไม่เหลือใบ ที่พอมีอยู่บ้างก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเเกมน้ำตาล สีสันของป่าในฤดูแล้งก็สวยงามและให้ความรู้สึกที่หลากหลายไปอีกแบบ ส่วนน้ำในลำน้ำแม่ตื่นยังมีอยู่ค่อนข้างเยอะ ตามเส้นทางที่เรามุ่งหน้าไปเป็นช่วงปลายๆของลำน้ำสายนี้ ก่อนที่จะไหลสู่เขื่อนภูมิพล 

สีสันของป่าในฤดูแล้ง
ลัดเลาะลำน้ำแม่ตื่นตลอดทาง
เส้นทางอันคดเคี้ยวยาวไกล

รถยนต์เร่งเครื่องไต่ขึ้นเนิน เบื้องหน้าเป็นป่าเบญจพรรณ ยังคงมีความเขียวสดชื่นให้เห็นอยู่ ผิดกับป่าเต็งรังในช่วงที่ผ่านมาแล้วอย่างลิบลับ ระหว่างทางที่รถยนต์เคลื่อนตัวผ่าน ปรากฏสภาพป่าทั้งสองสลับสับเปลี่ยนกันไปมา

จากทางหลักเส้นนี้ ปรากฎมีทางเเยกอยู่บ้างนานๆ ที ซึ่งเป็นทางไปยังหมู่บ้านต่างๆ และมีสามแยกที่สามารถเดินทางไปได้ถึงสามอำเภอ คืออำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากซึ่งหากไม่สังเกตุดีๆ ก็มีโอกาสที่จะเตลิดออกนอกเส้นทางได้

เกือบเที่ยงเดินทางมาถึงบ้านหินลาด-นาไฮ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก พี่หมายพามารู้จักกับ ลุงโบลิ อดีตเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งลุงโบลิเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีกับกวางผามาอย่างยาวนาน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาลุงโบลิ ได้นำทีมสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เข้าสำรวจเเละนับประชากรกวางผา ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเเม่ตื่น และพบกวางผากำลังว่ายข้ามน้ำบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เเละอุทยานแห่งชาติแม่ปิง 

ทางแยกสำคัญต้องสังเกตให้ดี
เข้าสู่หมู่บ้านหินลาด
ลุงโบลิ นกน้อยภูเขา แห่งหมู่บ้านหินลาด
ถึงแล้ว
บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าผาเวียง

สำหรับลุงโบลิ การเห็นกวางผาว่ายข้ามน้ำอาจเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับเราเองเมื่อได้เห็นรายงานจากทีมสำรวจฯ และเรื่องเล่าจากลุงโบลิ ก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น กวางผา ที่เคยเห็นปีนป่ายหรือยืนสง่าอยู่ตามหน้าผาสูงชัน จะสามารถว่ายน้ำได้

บ่ายจัดเเดดแรงจ้าเราพากันมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่าผาเวียง พี่สัมฤทธิ์ พี่โป๊ะที เเละเจ้าหน้าที่ฯ รอพร้อมกันอยู่ก่อนเเล้ว 

เเละสถานที่เเห่งนี้เองที่พวกเราจะอาศัยพักนอนกันหลังจากนี้

หน่วยพิทักษ์ป่าผาเวียง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเเหลมยื่นออกมาบนผืนน้ำ มีความสูงเหนือระดับน้ำค่อนข้างมาก เพื่อที่ว่าในช่วงน้ำเยอะหน่วยฯจะได้ไม่ถูกน้ำท่วม

ต่ำลงไปจากบริเวณหน่วยฯ มีสภาพเป็นพื้นที่ราบติดชายน้ำ เรือเครื่องลำเล็ก 3-4 ลำ จอดอยู่ริมฝั่ง พี่หมายจัดเเจงเอาถังน้ำมันบนท้ายรถลงมาเติมให้กับเรือ 2 ลำ ที่จะพาพวกเราไปดูพื้นที่อาศัยของกวางผา เเละบริเวณที่พบกวางผาลงมาเพื่อว่ายน้ำข้ามฝั่ง

เรือแล่นออกจากฝั่ง ผืนน้ำกว้างใหญ่อยู่เบื้องหน้า ทิวเขาสูงชันอยู่สองฟากฝั่ง เบื้องหน้าปรากฎแนวเขาสลับซับซ้อนอยู่ลิบๆ เมื่อเรือเเล่นใกล้เข้ามาจึงปรากฎเป็นภูเขาสูงทมึน มองจากตรงนี้หากจะมีกวางผากระโจนออกมาสักตัว มันคงเป็นภาพที่น่าดูชมทีเดียว

บริเวณที่ตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าผาเวียง
เตรียมออกสู่ผืนน้ำกว้าง
ไกลสุดลูกหูลูกตา
เยือนบ้านหลังใหญ่ของเหล่ากวางผา
มีกวางผาออกมาหรือยังนะ

เรือเคลื่อนตัวไปบนผิวน้ำแล้วมาชะลออยู่ท่ามกลางภูเขาที่รายล้อมทุกทิศทาง ความลาดชันของภูเขาสูง 50 องศา – 80 องศา มีสภาพเป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยดินเเละหินแกรนิตเป็นกลุ่มๆจนเกิดเป็นหน้าผา บางพื้นที่มีหินปูนปนกับหินแกรนิตโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณใกล้ลำน้ำแม่ตื่น ต้นไม้นั้นมีการเจริญเติบโตกระจายห่างๆ เป็นป่าเต็งรัง เเละป่าเบญจพรรณ ที่มีไม้ไผ่ซางขึ้นปกคลุมกระจายทั่วพื้นที่ 

จากการสำรวจเเละนับจำนวนกวางผา ของทีมสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ร่วมกับ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น บริเวณดอยผาแดงเเละภูเขาบริเวณสบตื่น ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของกวางผา ครอบคลุมบริเวณทางเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น พบกวางผา จำนวน 33 ตัว 

โดยบริเวณดอยผาแดงพบกว่าผามากที่สุดคือ 30 ตัว ภูเขาตรงกันข้ามกับสบตื่นเเละสบปิง พบจำนวน 3 ตัว นับว่าพบมากเป็นอันดับ 4 ของการสำรวจฯ จากทั้งหมด 11 พื้นที่อนุรักษ์ (พื้นที่ที่พบกวางผามากที่สุดคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จำนวน 100 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จำนวน 66 ตัว เเละ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จำนวน 47 ตัว) ข้อมูลสถานภาพประชากร และการกระจายของกวางผาในประเทศไทย พ.ศ. 2561 

เมื่อมาถึงบริเวณที่แม่น้ำปิง และลำน้ำแม่ตื่นมาบรรจบกันแล้วไหลไปสู่เขื่อนภูมิพล ตรงจุดนี้เป็นพื้นที่รอยต่อของสามพื้นที่อนุรักษ์ อันได้เเก่ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ในช่วงฤดูเเล้งที่ปริมาณน้ำลดต่ำลง ทั้งสามพื้นที่นี้ปรากฎว่ามีกวางผาว่ายน้ำข้ามฝั่งไปมาเพื่อหาแหล่งอาหารที่เพียงพอในฤดูกาลอันโหดร้ายเช่นนี้

อันที่จริงไม่ว่าจะกวางผา หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่าผืนป่ากว้างใหญ่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นมีการแบ่งเขตแดน แต่การเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยไปตามฤดูกาล เพื่อไปหาแหล่งอาหารในผืนป่าใหญ่นั้น นั้นเป็นสิ่งที่เหล่าสัตว์ป่ากระทำมาอย่างยาวนาน 

การเคลื่อนย้ายไปตามผืนป่าต่างๆ ยังเป็นการเเลกเปลี่ยนพันธุกรรมของสัตว์ป่า ลดความเสี่ยงต่อการเลือดชิด เเละเป็นการพัฒนาพันธุกรรมให้แข็งแกร่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาจับจองถิ่นฐานของมนุษย์เพื่อตั้งชุมชน ทำเกษตรกรรม ฯลฯ ทำให้ผืนป่าที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลนั้นถูกตัดขาดออกจากกัน หากจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นคือ ผืนป่า ณ ปัจจุบันนั้น มีลักษณะเหมือนเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย กระจายตัวอยู่ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ สัตว์ป่าจากเกาะหนึ่งหมดหนทางที่จะข้ามออกจากเกาะได้

ที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล็งเห็นปัญหานี้เเละพยายามที่จะเข้าไปเป็นฟันเฟืองเล็กๆในการเเก้ไขปัญหา โดยเป็นการร่วมมือกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เเละสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ในการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเลือดชิดอย่างจริงจัง โดยการนำกวางผาจากการเพาะเลี้ยงที่ผ่านการคัดสรรสายเลือดเเละตรวจโรคอย่างเข้มงวด มาปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 

โดยมีกระบวนการให้กวางผาได้ปรับตัวในกรงปรับสภาพขนาดใหญ่ มีพืชอาหาร ให้กวางผาได้กิน และมีการค่อยๆ ลดปริมาณอาหารเม็ดลง จนท้ายที่สุดก็ไม่ให้อาหารเม็ดอีกเลย ระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่กวางผาอยู่ในกรงปรับสภาพ จะมีเจ้าหน้าที่ฯ คอยเฝ้าเเละสังเกตุพฤติกรรมของกวางผาทุกชั่วโมงโดยจะเตรียมพร้อมอยู่บนหอสังเกตการณ์ เพื่อเก็บข้อมูลใช้ในงานการศึกษาวิจัยพฤติกรรมของกวางผาไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมานั้นเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกวางผามากนัก 

กวางผาจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย
ลูกกวางผาที่เพิ่งคลอดจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย
แหล่งอาศัยของกวางผา ถูกล้อมรอบด้วยชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ต่างจาก กำลังติดอยู่บนเกาะ

เเละจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้เอง พี่หมายได้บอกกับพวกเราถึงผลการตรวจเลือดกวางผาในรอบที่ผ่านมา ปรากฎว่ากวางผาจากพื้นที่แม่ตื่น มีค่าเลือดดีที่สุด ในบรรดากวางผาแต่ละพื้นที่ นั่นหมายถึงว่า กวางผา ที่นี่ห่างไกลจาก ปัญหาเลือดชิด 

สิ่งที่รอลุ้นกันต่อไปคือ ลูกกวางผาที่ได้จากการผสมกันของพ่อเเม่พันธุ์จากพื้นที่แห่งนี้ กับกวางผาจากพื้นที่อื่นๆ จะมีค่าเลือดเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงผลจากห้องแล็บเท่านั้น ส่วนงานหลังจากนี้เราจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

. . .

เรื่องน่ารู้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เเต่เดิมนั้นเป็นป่าเตรียมการสงวนให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าสภาพป่าบริเวณเขตติดต่อระหว่างอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ระมาดจังหวัดตาก เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนมีความชุ่มชื้นมาก มีสัตว์ป่าชุกชุมสมควรประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป 

กรมป่าไม้ โดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่าจึงได้ทำการสำรวจและดำเนินการเพื่อประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เมื่อปี 2521 เนื้อที่ 1,500,000 ไร่ แต่เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นมีเนื้อที่กว้างขวางมาก สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน การคมนาคมไม่สะดวก ยากแก่การติดต่อประสานงาน 

ดังนั้นเพื่อให้การดูเเลพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เเละได้ผลอย่างเต็มที่ ในปี 2526 จึงมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นเดิม ออกเป็น 2 ส่วน คือ

บริเวณที่ดินด้านทิศเหนือ ในท้องที่ อำเภออมก๋อย อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เนื้อที่ 765,000 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 

บริเวณที่ดินด้านทิศใต้ ในท้องที่ตำบลแม่ตื่น ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เนื้อที่ 733,125 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส