ครั้งแรกของโลก นักวิจัยพบพลาสติกจิ๋วในมูลมนุษย์

ครั้งแรกของโลก นักวิจัยพบพลาสติกจิ๋วในมูลมนุษย์

รายงานจากสำนักข่าว the Guardian เผย งานวิจัยชิ้นล่าสุดพบพลาสติกจิ๋วในของเสียจากร่างกายมนุษย์เป็นครั้งแรก เป็นสัญญาณที่น่ากังวลของการปนเปื้อนปลาสติกในห่วงโซ่อาหารซึ่งส่งต่อมายังมนุษย์

การศึกษาดังกล่าวพบพลาสติกขนาดจิ๋ว (Microplastics) ในตัวอย่างอุจจาระของผู้เข้าร่วมวิจัยจากยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น และอีก 8 ประเทศ จากการทดสอบ 10 รูปแบบ คณะวิจัยพบพลาสติกทั้งชิ้น 9 ชนิด เช่น โพลีโพรพิลีน โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต ซึ่งเป็นพลาสติกที่พบได้ทั่วไป ทำให้นักวิจัยคาดว่าอาจมีเม็ดพลาสติกขนาดจิ๋วอีกจำนวนมากตกค้างอยู่ในระบบย่อยอาหารของมนุษย์

“งานชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่หยิบจับประเด็นนี้เป็นชิ้นแรก ซึ่งยืนยันสมมติฐานที่เราคาดเดากันมานานว่าพลาสติกที่เข้าไปปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารจะมีจุดจบอยู่ในท้องของมนุษย์ คำถามต่อไปที่เราจะต้องกังวลคือ การมีอยู่ของพลาสติกเหล่านี้มีผลอย่างไร โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร” Philipp Schwabl หัวหน้าคณะวิจัยจาก Medical University of Vienna

งานศึกษาโดย Environment Agency Austria ประมาณการว่า “ประชากรทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งน่าจะมีพลาสติกปนเปื้อนในอุจจาระ” อย่างไรก็ดี คณะวิจัยก็ยังย้ำว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมจากกลุ่มตัวอย่างที่เพิ่มขึ้นก่อนที่จะสรุปผล

พลาสติกจิ๋วคือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งพบในสินค้าเช่น สารเร่งการผลัดเซลล์ผิว (exfoliant) หรือการย่อยสลายมาจากพลาสติกขนาดใหญ่กว่า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมักพบในขยะพลาสติกในมหาสมุทร

คณะนักวิจัยระบุว่า พลาสติกที่อยู่ในร่างกายเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้เกิดการถ่ายเทของสารพิษ อ้างอิงจากสำนักข่าว the Guardian การคาดการณ์โดย World Economic Forum ระบุว่า มหาสมุทรจะมีน้ำหนักพลาสติกโดยรวมมากกว่าน้ำหนักปลาทั้งมหาสมุทรภายในอีกราว 30 ปีข้างหน้า ทุกๆ ปี จะมีพลาสติกขนาด 8 ล้านเมตริกตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล ตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มเป็น 10 เท่าภายในทศวรรษหน้า หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Researchers Have Found Microplastics in Human Waste for the First Time
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์