สายใยธรรมชาติบนหนังสือภาพของ เมธิรา เกษมสันต์

สายใยธรรมชาติบนหนังสือภาพของ เมธิรา เกษมสันต์

การลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจไม่ใช่การเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ มันอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อาจไม่มีใครสนใจหรือมองเห็น

เพียงแต่เมื่อได้ลงมือทำลงไปแล้วย่อมหมายถึงผลที่จะเกิดตามมาจากสิ่งเล็กไปสู่สิ่งใหญ่จากหนึ่งไปสู่สองและค่อยทวีคูณขึ้นเมื่อผ่านนานวัน

เพราะทุกอย่างล้วนเกี่ยวโยงถึงกันหมด

เช่นเดียวกับเรื่องราวในหนังสือสายใยที่มองไม่เห็น ของคุณเมธิรา เกษมสันต์ เจ้าของเพจ Nature Toon และหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเธอ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของธรรมชาติ สรรพสัตว์ หลากหลายชีวิต ให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนสัมพันธ์จนไม่อาจแยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกจากกันได้

และจุดเริ่มต้นของการทำหนังสือเล่มนี้ก็มาจากความคิดอันแสนเรียบง่าย

 

เมธิรา เกษมสันต์ เจ้าของแฟนเพจ Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ / PHOTO facebook May Ka

 

มันยากในการจะบอกว่าเราเริ่มต้นชอบธรรมชาติตอนไหน สมัยเด็กชอบธรรมชาติ สัตว์ ต้นไม้อยู่แล้ว บ้านเราอยู่ในกรุงเทพฯ มีต้นไม้บ้าง ในโรงเรียนก็ต้นไม้เยอะ จำได้ว่าสมัยนั้นเวลาต้นไม้ถูกตัดเราจะเสียใจ มันสะกิดภายในใจความรู้สึกของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้มีคิดหรือลงมือทำอะไร

แรงบันดาลใจเกิดขึ้นตอนได้อ่านหนังสือมากขึ้น อย่างหนังสือต้นไม้ใต้โลก ของพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน เล่าถึงคนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมและช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง และหมอหม่อง นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่เป็นนักดูนกผ่านการฟังคลิปเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ ฟังแล้วมันสนุก โดนใจ เหมือนได้ฟังนิทาน ก็เลยทำให้สนใจมากขึ้น จุดประกายให้เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันน่าสนใจ

ความรู้ที่สะสมไว้เรื่อยมาทำให้เธอแอบคิดอยู่เสมอว่าจะมีทางไหนที่ตัวเองสามารถทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

สุดท้ายคำตอบของเธอจึงมาลงเอยที่…

เราต้องทำในสิ่งที่เราทำได้

เธอเล่าว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่ตัวเองก่อน

สิ่งที่เน้นมากคือทำอย่างไรให้ชีวิตเราสร้างขยะน้อยที่สุด อย่างใช้วิธีพกแก้วน้ำ พกหลอด เวลาไปซื้อของก็ไม่เอาถุงพลาสติก ถ้ารู้ว่าซื้อเยอะก็เอาถุงไปเอง เรื่องการประหยัดพลังงานประหยัดไฟฟ้าเราก็ประหยัดอยู่แล้ว รวมถึงการเดินทางที่ใช้รถจักรยานและรถสาธารณะ

สิ่งที่เธอเล่าสอดคล้องกับภาพแรกเมื่อพบเจอกันก่อนพูดคุย เจ้าของเพจ Nature Toon สวมเสื้อยืดลายนกเงือกสีสดใสยื่นมือรับแก้วน้ำพร้อมหลอดประจำตัวจากพนักงานหลังบรรจุเครื่องดื่มที่หน้าเคาท์เตอร์ของร้านกาแฟ ให้ความรู้สึกว่า เธอคนนี้ช่างกรีนจริงๆ

จนเมื่อมีโอกาสมากขึ้น สิ่งที่ทำก็ค่อยๆ เพิ่มตามมา จุดเปลี่ยนของคุณเมธิราเกิดขึ้นหลังการเข้าทำงานเป็นนักเขียนที่นิตยสาร ฅ.คน และมีโอกาสวาดภาพประกอบคอลัมน์เกร็ดความรู้ชื่อกระจิบน้อยร้อยเรื่องโลกเธอใช้นกกระจิบตัวน้อยบินไปเล่าเรื่องราวต่างๆที่พบเจอให้แก่ผู้อ่านได้รับรู้

จริงๆ เป็นคนวาดรูปห่วยมาก ตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องวาดภาพประกอบรายงาน ก็จะเปิดภาพต้นแบบในห้องสมุดแล้ววาดตาม เราก็เลยพยายามวาดจากต้นแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ เวลาทำงานก็พยายามเปิดภาพจากอินเทอร์เน็ทเอามาเป็นต้นแบบ

 

 

กระจิบน้อยร้อยเรื่องโลกอาจไม่ใช่คอลัมน์ที่เด่นดังของนิตยสาร ฅ.คน หรือบางทีอาจจะสงสัยว่ามีคอลัมน์นี้อยู่ด้วยหรือ เพราะกระจิบน้อยร้อยเรื่องโลกมีโอกาสตีพิมพ์อยู่เพียงไม่กี่ฉบับนิตยสาร ฅ.คนก็ปิดตัวลงแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวจะต้องจบตาม

จากไอเดียบนหน้ากระดาษจึงขยับขยายมาสู่โลกออนไลน์ กลายเป็นแฟนเพจ Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ ที่วันนี้มีผู้ติดตามกว่าห้าหมื่นคน

มันมาจากความรู้สึกว่าไม่อยากให้คนทำลาย

คุณเมธิรา ขยายความถึงการทำงานบนเพจ Nature Toon ว่า เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดออกไปนั้นมีต้นทางมาจากงานวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ ซึ่งการสื่อสารหลากหลายเรื่องราวผ่านแฟนเพจมักเกิดจากการตั้งคำถาม ก่อนนำไปสู่การหาข้อมูล และพยายามย่อยข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นคำตอบ บอกเล่าผ่านวิธีการที่เธอว่าน่าสนใจ และจะช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายกว่าการไปหาอ่านบทความหรืองานวิจัย

ประเด็นที่นำเสนอก็มาจากสิ่งที่เธอสนใจนั่นคือเรื่องของระบบนิเวศความเกี่ยวข้องกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆ

การจะสื่อสารออกมามันต้องมีเหตุผลมากกว่าการที่เราไม่อยากให้เสือหายไป ต้องให้เหตุผลว่าทำไมเสือจึงไม่ควรหายไป นกไม่ควรหายไป หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ถึงไม่ควรหายไป หากมันหายไปมันมีผลกระทบอย่างไรต่อไป

ความสนใจใคร่รู้ในเรื่องราวสรรพชีวิตทำให้แต่ละเรื่องเล่าบนเพจ Nature Toon เต็มไปด้วยความน่าสนใจ ตื่นตา จากผู้อ่าน ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับที่ผู้สร้างผลงานได้รับรู้

เวลาไปหาข้อมูลเพื่อตอบคำถาม ก็จะเจอสิ่งที่ทำให้รู้สึกว๊าวหรือไม่ก็เห้ย! มันมีแบบนี้ด้วยเหรอเช่น หมูป่าเป็นนักพรวนดิน ช้างเป็นนักบุกเบิกดินโป่ง ถ้าไม่มีช้างสัตว์อื่นก็จะกินดินโป่งไม่ได้ และหากหมาป่าหายไป ระบบนิเวศเปลี่ยนเลยเธอเล่าอย่างตื่นเต้น

 

 

สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ สัตว์แต่ละตัวเกี่ยวข้องกันอย่างไร และสัตว์เหล่านั้นมันย้อนกลับมาสู่เราอย่างไร เหมือนกับชีวิตประจำวันของเราพึ่งพาสัตว์และธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ทั้งอากาศที่เราหายใจมากกว่า 50% ของออกซิเจน มีที่มาจากแพลงก์ตอนพืชในทะเล ซึ่งการมีแพลงก์ตอนอยู่ในทะเลได้ต้องมีสัตว์ต่างๆ ทำให้วงจรมันสมบูรณ์อย่างวาฬที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร มันก็จะขี้ออกมาเป็นปุ๋ยให้แพลงก์ตอน หรือชายฝั่งที่ไม่ถูกกัดเซาะก็เพราะว่ามันมีแนวปะการังที่เป็นตัวช่วยกันคลื่น ป่าชายเลนก็กันคลื่น ยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากที่เราได้รับบริการจากธรรมชาติ

รวมถึงเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตว่ามีความสำคัญอย่างไร เช่น ทำไมต้องมีผึ้งหลายสายพันธุ์ ถ้ามีสายพันธุ์เดียวจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่มีพืชชนิดเดียว นกชนิดเดียว ปะการังชนิดเดียวไปเลย การที่สัตว์ชนิดหนึ่งหายไปมันจะส่งผลอย่างไร คำว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวมันมีความหมายว่าอย่างไร สัตว์ชนิดต่างๆ หายไปจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีกรณีศึกษาหรือเหตุการณ์เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดๆ สิ่งพวกนี้เป็นเรื่องที่เราอยากนำมาถ่ายทอด

มันมาจากความรู้สึกว่าไม่อยากให้คนทำลาย สมมุติมีข่าวจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะมีคำถามว่าสร้างแล้วเสือหายไปแล้วไง ทำไมคนจึงต้องห่วงเสือ ห่วงสัตว์ป่ามากกว่าห่วงคน หรือนกหายไปแล้วไง ห่วงนกมากกว่าห่วงคนหรือ ซึ่งมันไม่ใช่

เธอให้เหตุผลว่า เพราะการดูแลรักษาธรรมชาตินั้นหมายถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของเราเอง

มันเหมือนเป็นการคัดค้านอย่างหนึ่ง แต่มิใช่ว่าเป็นการคัดค้านโดยตรง เราต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงสำคัญ ตอนหาข้อมูลอ่านมันน่าสนใจและสนุกมาก บางทีต้องอ่านเยอะมาก ซึ่งบางครั้งอาจจะมีหนึ่งย่อหน้าหรือไม่กี่ประโยคที่โดนใจและที่เหลืออาจจะน่าเบื่อหน่อยก็พยายามดึงความน่าสนใจแต่ละจุดมาสื่อสารมาเล่าด้วยวิธีของเรา

ทั้งหมดที่เธอเล่าก็เพื่อให้เราได้มองเห็นถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็น

 

 

เราอาจไม่รู้หรอกว่าชีวิตของเราเกี่ยวข้องอย่างไรกับสัตว์ที่อยู่ในป่านกเงือกเกี่ยวกับอะไรกับน้ำที่ไหลออกจากก๊อกหรือค้างคาวเกี่ยวอะไรกับทุเรียนที่เรากินแมลงปอเกี่ยวอะไรกับข้าวในจานกาแฟที่เราดื่มเกี่ยวอะไรกับผึ้งหรือวาฬเกี่ยวกับโลกร้อนอย่างไรยาที่ซื้อตามร้านขายยาเกี่ยวข้องอย่างไรกับดอกไม้ดอกหนึ่งในป่าเขตร้อนที่ห่างไกลจากเราหลายพันกิโลเมตรแต่นั่นแหละคือสายใยที่เชื่อมเราเข้าไว้ด้วยกัน

สายใยที่มองไม่เห็น The invisible services from nature” คือนิเวศบริการที่เราได้รับจากธรรมชาติ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าสัตว์ต่างๆ ทำหน้าที่ให้เราฟรีโดยไม่คิดค่าจ้างสักบาทเดียว   

สายใยบางๆ ที่ซ่อนเร้นหลังแสงแดดอ่อน ประกายวิบไหวในเกลียวคลื่น แมกไม้ ชายป่า โอบอุ้มและผูกสายใยของสรรพสัตว์ สรรพชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน ดังเช่นเจ้าของเพจ Nature Toon  อธิบายคำกล่าว “We need them to survive, but they don’t need us at all” ของ  Edward O. Wilson ไว้ว่า

 

เราอาศัยสัตว์ต่างๆ ในการดำรงชีวิต เราพึ่งพาสัตว์ต่างๆ โดยที่สัตว์ไม่ได้ต้องการเราเลย ซึ่งต่อให้มนุษย์หายไปจากโลกพวกเขาก็อยู่ได้ แต่ถ้าเกิดพวกเขาหายไป เราอยู่ไม่ได้

 

จะเห็นได้ว่ามนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาบริการจากธรรมชาติอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จะดีกว่าไหมหากใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และทำร้ายสิ่งเหล่านี้ให้น้อยที่สุด โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว เพราะท้ายที่สุดแล้วธรรมชาติก็จะย้อนคืนมาในรูปแบบของการบริการต่างๆ ทั้งน้ำ อากาศ อาหาร และอื่นๆ ที่หวนคืนมาสู่มนุษย์

 

สั่งซื้อหนังสือ สายใยที่มองไม่เห็น ได้ทางเฟสบุ๊ค Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ

 


เรื่อง / ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร