ผ้าทอจอมป่า สายใยความผูกพันแห่งชีวิต

ผ้าทอจอมป่า สายใยความผูกพันแห่งชีวิต

เส้นใยฝ้าย (Cotton) คือ เส้นใยเก่าแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาแต่สมัยโบราณ สิ่งที่บ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์มีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมายาวนาน

มนุษย์มีกรรมวิธีในการผลิตเสื้อผ้า โดยการนำวัสดุธรรมชาติ เช่น วัสดุจากสัตว์ วัสดุจากพืช แร่ธรรมชาติ และฝ้าย ขึ้นมาสานทอจนเป็นเนื้อเดียวกัน นำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ

สมัยโบราณการผลิตผ้าขึ้นมาใช้แต่ละผืนมีความยากลำบาก โดยสิ่งที่นิยมใช้กันในสมัยนั้นคือ ฝ้าย และใช้เทคนิคการผลิตด้วยการ ทอ ซึ่งองค์ประกอบในผลิตผ้าทอนั้น ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ 1) องค์ประกอบ ได้แก่ ผ้า, เส้นพุ่ง, เส้นยืน, ด้าย, ดิ้น 2) เทคนิค ได้แก่ ขิด, ยก, จก, มุก, มัดหมี่, บาติก 3) เครื่องมือ ได้แก่ กี่, กระสวย, ตะกอ, ฟืม, กระสม และ 4) กี่ทอผ้า ได้แก่ กี่กระตุก, กี่กระทบ, กี่ม้ง, กี่เอว

กว่าจะได้ผ้าทอขึ้นมาใช้แต่ละผืนไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการมากมาย โดยบทความนี้จะหยิบยกส่วนของการทอผ้าแบบกี่เอว ภายใต้โครงการผ้าทอจอมป่า กิจกรรมเพื่อสืบสานวิถีชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก ของมูลนิธิสืบนาคะสะเสถียร ที่นำเอาความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมานำเสนอ ซึ่งการทอผ้าด้วยวิธีนี้มีให้พบให้ตามชุมชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ส่วนกรรมวิธีการทอผ้าด้วยกี่เอว ผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลัง ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซี่เล็กๆ สอดด้ายพุ่ง และใช้ไม้แผ่นกระแทกเส้นด้ายให้แน่น จึงเกิดเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

 

 

นางสาวพัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ ผู้ดูแลโครงการกล่าวถึงที่มาของ ‘ผ้าทอจอมป่า’ ว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 จากการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ลงพื้นที่เข้าไปทำงานในชุมชนบริเวณผืนป่าตะวันตกพื้นที่ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แล้วพบเห็นว่าชาวบ้านมีการทอผ้าใช้กันอยู่แต่เดิมในชุมชน ซึ่งผ้าที่เกิดมาจากฝีมือของชาวบ้านผสมกับภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ดำรงชีวิตแบบพอเพียงของชาวกระเหรี่ยง มีวิถีชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สิ่งหนึ่ง คือ มีการเพาะปลูกต้นฝ้าย ปั่นฝ้าย ดึงเส้นด้าย ย้อมด้าย และ ทอผ้าเอง ทุกอย่างทำด้วยมือ ก่อให้เกิดผลงานผ้าทอที่สวยงามประณีต ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสืบฯ จึงมองเห็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง มีรายได้พอยังชีพ จากการผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายโดยที่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการกองทุนได้เอง นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของคน ป่า และสัตว์ป่า ตามแนวคิดที่ว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้”

ขณะที่ชุมชนที่ทอผ้าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางตอนนี้มีจำนวน 6 หมู่บ้านคือ บ้านกุยเลอตอ กุยเคล๊อะ พอกะทะ มอทะ หม่องกั๊วะ และบ้านกล้อทอ ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะออก มี 4 หมู่บ้านคือ บ้านแม่จันทะเก่า บ้านทิบาเก บ้านตะละโค่ง บ้านช่องแปะ ซึ่งตอนนี้ได้ขยายไปยังชุมชนอื่นในพื้นที่อุ้มผางรวมถึงรอบป่าตะวันตก 6 จังหวัดที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรลงพื้นที่ทำงาน ทั้งนี้พื้นที่ทำงานหลักในปัจจุบันอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตป่าอุ้มผาง

สำหรับการทำงานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง จากภายใต้โครงการผ้าทอจอมป่า… สืบสานวิถีชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก ผลักดันไปสู่โครงการพัฒนาวิสาหกิจผ้าทอพื้นเมืองในป่าตะวันตก เพื่อเสริมศักยภาพสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผ้าทอให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถสร้างสรรค์ออกแบบ พัฒนาเทคนิคและวิธีการทอผ้าเพิ่มเติม รวมถึงสร้างอาชีพส่งเสริมให้เยาชนคนรุ่นใหม่สืบทอดศิลปะการทอผ้าจากคนรุ่นหลัง

 

 

“ปัจจุบันนี้ลูกหลานชุมชนได้เข้าไปสู่ระบบการศึกษา และรับวัฒนธรรมจากสิ่งที่มาจากนอกชุมชน หนุ่มสาวในปัจจุบันนี้ ส่วนมากไม่สามารถทอผ้าได้เอง ไม่รู้จักต้นฝ้าย ไม่รู้จักวิธีการปั่นฝ้าย หากคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักต้นฝ้าย ก็เท่ากับไม่รู้จักธรรมชาติ แล้ววันหนึ่งก็คงจะไม่รู้จักว่าตัวเขาเองคือคนกะเหรี่ยง ที่มีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างไร”

ด้านผลตอบรับของผ้าทอจอมป่า ผู้ดูแลโครงการกล่าวว่า ในตอนนี้ถือว่าค่อนข้างอยู่ในระดับที่ดี เพราะด้วยการที่เรามีความจริงใจกับลูกค้า ถ้าสินค้ามีตำหนิตรงไหน จะบอกกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจในการเลือกซื้อ ซึ่งลูกค้าที่ซื้อส่วนมากจะชมว่ามีคุณภาพ สำหรับผู้ที่สนใจผ้าทอจากฝีมือของชาวบ้านชุมชนบริเวณผืนป่าตะวันตก ปัจจุบันช่องทางการขายผ้าทอจอมป่ามีอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1 ขายออนไลน์ และ 2 ขายส่งตามจำนวนสั่งซื้อ

ในระยะยาวแน่นอนว่าผ้าทอจอมป่าจะขาดตลาด เพราะส่วนกำลังการผลิตในช่วงต้นปีพบว่ากำลังผลิตไม่เพียงพอต่อการขาย เนื่องจากว่าโครงการนี้เป็นเพียงการเสริมรายได้ให้กับชุมชน เป็นกิจกรรมที่ผู้ทอทำในเวลาว่างจากอาชีพหลัก ซึ่งก็คือการทำไร่เพาะปลูก

อย่างไรก็ตามทางโครงการได้ตั้งเป้าหมายให้ชาวบ้านต้องทอผ้าให้ได้คนละ 1 ผืนต่อ 1 เดือน ซึ่งหากเทียบกับความต้องการซื้อแล้วถือว่าผลิตได้น้อย ไม่ตรงตามแผนงานที่ตั้งไว้ ด้านการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น จะทำการหาเครือข่ายเพิ่มเติมเพื่อขยายสู่ชุมชนในป่าตะวันตกให้ไปเชื่อมกับกลุ่มผ้าทอใหญ่ๆ ที่มีสินค้าขึ้น OTOP และมีกำลังผลิต ทั้งนี้ถ้าหากมีการสั่งซื้อจำนวนมาก กลุ่มผ้าทอจอมป่าก็จะติดต่อกับเครือข่ายในการผลิตผ้าทอให้เพียงพอในการขาย

 

 

นอกจากการแก้ปัญหาเบื้องต้น ยังมีการวางแนวทางในอนาคตเนื่องจากผ้าทอจอมป่าเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และอยู่ในช่วงการขึ้นทะเบียน OTOP ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขาย เพราะทำให้ผู้ซื้อจะสามารถรับรู้ว่าที่มาของผ้าทอจอมป่านั้นมาจากฝีมือของคนในชุมชนบริเวณผืนป่าตะวันตก

สายใยความผูกพันแห่งชีวิตและเส้นใยฝ้าย บทสรุปของผ้าทอจอมป่า สินค้าจากป่าสู่เมือง ช่วยให้ชุมชนกลับมาใช้ วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นมิตรกับป่า มีการปลูกต้นฝ้ายเอง มีรายได้พอเพียงสำหรับยังชีพในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตลดการเบียดเบียนป่า สัตว์ป่า เกิดการพึ่งพา และหมุนเวียน รายได้ในชุมชน เยาวชน หนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ได้สืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะขาดหาย ไม่ต้องไปขายแรงงานในเมือง คนในชุมชนมีความรักและภาคภูมิใจ ในหมู่บ้าน และชาติพันธุ์ ของตนเอง ก่อให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความรัก สร้างความสามัคคี มีความซื่อสัตย์ต่อชุมชนและสังคม

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านการเรียกเก็บเงินผ่านบัตรเครดิต

 


เรื่อง อาคม พรรณนิกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร