“เมืองจมฝุ่น” มรดกที่เราทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ถกเรื่องเมืองกับ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ นักภูมิศาสตร์เมือง UddC

“เมืองจมฝุ่น” มรดกที่เราทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ถกเรื่องเมืองกับ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ นักภูมิศาสตร์เมือง UddC

การเริ่มต้นวันใหม่ในแต่ละวันของคุณเป็นแบบไหนบ้าง ?  หากการเริ่มต้นวันใหม่ของคุณคือการหยิบโทรศัพท์มือถือและเข้าไปที่แอพเฟซบุ้ก เพื่ออัพเดทข่าวสารในแต่ละวันนั้น เราก็คงไม่แตกต่างกัน 

ในเช้าวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันที่หน้าไทม์ไลน์ของผู้เขียนเต็มไปด้วยกระแสข่าวฝุ่น PM2.5 ในใจก็เริ่มสงสัยแล้วว่า “นี่มาอีกแล้วหรอ” เราเพิ่งจะผ่านช่วงเวลานั้นเพียงไม่กี่เดือนเองนะ ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งจะมีข่าวทางโซนภาคเหนือของไทย และในช่วงต้นปี กรุงเทพฯ ก็ต้องกลายเป็นเมืองจมฝุ่นอยู่หลายสัปดาห์

ความสงสัยเรื่องฝุ่น PM2.5 เริ่มเกิดขึ้นในความคิดของผู้เขียน เพราะเหตุใดคนในประเทศนี้ถึงต้องเจอกับสภาวะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสเรื่องฝุ่น PM2.5 ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น แต่การหลีกหนีจากสภาวะนี้ก็เหมือนจะริบหรี่ลงทุกวัน เมื่อรัฐบาลทำได้เพียงฉีดน้ำป้องกันฝุ่น PM2.5 จากตึกใบหยก บ้างก็สั่งห้ามการก่อสร้างรถไฟฟ้า บ้างก็สั่งรถฉีดน้ำออกมาล้างถนน รวมไปถึงการสั่งตรวจจับรถควันดำ แต่พอหันกลับไปมองรถเมล์ขนส่งสาธารณะแล้วควันดำพุ่งยิ่งกว่าจมูกพิน็อคคิโอ

ประเทศไทยประสบปัญหานี้มานานหลายปี แต่มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างจริง ๆ จัง ๆ เมื่อปี 2554 ซึ่งจะถูกเก็บเป็นรายชั่วโมงและนำมาหาค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นในระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อนำมาเทียบกับค่ามาตรฐานและจัดทำเป็นดัชนีคุณภาพอากาศต่อไป ขณะที่สถานีตรวจวัดฝุ่นจิ๋วที่เป็นทางการของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในกรุงเทพฯ มีเพียง 6 สถานีเท่านั้น (ไม่นับรวมเครื่องตรวจวัดอื่น ๆ ทั้งแบบชั่วคราวและไม่เป็นทางการ) คือ เขตพญาไท เขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนพระรามสี่ ริมถนนลาดพร้าว และริมถนนอินทรพิทักษ์ พื้นที่เหล่านี้จัดเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเรื่องของฝุ่นจิ๋ว 

ข้อมูลนี้ผู้เขียนได้จากการพูดคุยกับคุณต่อ นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ฝ่าย Urban intelligence และยังเป็นนักภูมิศาสตร์เมือง ผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการการพัฒนาเมือง และผู้ที่จะมาตอบข้อสงสัยของผู้เขียนที่ว่า กรุงเทพฯ จะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นเมืองจมฝุ่นได้หรือไม่ ?

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ฝ่าย Urban intelligence และนักภูมิศาสตร์เมือง

ฝุ่น PM2.5 กับกระแสดราม่าเมื่อปี 61 

ความจริงประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ เป็นประเด็นที่มันเกิดขึ้นและเกิดซ้ำเรื่อย ๆ ที่มันเป็นปัญหาหนัก ๆ คือเกิดดราม่าเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา แต่จริง ๆ แล้วมลพิษด้านอากาศมันเกิดขึ้นมายาวนานและส่งผลกระทบทั้งระยะยาวและระยะสั้น

สิ่งที่ทำให้เกิดดราม่าคิดว่าเป็นความเข้าใจไม่ถ่องแท้ทั้งคนเสพข่าวและคนส่งสาร คุณภาพอากาศความจริงแล้วที่เขากำหนดทั่วโลกมีอยู่ 8 ตัว ในที่นี้หมายความว่าสิ่งที่เราหายใจเข้าไป 1 ครั้งมันมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง มันมีโอโซน ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตะกั่ว และสิ่งที่หลงเหลือนอกจากนั้นคือฝุ่นละอองขนาดใหญ่ (TST) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM.10) แล้วก็ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5)

เราเพิ่งมีการเก็บค่า PM2.5 ตั้งแต่ปี 54 ค่ามาตรฐาน PM2.5 หรือค่า AQI (ค่าเปรียบเทียบมาตรฐาน) จะเก็บ 6 ตัวคือ โอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตะกั่ว PM10 และ PM2.5 แต่ละตัวมีค่าความอ่อนไหวที่จะกระทบต่อสุขภาพต่างกัน ดังนั้นมันจึงมีรอบที่เขาเก็บ หรือตัวชี้วัดต่างกัน ตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดของไนโตรเจนอ็อกไซด์ จะเก็บเฉลี่ยแบบ 1 ชั่วโมง แปลว่ากระทบต่อการดำเนินชีวิตค่อนข้างจะเรียลไทม์ พอมีการเปลี่ยนแปลงก็จะได้รับผลกระทบทันที แต่ของ PM10 หรือ PM2.5 ผลกระทบมันระยะยาว การตรวจวัดค่า PM2.5 ในปัจจุบันเราพิจารณาแบบราย 24 ชั่วโมงกับราย 1 ปี จะเห็นได้ว่าความอ่อนไหวของการเก็บมันส่งผลกระทบที่ต่างกัน เรารับ PM2.5 เป็นเวลา 2 วัน มันอาจจะไม่เป็นมะเร็งมันต้องใช้เวลายาวนานราว 5-10 ปี ถึงจะทำให้เป็นมะเร็งได้

สิ่งที่มันเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วมันเกิดจากปัญหาในระดับของภูมิกาศ หย่อมความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเคลื่อนมาพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีลักษณะอากาศที่มันสงบนิ่ง ไม่ค่อยเคลื่อนไหว มันจึงเป็นตัวพีคที่ทำให้คนมองเห็นชัดว่ามันมีกลุ่มควัน ทำให้ทัศนะวิสัยมองเห็นไม่ค่อยชัด คนก็เริ่มตื่นตระหนกว่ามันมีค่าสูง ความจริงแล้วมันมีค่าพวกนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่สิงที่ทำให้ตาเรามองเห็นมันจะยิ่งกระตุ้นให้คนเริ่มตระหนักและวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ปี 2556 ถึงแม้จะเป็นปีที่รุนแรงมาก ๆ แต่ในปี 2561 เป็นปีที่อากาศหนาวมันทำให้เห็นหมอกควันได้ชัดเจนคนจึงตื่นตระหนกมากกว่าทุกปี

 

ฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานสอดคล้องกับความเป็นเมือง

จากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษจะเห็นว่า 3 จังหวัดที่มีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานสูงสุดจะสอดคล้องกับความเป็นเมือง คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และเชียงใหม่  แต่ในระยะของการเกิดหรือสาเหตุของปัญหาก็จะแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ อย่างกรุงเทพฯ ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นเรื่องของรถยนต์ ท่อไอเสียต่าง ๆ ส่วนเชียงใหม่ก็อาจจะเป็นปัญหาสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และเรื่องของการเผาไหม้วัชพืช เผาป่า หรือตอซังข้าว

ฝุ่น PM2.5 กับ 2 สาเหตุหลักที่ยากต่อการแก้ปัญหา

1. แหล่งที่มาหรือแหล่งกำเนิดของสารพิษ
2. สภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ

ข้อเสนอของนักวิชาการหรือคนทั่ว ๆ ไปจะเสนอให้แก้ข้อแรกเพราะข้อที่ 2 มันแก้ยากมาก PM2.5 มันมักจะเกิดในสภาพอากาศแบบปิด อากาศสงบลมนิ่ง แล้วก็เกิดต่างกันด้วย เช่น เชียงใหม่ก็จะทวีความรุนแรงประมาณเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ประกอบกับแหล่งที่มาของสารพิษคือคนเริ่มเผา ส่วนในกรุงเทพฯ ก็จะเกิดในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม

สิ่งที่เขาชี้ให้เห็นในรายงานของ อ.ศิริมา (รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) บทความ Thaipublica เขาบอกว่าความจริงแล้วเรารู้อยู่แล้วว่าทีมาของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มันมาจากตัวควันรถยนต์กับการจราจร นอกจากนั้นอาจจะมีบ้างที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากข้างนอก เช่น การปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาในที่โล่ง

ความเร็วของรถมีผลโดยตรงต่อการปล่อยฝุ่นทุกขนาด ถ้ารถวิ่งเร็วอัตราการปล่อยตัว PM ต่อระยะทางจะน้อยกว่ารถที่วิ่งช้า แปลว่ายิ่งรถติดมากก็จะมี PM2.5 เยอะขึ้น พอจราจรมันติดขัดก็จะยิ่งทวีความรุนแรง สิ่งที่เขาเสนอคือ 1.ลดควันพิษจากรถยนต์ 2.ห้ามจอดในที่ห้ามจอด หรืออนุญาตให้วิ่งบนท้องถนนวันคู่วันคี่ตามป้ายทะเบียนรถ แต่อันนี้ไม่ได้ถูกการยอมรับในประเทศไทย 

แต่การที่บอกว่าให้คนงดออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านอาจจะดูไกลตัวไป เพราะทุกคนต้องออกมาทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นการประกาศให้ใช้หน้ากากก็ดูเป็นการป้องกันไม่ใช่การแก้ปัญหา 

ทางออกของคนเมืองกับสภาวะ “เมืองจมฝุ่น”

ต้องพยายามแก้ปัญหาตัวต้นเหตุควันจากรถยนต์ ดังนั้นการส่งเสริมเรื่องการใช้โดยสารสาธารณะ การใช้รถไฟฟ้าน่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อเมืองในระดับการบริหารจัดการ

การจัดให้การเดินทาง หรือ Movement mobility ในเมือง เช่น การเดิน-จักรยานที่เป็นระบบมากขึ้น ขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า อันนี้ก็เป็น 2 อย่างที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดของกรุงเทพฯ นอกจากนั้นแล้วอาจจะแตะเรื่องการบูรณาการเรื่องการทำผังเมืองรวม เรื่องการจัดการปัญหาปัญหาสิ่งแวดล้อมมลพิษเข้าไปสู่การวางหรือการจัดทำผังเมืองรวม ดูปัญหาสืบเนื่องที่ทำให้เมืองไม่สามารถเป็นเมืองที่ยั่งยืน หรือสามารถทำให้คนอยู่ดีกินดีได้ 

นอกจากนั้นอาจจะมีมาตรการเชิงบังคับ มาตรการเชิงภาษีที่จะเก็บอย่างจริงจังกับคนที่ก่อมลพิษ คนที่ก่อมลพิษเป็นคนจ่าย นอกจากภาษีรถยนต์มันอาจจะต้องเป็นการเก็บภาษีแบบโต้ง ๆ ไปเลย ภาษีปล่อยควันพิษ หรือกับโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าคุณใช้คุณก็ต้องจ่ายตรงนี้ มันอาจจะทำให้คนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นก็ได้ หรือคนที่เดิน ขี่จักรยานก็ต้องได้ผลตอบแทนอะไรบางอย่างเป็นกำไร

กรุงเทพฯ จะสามารถหลีกหนีจากสภาวะ “เมืองจมฝุ่น” ได้หรือไม่ ?

คำถามปิดท้ายที่ผู้เขียนถามคุณอดิศักดิ์ เมื่อสิ้นคำถามเขาก็ตอบกลับมาว่า 

“ถ้าไม่เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จะทำอย่างไรให้ระบบขนส่งสาธารณะมันชนะรถยนต์ส่วนบุคคล”

ถ้าพูดในเชิงผังเมืองมันเป็นสิ่งที่ไกลตัวมาก ๆ มันคือต้นของสาเหตุว่าทำไมคนถึงใช้รถยนต์ เช่น แหล่งงานกระจุกตัว ที่ทำงานไกล หรือแม้แต่ค่าเดินทางที่มันแพงมาก ๆ การใช้รถยนต์ส่วนตัวอาจจะสะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

เวลาล่วงเลยมา 8 ปี นับตั้งแต่ที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับฝุ่น PM2.5 เมื่อปี 2554 แต่กลับไม่มีรัฐบาลไหนออกมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียที มีเพียงมาตรในการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

การสิ้นสุดของปัญหาจะวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ปีหน้าฟ้าใหม่ PM2.5 ก็จะกลับมาอีก กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองจมฝุ่น หากกรัฐบาลไม่มีแผนในการแก้ปัญหาในระยะยาว รวมไปถึงประชาชนอย่างเรา ๆ ที่เเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ที่ยังคงดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ 

 


บทความ/ภาพ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร