ข่าวสารแวดวงพิทักษ์ป่า ประจำเดือนกันยายน 2563

ข่าวสารแวดวงพิทักษ์ป่า ประจำเดือนกันยายน 2563

1

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับเชิญให้ไปเล่าเรื่องราวของงานพิทักษ์ป่า เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร และบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในการรักษาป่าผืนใหญ่ ในรายการ ซูเปอร์หม่ำ “Super Mum” ซึ่งออกอากาศทางช่อง เวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 ในวันที่ 22 กันยายน 2563 ผ่านการพูดคุยระหว่าง หม่ำ จ๊กมก กับ ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษามูลนิธิสืบฯ และสร้อยเพชร  มุสิกะชาติ เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าหญิงแห่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

2

กิจกรรม ONLINE – กิจกรรถ่ายทอดสด งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง’ในช่วงกิจกรรมรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร งานพิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำจัดทำสื่อ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของ “ผู้พิทักษ์ป่า” ผ่าน 2 คลิปวีดีโอ คือ 1) การแสดงดนตรีของวง “พยัคฆ์ไพรใจดี” ที่เป็นการสื่อสารสื่อสารเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมผ่านเสียงเพลงและสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมขาติ

2) เรื่องราวการทำงานและความเสียสละของผู้พิทักษ์ป่าที่ทำงานอุทิศตน เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยกายใจที่อุทิศชีวิต สืบทอดเจตนาของ สืบ นาคะเสถียร ผ่านวีดีโอ “Spirit of the jungle” บทบาทคนเฝ้าป่าแห่งห้วยขาแข้ง สามารถรับชมได้ ซึ่งเผยแพร่ในส่วนหนึ่งของ ONLINE – กิจกรรถ่ายทอดสด งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ‘การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง’ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

3

งานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีแนวคิดที่จะใช้บทเพลงเพื่อสื่อสารเรื่องราวของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ผ่านศิลปินผู้มีชื่อเสียง โดยตัวแทนจากมูลนิธิฯ นำโดย คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิฯ และ หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ เข้าไปพูดคุยเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่ากับ วงนั่งเล่น เพื่อให้ทางวงถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงในสไตล์ของวงนั่งเล่นเอง 

โดยเมื่อช่วงงานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียรที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯได้เผยแพร่ผลงานเพลง คนเฝ้าป่า ในส่วนหนึ่งของสารคดีสั้น “Spirit of the jungle” และ ลงใน YouTube SEUB CHANNEL : คนเฝ้าป่า – วงนั่งเล่น (Official Lyrics Video) ภายหลังจากงานเพลง คนเฝ้าป่า เสร็จสิ้นลง ทางวงนั่งเล่นได้ใช้ต้นแบบจากการทำเพลงนี้ใ นการทำงานเพลงโปรเจ็กต์ ‘เพลงเพ่งชีวิต’ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็ได้เดินสายพูดคุยกับบุคคลที่น่าสนใจ เพื่อจะนำเรื่องราวมาบอกเล่าผ่านบทเพลง ซึ่งในขณะนี้มี 6 ท่าน ได้แก่

‘คนเฝ้าป่า’ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา

‘ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร’ คุณชาติ กอบจิตติ 

‘ตีนที่มองไม่เห็น’ คุณสาธิต กาลวันตวานิช 

‘คิดเอง ช้ำเอง’ คุณจิระ มะลิกุล

‘หมาข้างถนน’ คุณสันติ ลอรัชวี 

‘คำตอบ’ คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

4

เป็นประจำทุกปี ในช่วงครบรอบงานรำลึกของสืบ นาคะเสถียร ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะจัดให้มีการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในป่าห้วยขาแข้ง และนักเรียนในโรงเรียนรอบผืนป่า ในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ในปีนี้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในการระดมเงินสำหรับมอบเป็นทุนการศึกษา เป้าหมายอยู่ที่จำนวน 60 ทุน (ทุนละ 3,000 บาท)

โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการมอบทุนจำนวนทั้งสิ้น 68 ทุน เป็นเงินจำนวน 204,000 บาท ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากการทำบุญเลี้ยงพระ และ พิธีวางหรีด เพื่อรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนครอบครัวของผู้พิทักษ์ป่า ร่วมกับเรา ในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

5

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 บิ๊กเอ็ม – กฤตฤทธิ์ บุตรพรม นำรายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่าย Photobook เล่มแรกของตัวเอง ชื่อ The Journey Of A Ranger จำนวนเงิน 64,324 บาท สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผ่าน ‘กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า’ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยมี  ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิฯ และ วัชรบูล ลี้สุวรรณ รองเลขาธิการมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ

6

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว พร้อมทั้งสถาปนิกอาสาลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อดูพื้นที่การสร้างจุดสกัดชั่งคราว บริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด-ปางวัว (เส้นทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาว) ด้วยดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 300 – 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล จัดได้ว่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งยังอุดมไปด้วยป่าดงดิบเขาและป่าหลายประเภทคละกันไป มีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสงวนคือ กวางผา และเลียงผา นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (subalpine) อีกด้วย ยอดเขาที่สูงที่สุดคือยอดดอยหลวงเชียงดาว มีความสูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

จากผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพพบว่าพื้นที่บริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด – ปางวัว เป็นพื้นที่ที่กลุ่มพรานใช้เป็นเส้นทางเข้ามาล่าสัตว์ โดยที่ผ่านมาพบว่าผู้กระทำผิดเข้ามาทางเส้นทางปางวัว ทั้งบางช่วงยังมีนักท่องเที่ยวแอบใช้เส้นทางนี้เข้ามาท่องเที่ยวยังดอยหลวงเชียงดาว ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจึงเห็นว่า ควรจะมีการสร้างจุดสกัดบริเวณสามแยกเด่นหญ้าขัด – ปางวัว เพื่อเป็นจุดสกัดกั้นการกระทำผิด และเป็นจุดที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะใช้เส้นทางนี้ในช่วงฤดูท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว

และด้วยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าและยากแก่การเข้าถึง การที่มีจุดสกัดตรงส่วนนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวต่อไปในอนาคต

7

การจัดตั้งสมาคมผู้พิทักษ์ป่า (Thai Ranger Association – TRA ) 

จากการยืนเอกสารจัดตั้งสมาคมผู้พิทักษ์ป่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บัดนี้สมาคมผู้พิทักษ์ป่าได้รับการประกาศจากนายทะเบียนสมาคมจังหวัดนนทบุรี เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยมีคณะกรรมการสมาคมฯ ประกอบด้วย

  1. นายพลวีร์ บูชาเกียรติ นายกสมาคมผู้พิทักษ์ป่า 
  2. นายเปลี่ยนประสพ ขาวนวล อุปนายกฝ่ายบริหาร
  3. นายธรรมรัฐ วงศ์โสภา อุปนายกฝ่ายกฎหมาย
  4. นางพีรนุช ดุลกูล แคพเพลลา อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ 
  5. นายสมนึก แผนสมบูรณ์ เหรัญญิก
  6. นายประเสริฐ พ่านพัฒนกุล นายทะเบียน
  7. นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ เลขานุการ 
  8. หม่อมหลวง ปริญญากร วรวรรณ ประชาสัมพันธ์
  9. ว่าที่ ร.ต.วินัย เทพเสนา ปฏิคม 
  10. นายภาณุเดช เกิดมะลิ กรรมการ
  11. นายบุญแถม ตามประสี กรรการ 
  12. นางสาวอุษารดี ภู่มาลี กรรมการ
  13. นางสาวสร้อยเพชร มูสิกะชาติ กรรมการ

พร้อมทั้งสมาชิกชุดก่อตั้งสมาคมจากองค์กรต่างๆร่วมด้วย เช่น ชมรมผู้พิทักษ์ป่าแดนสยาม , องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) , Panthera , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ มูลนิธิฟรีแลนด์

โดยวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ

  1. ส่งเสริมและพัฒนาผู้พิทักษ์ป่าไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล รวมถึงความก้าวหน้าในสายงานอาชีพ พิทักษ์ป่า อันเป็นการตอบสนองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทป่าไม้ แผนแม่บทของหน่วยงาน โดยสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนพิทักษ์ป่า (Park Ranger School) หรือจัดหลักสูตร การฝึกอบรมพัฒนาผู้พิทักษ์ป่า เพื่อแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร เทคโนโลยี ในประเทศไทย และกับองค์กร นานาชาติ
  2. สร้างการรับรู้ในสิทธิ และสวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า รวมถึงครอบครัวของผู้พทักษ์ป่า ที่พึงได้รับอัน เกิดจากการปฏิบัติภารกิจ รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี และความสามัคคีของกลุ่มสมาชิก
  3. สื่อสาร สร้างความภาคภูมิใจ และความตระหนักถึงบทบาท การทํางาน หน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า ต่อผู้พิทักษ์ป่า และสาธารณะชน
  4. ส่งตัวแทนผู้พิทักษ์ป่าไทยเข้าร่วมประชุม World Ranger Congress ที่จัดขึ้นทุก 3 ปี
  5. เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศล เพื่อการกุศล และองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อสาธารณประโยชน์
  6. กิจกรรมทุกประการ ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง