มองป่าอย่างเข้าใจ กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

มองป่าอย่างเข้าใจ กับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

หลายคนอาจชื่นชอบการมองสัตว์ป่าหรือภาพสัตว์ป่าโดยอาจมองข้ามสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์เหล่านั้นที่เกิดขึ้นและดำเนินไป นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวน ‘มองป่า’ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเป็นไป และสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์เหล่านั้น ที่จะเป็นตัวเชื่อมระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่สำคัญ

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

ป่าเขตร้อน (Tropical Forest) ป่าที่เกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตรระหว่างเส้น Tropical of Cancer (23 องศา 27 ลิบดาเหนือ) กับเส้น Tropic of Capricorn (23 องศา 27 ลิบดาใต้) คำว่าป่าเขตร้อนจึงไม่ได้หมายถึงลักษณะป่าแบบใดแบบหนึ่ง แต่ความจริงในพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรโดยรอบโลกหรืออาจเรียกได้ว่าบริเวณเข็มขัดของโลกนี้มีป่าหลายประเภท เช่น ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าชายเลน และป่าพรุ เป็นต้น

 

“ระบบนิเวศป่าเขตร้อนเมืองไทย”

เวลาที่เราเข้าไปในป่าเราจะรู้สึกเย็นสบาย ร่มรื่น ไม่มีแสงแดด คุณลองแหงนหน้ามองป่าในอีกมุมหนึ่งนั่นคือ เรือนยอดของป่า สิ่งมหัศจรรย์ที่เราเห็นพื้นที่บนท้องฟ้าถูกปกคลุมไปด้วยยอดไม้ ต้นไม้พากันจับจองพื้นที่ท้องฟ้าจนไม่มีที่ว่างเหลืออยู่

หมอหม่องกล่าวถึงต้นไม้ว่า “เมื่อทุกคนต้องการแสง แสงแดดจึงถือเป็นสิ่งที่มีราคาแพง”

แต่ยังดีที่ชั้นเรือนยอด ไม้ไม่ได้ซ้อนทับกันหมด ยังปรากฏช่องว่างแห่งแสงทำให้แสงสามารถสาดส่องลงมาได้ อาจเกิดจากความเป็นไปในธรรมชาติ กิ่งไม้หัก หรือฟ้าผ่า แล้วทำให้เกิดช่องว่างตามธรรมชาติ

ต้นไม้หักหรือโค้นล้มทำให้เกิดช่องวางแห่งแสงในป่า

 

“กรรมวิธีการยึดพื้นที่เรือนยอด”

การที่ต้นไม้จะขึ้นไปยึดเรือนยอดได้นั้นมีหลายกรรมวิธี หมอหม่องได้เปรียบการการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ประสบความสำเร็จให้เป็นดั่งตำแหน่งประธานบริษัท หรือซีอีโอ การที่ต้นไม้เติบโตโดยได้รับแสงไม่เพียงพอทำให้เติบใหญ่ได้ไม่เต็มที หากสูงเพียงเข่าก็ได้เป็นเพียงเสมียนในบริษัทแห่งนั้นตลอดไป แต่หากวันหนึ่งที่ซีอีโอเกษียรหรีอล้มตายไปก็จะเกิดช่องว่างมหาศาลที่จะเป็นโอกาสให้เสมียนได้เติบโตเลื่อนขั้นเป็นซีอีโอได้ นี่คือกรรมวิธีที่ต้นไม้ต้องยืนด้วยลำแข้งของตนเอง สังเคราะห์แสงทุกวัน และเจริญเติบโตขึ้นไปทดแทนตำแหน่งต้นไม้ที่ถูกปล่อยว่างอยู่นั่นเอง

ต้นหวาย

 

แต่ก็ยังมีพืชหลายชนิดที่อาจขี้เกียจ ถนัดทางลัด หรือไม่อยากใช้พลังงานหมดไปเป็นร้อยปีกับการสร้างลำต้นให้แข็งแรง พืชกลุ่มนี้จึงปีนป่ายต้นไม้อื่นขึ้นไป ประจบสอพลอและไต่จนถึงเรือนยอดได้ แต่คุณสมบัติพิเศษพวกพืชไม้เลื่อยนั่นคือจะต้องมีความเหนียวและยืดหยุุ่นสูง เช่น หวาย มิเช่นนั้นจะเกิดการฉีกขาดยามเผชิญกับพายุหรือลมแรงได้

ต้นเฟิร์นที่มีลักษณะเป็นถ้วย

 

เช่น เฟิร์นที่เริ่มต้นชีวิตบนต้นไม้เลย จากการที่สปอร์ปลิวไปตกอยู่ที่ที่มีความเหมาะสมจึงได้แสงแดดเต็มที่ แต่การอยู่ด้านบนสูงๆ นั้นมีปัญหาอื่นๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างรากของพืชไม่ได้อยู่บนดินจะนำน้ำและแร่ธาตุมาใช้ได้อย่างไร พืชจึงวิวัฒนาการตัวเองให้มีลักษณะรูปถ้วยหรือจาน เมื่อใบไม้หล่นลงไปมันก็จะทับถมพวกนี้ เช่นเฟิร์นที่มีดินอยู่ข้างในเมื่อฝนตกน้ำก็ขั้งอยู่เยอะมากจนบางทีกบก็เข้าไปไข่อยู่ข้างใน นี่เป็นลักษณะของพืชอิงอาศัย (Epiphyte)

กระโถนฤาษี

 

หรือ ชนิดพันธุ์ที่ไม่แคร์แสง คือ ต้นกระโถนฤาษี หรือบัวผุด มันโผล่ขึ้นมาจากดินโดยที่ไม่มีใบเขียวหรือลำต้นเลย พวกนี้เป็นต้นไม้ที่เป็นปรสิตแย่งสารอาหารจากรากกระไดลิง นี่เป็นวิธีการดำรงชีวิตของพืชในป่า แต่ปัญหาของพืชแต่ละชนิดมีโจทย์ที่แตกต่างกันไป

 


ถอดบทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร