สาส์นสืบ – 30 ปี งานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน

สาส์นสืบ – 30 ปี งานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน

เชี่ยวหลาน เป็นชื่อแก่งน้ำแห่งหนึ่งในบริเวณคลองแสง ซึ่งเป็นคลองที่มีน้ำเชี่ยวมากที่สุดในฤดูน้ำหลาก สองฟากฝั่งคลอง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และอุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งจัดเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี อยู่บริเวณรอยต่อสามจังหวัดภาคใต้ คือ ระนอง พังงา และสุราษฎรธานี บนยอดทิวเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตร

ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘เขื่อนรัชชประภา’ ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกิจกรรมท่องเที่ยวและแพพักมากมาย

ด้วยบรรยากาศที่ดูสวยงาม จึงได้รับการขนานนามว่า เป็นดัง ‘กุ้ยหลิน’ ของเมืองไทย

ในระหว่างก่อสร้างเขื่อนเพื่อปิดลำน้ำได้เกิดโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และที่หลบภัย สัตว์เหล่านี้จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะไม่อาจจะอพยพย้ายถิ่นฐานได้ทันจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนท่วมพื้นที่ราบลุ่มของป่าใหญ่ไปเสียหมด สัตว์หลายชนิดต้องรีบหลบภัยขึ้นไปอยู่ตามยอดเขาที่มีสภาพกลายเป็นเกาะกลางเวิ้งน้ำ แหล่งอาหารจากต้นไม้ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากสีเขียวเป็นเหลืองแก่และร่วงหล่น เพราะรากดูดซึมน้ำจนเน่าตาย ไม่มีแหล่งอาหาร ไม่มีที่พักพิง มีเพียงการช่วยเหลือจากมนุษย์เท่านั้นที่ทำให้พวกมันปลอดภัย

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครหลายๆ คนได้รู้จักชื่อของ สืบ นาคะเสถียร