มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับสถานการณ์โลกร้อน (ปาฐกถา 29 ปี สืบ นาคะเสถียร)

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับสถานการณ์โลกร้อน (ปาฐกถา 29 ปี สืบ นาคะเสถียร)

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับสถานการณ์โลกร้อน ปาฐกถา 29 ปี สืบ นาคะเสถียร โดย ศศิน เฉลิมลาภ  8 กันยายน 2562 ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“นี่เป็นปีพิเศษของผมทำหน้าที่ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรครบวาระ 4 ปี และรวมเวลา 16 ปี  ที่ผมได้ทำงานให้พี่สืบ ผมมีความภูมิใจอย่างยิ่ง” ในค่ำคืนวันที่ 31 กันยายนของทุกปี ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เราร่วมใจจุดเทียนรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียร และทุกปีเรามีการแสดงแสง & เสียง ปีนี้ผมทำบทการแสดงเปลี่ยนไปเลย เนื้อเรื่องที่ผมเขียนคือพี่สืบนั่งจุดเทียนเขียนรายงานเสนอมรดกโลกห้วยขาแข้ง แล้วตัดบทไปในคืนวันยิงตัวตาย เกือบสามสิบปีต่อมาบนบันไดทั้งแปดขั้นระหว่างบ้านพักหัวหน้าสืบกับรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร เหมือนเจตนาของเขาจะถูกสืบสาน

ศศินกล่าวว่า บนบันใดทั้งแปดขั้นคือการประกาศความสำเร็จของการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่พี่สืบเสียชีวิตซึ่งมี 8 เรื่องหลักที่ทำสำเร็จแล้ว 

หนึ่ง  ยูเนสโก้มีมติรับรองให้ป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกตามเอกสารนำเสนอของพี่สืบ เป็นความสำเร็จเบื้องแรก 

สอง หน่วยพิทักษ์ป่าและโครงการต่าง ๆ แผนแม่บทการจัดการห้วยขาแข้งสมัยพี่สืบกับอาจารย์อุทิศที่ทำไว้ บัดนี้หัวหน้าเขตและเจ้าหน้าที่ช่วยกันเพิ่มเติมจนน่าจะครบถ้วนและขยายผลไปทั่วประเทศ 

สาม สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำยืนยันผลงานวิจัยว่าป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีประชากรเสือโคร่งเพิ่มมากขึ้นอย่างนี้แสดงว่าการทุ่มเทรักษาป่าที่ผ่านมาได้ผล หากมีเสือสืบขยายพันธุ์แบบนี้ เหยื่อของเสือ และพืชพรรณต่าง ๆ ก็สมบูรณ์ ตอนนี้ป่าแห่งนี้กลายเป็นความหวังและเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์เสือโคร่งของโลก

สี่ วันนี้ชุมชนที่อยู่ประชิดห้วยขาแข้งเกือบทุกชุมชนมีป่าชุมชนของหมู่บ้านและร่วมเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ป่าร่วมกับห้วยขาแข้ง

ห้า การจัดการชุมชนกลางป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในโครงการจอมป่าได้ผลดี ชุมชนกับเจ้าหน้าที่อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ชุมชนไม่มีการขยายเขตออกไปนอกกติกาที่ตกลงกันมาหลายปี ตอนนี้แนวทางดำเนินการได้ถูกขยายผลไปสู่การจัดการชุมชนทั่วประเทศ

หก การลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่ได้ทดลองทำกันมาหลายปีที่ห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่ วันนี้กรมอุทยานฯอนุมัติงบประมาณและโครงการขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ

เจ็ด งานดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการให้พิทักษ์ป่าที่เริ่มกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งบัดนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นความสำคัญเพิ่มการดูแลและจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่าสำเร็จแล้ว 

แปด วันนี้ผืนป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยที่พี่สืบเสนอให้มีพื้นที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย ปีที่ผ่านมามีการจัดตั้งผนวกรวมพื้นที่ป่าเป็นป่าอนุรักษ์ใกล้จะ 25 เปอร์เซ็นต์ตามแผนการจัดการป่าไม้แห่งชาติเกินเป้าที่พี่สืบฝันไว้แล้ว 

ภารกิจสืบทอดเจตนารมณ์ในเบื้องต้น 30 ปีนี้ผมว่าผมไม่มีอะไรติดค้างพี่สืบ”

 

 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับสถานการณ์โลกร้อน

ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวว่า แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นแม้ว่าสืบ นาคะเสถียรจะทิ้งเจตนารมณ์ใหญ่ต่อการการรักษาผืนป่าสัตว์ป่าเอาไว้ สิ่งที่มูลนิธิสืบฯทำก็คืออยากให้สังคมไทยมีการอนุรักษ์ ตอนนี้การอนุรักษ์กระจายไปทั่วทั้งประเทศ สิ่งนี้เราได้ทำแล้ว แต่วันนี้ภาวะโลกร้อนมันไปไกลกว่านั้น ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ไม่สามารถจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กับปล่อยออกซิเจนมาได้มากขนาดนั้น วันนี้แหล่งนิเวศขนาดใหญ่ของโลกคือทะเลไปไม่รอดเพราะพลาสติก 

ที่มา : http://berkeleyearth.org/2018-temperatures/

ตั้งแต่ปี 1860 – 2000 จนถึงปัจจุบัน 2019 อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยร้อนขึ้นจริง ๆไม่ได้เป็นความรู้สึกเพราะจากกราฟที่มันขึ้นลงในแต่ละปี จะเห็นได้ว่าภาพใหญ่มันสูงขึ้น แล้วเมื่อปี 2018 อุณหภูมิครบ 1 องศาเซลเซียส โลกของเรามีลิมิตอยู่ที่ 5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์คำนวนไว้แล้วว่าอุณหภูมิโลกสูงกี่องศาจะเกิดอะไรขึ้น

 

คลิกรูปเพื่ออ่านเพิ่มเติม

วันนี้ ธารน้ำแข็งขนาดเล็กหายไป ระบบนิเวศปะการังเสียหาย ทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟประเทศออสเตรเลียปะการังตาย 90 เปอร์เซ็นต์ ดีทียังเหลือพันธุ์ทนทานรอดอยู่ได้ แล้วธารน้ำแข็งขนาดเล็กละลายหมดไหม? หมาลากเลื่อนที่กรีนแลนด์ต้องลากลุยน้ำที่เคยเป็นน้ำแข็ง มีแต่ข่าวน้ำแข็งละลายทั้งโลก และที่เกิดขึ้นแล้วแน่ๆคือ พายุ ไฟป่า ภัยแล้ง อุทกภัย นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บอกแล้วเราก็เจอจริงๆกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

 

ที่มา : อ.ประสาท มีแต้ม

กราฟของอาจารย์ประสาท มีแต้ม ระบุว่าในปี 2100 หรือประมาณ 80 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียสก็เเย่แล้ว เส้นล่างสุด (เส้นสีเขียว) คือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยในแต่ละปีซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของโลกในปี 2100 อยู่ที่ระดับ 2 องศาเซลเซียส นั่นคือ ชาวโลกจะต้องร่วมกันลดลงมาจนเป็น 35,000 และ 20,000 ล้านตัน ในปี 2050 และ 2075 ตามลำดับ และต้องต่ำกว่านั้นอีก 

 

 

สภาวะโลกร้อนคือปัญหาใหญ่ ที่ผมบอกว่าเราหยุดมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็ได้เพราะภารกิจมันจบแล้ว แต่ภารกิจในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เราจะต้องเดินไปพร้อมกับพลเมืองโลกมันไม่จบ นั่นคือโจทย์ใหม่ บริบทใหม่ มูลนิธิสืบฯคงจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอสมควร แต่ปัญหาใหญ่คือผมไม่มีความรู้ความชำนาญเรื่องนี้ แล้วบริบทของมูลนิธิสืบฯเองเราดูเรื่องป่า สัตว์ป่า แต่นี้คือโจทย์ใหญ่ของมนุษยชาติ แล้วเราจะก้าวร่วมกันอย่างไร โดยใช้ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ ผืนป่าที่เราร่วมปกป้องตลอดมา 

 

“สิ่งที่พูดทั้งหมดคืออยากจะชวนเราทำเรื่องนี้กันไหม…” – ศศิน เฉลิมลาภ

โดยความรู้พื้นฐานของผมเป็นนักธรณีวิทยาที่มาสนใจเรื่องป่าผมไม่เคยรู้เรื่องภาวะโลกร้อนเลย และผมก็คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องนี้เหมือนผม ผมไม่มีความรู้ น้องๆในมูลนิธิสืบฯก็ไม่มีความรู้ เรื่องนี้เป็นบริบทใหม่ของมูลนิธิสืบฯ เป็นบริบทใหม่ของสังคมไทยและเป็นเรื่องสำคัญของสังคมโลกด้วย ผมคิดว่าความสำเร็จที่สืบ นาคะเสถียร ฝากให้พวกเราคงไม่ใช่ความสำเร็จของมูลนิธิสืบฯหรอก แต่เป็นความสำเร็จของประเทศไทยที่เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกันมาเกือบ 30 ปี ตรงนี้เป็นพลังสำคัญ

ผมเชิญคนไปจุดเทียนที่รูปปั้นคุณสืบ เราบอกว่าจะจุดเทียนต่อกัน เพื่อส่องสว่างในหัวใจของกันและกัน เพื่อจะบอกว่ามันมีปัญหานี้แล้วเราจะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่แก้ปัญหาไปด้วยกัน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผมเชื่อมั่นว่าพลังของสืบ นาคะเสถียรจะส่งพลังให้พวกเรา ต่อจากนี้อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้าเมื่อมีโอกาสจะ “MAKE OUR PLANET GREAT AGAIN” ที่มาครงว่าไว้เราจะทำทันรึป่าว เราจะปล่อยมันไปก็ได้หรือเราจะตั้งหน้าตั้งตาทำ ทำให้ดีที่สุด เผื่อจะทำให้โลกยังพออยู่ได้ เรายังมีเวลา ผมเชื่อว่าเรายังมีความหวัง 

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจาก ปาฐกถา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับสถานการณ์โลกร้อน (ปาฐกถา 29 ปี สืบ นาคะเสถียร)  คลิ้กที่นี่เพื่อดูย้อนหลัง


เรียบเรียง นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร