มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในวันที่สานต่อเจตนาสืบสำเร็จหมดแล้ว

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในวันที่สานต่อเจตนาสืบสำเร็จหมดแล้ว

งานอนุรักษ์มันเป็นงานที่ไม่เสร็จ โครงการของรัฐสร้างเขื่อนในป่าหรืออะไรต่อมิอะไรมันยังมี แต่หลักการต่าง ๆ ที่ประคองกันมา 30 ปี มันบรรลุภารกิจไปเยอะพอสมควร ปัญหาที่จะมีข้างหน้าก็ว่ากันไป” ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

31 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคงทำงานตามเจตนารมณ์ของคุณสืบ หลายอย่างก็ถือได้ว่าสำเร็จไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองป่าตะวันตก ด้วยการผลักดันให้เป็นมรดกโลก การสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้มีสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ดีขึ้น การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีพื้นที่ที่ทำกิน สามารถสร้างรายได้และลดการพึ่งพิงป่า การคัดค้านโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อป่าและสัตว์ป่า แต่ถึงอย่างนั้นงานของมูลนิธิสืบฯ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งในส่วนที่ทำไปแล้วและกำลังจะทำต่อไปในอนาคต
.

.
สานต่อเจตนาสืบ อะไรที่เราคิดว่าสืบจะทำ “ถ้าสืบยังอยู่”

สานต่อเจตนาของคุณสืบคือการตีความ เขาไม่ได้ประกาศเจตนาอะไร ความตายกับการกระทำเป็นเจตนา เพราะฉะนั้นเพื่อนพ้องน้องพี่ คนที่อยู่ในวงการอนุรักษ์ เขาก็คิดว่าคุณสืบจะทำอะไร 

เราคิดว่าคุณสืบหวงห้วยขาแข้ง ตีความว่าคุณสืบไม่ไปเรียนต่อด็อกเตอร์ แต่สืบเลือกที่จะมาเป็นหัวหน้าอยู่ห้วยขาแข้ง ในช่วงแรก ๆ มูลนิธิเข้าไปทำเรื่องการสื่อสาร เข้าไปเติมในส่วนที่ส่วนราชการเขาไม่มี แล้วก็ร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์อื่น ๆ ที่อนุรักษ์ห้วยขาแข้ง วันนี้ห้วยขาแข้งมีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นจากข้อมูลสถานีวิจัยเขานางรำ เรามีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ฟังก์ชั่นของการอนุรักษ์ครบ และเป็นพื้นที่ต้นแบบของการวิจัยเสือและการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 

คุณสืบบอกว่า ถ้าจะรักษาทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ต้องขึ้นเป็นมรดกโลก ตอนนี้ก็กลายเป็นมรดกโลกแล้ว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งก็ใช้ระบบมาตรฐานเดียวกัน 

สมัยที่คุณสืบเสียชีวิตป่าตะวันตกมันดูยุ่ง ๆ ป่าแม่วงก์ คลองลาน คลองวังเจ้า ลำคลองงู ที่มีพื้นที่ติดกันยังไม่ได้เป็นอุทยาน ทั้งยังมีเหมืองแร่ขนาดใหญ่ สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นป่าผืนเดียวกัน แต่วันนี้ทั้งหมดถูกประกาศเข้าด้วยกัน มีมาตรฐานการดูแลพื้นที่ การทำงานที่ใกล้เคียงกันมาก เสือจากห้วยขาแข้งขึ้นถึงคลองวังเจ้า ทิศใต้ถึงสลักพระ นกเงือกบินไปถึงฮาลบาลา วัวแดงออกไปข้างนอก 

มูลนิธิสืบฯ ช่วยจัดตั้งป่าชุมชนร่วมกับกรมป่าไม้เป็นแนวในพื้นที่ 60 ป่ากันชนขอบห้วยขาแข้ง  การสูญเสียพื้นที่ป่าหรือความหลากหลายทางธรรมชาติมันเกิดจากชุมชนร้อยชุมชนที่อยู่ในป่าตะวันตกค่อย ๆ ขยายพื้นที่ออกมา ชุมชนข้างนอกอีก 300 กว่าชุมชนค่อย ๆ เข้าไป 3-4 ปีที่ผ่านมาเราปิดโครงการใหญ่ไปโครงการหนึ่งชื่อโครงการจอมป่า หรือโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งได้ทุนค่อนข้างยาวนานทำมาเกือบ 20 ปี ซึ่งตอนนี้ก็ได้แนวเขตชุมชนแล้ว แล้วยังพัฒนาในการออกกฎหมายใหม่ของกรมอุทยานฯ แล้ววันนี้ก็ออกอนุบัญญัติว่าคนที่อยู่กับป่าจะอยู่กันอย่างไร นอกจากป่าตะวันตกก็ได้ขยายไปใช้ทั่วประเทศ 

ดังนั้นถ้าวันนี้คุณสืบยังอยู่ก็คงยิ้มแล้วล่ะ เสือก็เพิ่มขึ้น งานวิจัยที่คุณสืบชอบมันก็มี ทีนี้ในระดับประเทศ คุณสืบบอกว่าประเทศไทยควรจะมีป่าอนุรักษ์สัก 20% สมัยที่คุณสืบยังอยู่มีประมาณ 7% คือประกาศอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีไม่ถึง 10% วันนี้ป่าอนุรักษ์ไม่นับชุมชนมีตั้ง 21% แล้วกำลังจะผนวกพื้นที่เพิ่มเป็น 25% 

อีกเรื่องหนึ่งที่เราตีความ คุณสืบบอกว่าผมสงสารคนที่ด้อยโอกาส เราก็มาตีความว่าคนที่โดนข้าราชการกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม วันนี้มูลนิธิก็ประคองกฎหมายคนอยู่ร่วมกับป่าออกมา กฎหมายนี้อาจจะยังมีปัญหาแต่ว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในบางพื้นที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ มีกฎหมาย มีกติกา ในการอยู่ร่วมกัน ถ้าพูดในแง่ของหลักการมันผ่านหมดแล้ว 

ก่อนที่คุณสืบจะเสียชีวิตสืบก็คงอยากให้สังคมไทยรู้จักการอนุรักษ์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คณะที่สอนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ยังไม่มี วันนี้ทุกมหาวิทยาลัยแทบจะมีหมด โครงการไหนที่สร้างผลกระทบต่อป่า แต่เกิดองค์กรอนุรักษ์เต็มไปหมด ทั่วประเทศร่วมกันคัดค้าน ชนะบ้างแพ้บ้างแต่ก็ยังมีกระแสด้านการอนุรักษ์

ภารกิจก่อนตายที่คุณสืบไม่เคยเห็น วันนี้ได้เห็นแล้ว แต่ใช้เวลาถึง 30 ปี วันนี้การรักษาป่าตะวันตกถ้าจะให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ให้เป็นมรดกโลกก็อยู่ในแผนซึ่งกรมอทุยานฯ ก็รับไปแล้ว มาตรฐานวันนี้มันได้แล้ว ถึงได้บอกว่าภารกิจเท่าที่คุณสืบคิดได้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้ไม่ใช่แค่มูลนิธิสืบอย่างเดียวได้ช่วยกันทำไปพอสมควรแล้ว” ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

.
งานที่ยังขับเคลื่อนอยู่ในวันที่สานต่อเจตนาสืบ “สำเร็จหมดแล้ว”

งานหลัก ๆ ตั้งแต่แรกเริ่มของมูลนิธิสืบฯ จะมีงานเฝ้าระวัง คัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่า พื้นที่ที่เราทำงานก็จะมุ่งเน้นไปที่ป่าตะวันตก แต่หลัง ๆ เมื่อมีเครือข่ายมากขึ้น ก็จะมีพื้นที่ป่าอื่น ๆ ที่ต้องการกำลังเสริม เราก็จะเข้าไปร่วมด้วย

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือสร้างเขื่อนในป่าอนุรักษ์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือโครงการที่ทำมาก่อนหน้านี้ เช่น โครงการเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่เดินคัดค้านเมื่อปี 55-56 วันนี้ถึงแม้กรมชลประทานจะถอน EIA ออกไปแล้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอยู่ สิ่งที่มูลนิธิทำต่อจากการคัดค้านคือเข้าไปดูแลเรื่องการจัดการน้ำทางเลือก เราใช้ข้อมูลจากการลงพื้นที่และนำไปปรึกษาอาจารย์ด้านวิศวกรรมเพื่อช่วยไกด์ไลน์ให้ ทุกวันนี้เรายังแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีการลงพื้นที่และสนับสนุนในส่วนที่เขายังขาดอยู่

ด้านโครงการที่เราทำอยู่ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาก็จะมีโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เราพานักวิชาการไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้านสัตว์ป่า ตอนนี้ที่ยังทำอยู่คือโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และโครงการเขื่อนทั้ง 7 แห่ง ในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยร่วมมือกับเครือข่ายในภาคตะวันออกในการคัดค้าน เก็บข้อมูลพื้นที่ และไกด์ไลน์การจัดการน้ำเบื้องต้น 

ไม่ว่าเราจะคัดค้านโครงการอะไรก็ตาม สิ่งที่มูลนิธิจะทำเป็นอย่างแรก ๆ คือการลงพื้นที่เพื่อไปดู ไปรู้ให้เห็นกับตา ทำไมเราถึงต้องปกป้องป่าแห่งนี้ มันมีคุณค่าความสำคัญยังไง ถ้าคัดค้านเรามีทางออกอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช้ค้านแล้วจบแต่คนในพื้นที่ยังเดือดร้อน

ล่าสุดเราเพิ่งทราบว่ามีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำอีกประมาณ 77 โครงการ มูลนิธิและเครือข่ายจึงตัดสินใจกันว่าพรุ่งนี้จะไปยื่นหนังสือเพื่อยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ขอให้มีการทบทวนการจัดการน้ำในประเทศไทย และประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เพราะวันนี้มีข้อมูลออกมาแล้วว่าหลาย ๆ เขื่อนที่ทำกันก่อนหน้านี้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์มาช่วยคิดหรือคำนวณ 

หลาย ๆ เขื่อนที่ทำไปก่อนหน้านี้ไม่มีน้ำ อันนี้จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตถ้าเรายังมีการสร้างเขื่อนโดยไม่มีพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับโลกร้อนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการพวกนี้” อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ

.
“ภาวะโลกร้อนและการสูญพันธ์ุ” บทบาทใหม่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ต่อยอดจากความถนัดเดิมที่มีอยู่

“วันนี้องค์กรอนุรักษ์เขาจับมือกันเพื่อจะสู้กันเรื่องนี้ ทุกคนมุ่งหน้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาป่าเมืองไทย แล้วมันจะพ้นภัยพิบัติใหญ่ โอกาสของรุ่นลูกมันไม่น่าจะมีโลกให้เขาอยู่สบาย ๆ แล้ว อีก 20 ปี มันคงอยู่ได้ยาก เด็ก ๆ อายุ 17-18 ที่ต้องประสบปัญหาอย่างโควิด ภาวะโลกร้อน พวกเขาอาจจะเจอปัญหาที่มันใหญ่กว่านี้ 

ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่ต้องรักษาความหลากหลายทางชีวะภาพให้มากที่สุด เก็บคาร์บอนที่เราปล่อยออกไปให้มากที่สุด แล้วไปลุ้นกันว่าเด็กรุ่นใหม่จะสามารถปรับตัวให้อยู่กับโลกร้อนได้ยังไง 

แต่วันนี้เราต้องทำให้ดีที่สุด อันนี้เป็นภารกิจขององค์กรอนุรักษ์ทั้งโลก ที่จะต้องมองไปข้างหน้าแล้วช่วยกันทำ มันไม่จบที่รุ่นเรา แต่เราต้องรับผิดชอบเพราะเราก็มีส่วน มูลนิธิสืบฯ ก็จะช่วย เราจะชื่นชมความสำเร็จตัวเองแล้วหนีมันก็ไม่ถูก คนเขาบริจาคมาเขาก็คาดหวังให้เราทำงาน เราไม่ใช่อาสาสมัครและมันต้องทำ” ศศินกล่าว
.

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำอะไรบ้างในยุทธศาสตร์โลกร้อน

“ยุทธศาสตร์โลกร้อนและการสูญพันธุ์เราได้เริ่มมาประมาณ 2 ปีแล้ว ปัจจุบันเราเน้นในเรื่องของการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม รวมไปถึงการติดตามนโยบายที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนให้ภาคประชาชนหันมาสนใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้

เนื่องจากมูลนิธิทำงานในป่าตะวันตกซะส่วนใหญ่ เราได้ดำเนินการในเรื่องของการดูแลรักษาป่าในป่าอนุรักษ์ 12 ล้านไร่ได้สำเร็จเกือบครบหมดแล้ว ส่วนอีก 8 ล้านไร่รอบป่าตะวันตกที่เป็นพื้นที่ชุมชน หรือกรมป่าไม้ เราคิดว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่จะช่วยลดผลกระทบของโลกร้อนได้ โดยการลดคาร์บอนเครดิตในประเทศ เช่น ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งมูลนิธิก็จะเข้าไปในส่วนของนโยบายภาครัฐ และเอื้ออำนวยให้ชุมชนหันมาสนใจในการลดคาร์บอนเครดิตมากยิ่งขึ้น” ชฎาภรณ์ ศรีใส เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ 

.
การปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า เครื่องมือสำคัญที่จะปกป้องสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

มูลนิธิสืบฯ เข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้กลุ่มคนที่สนใจด้านงานอนุรักษ์หรืออยากสานต่องานของคุณสืบมารวมตัวกัน ในวันนี้โอกาสไม่เกิดขึ้นกับคุณสืบแต่หลังจากเสืองปืนนัดนั้นแล้วมันทำให้เกิดกระแสตีกลับในการที่จะอนุรักษ์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น” ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สิ่งที่มูลนิธิสืบพยายามจะรักษาบทบาทตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิสืบฯ จนถึงทุกวันนี้ คือเป็นตัวเชื่อมระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่ากับคนที่อยู่ในเมือง ในช่วงที่ผ่านมาคนที่อยู่ในสังคมเมืองเกิดความรู้สึกหวงแหน แต่ยังมองบทบาทในการช่วยหรือส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ตรงนี้ยังไงได้บ้าง ตอนนี้เราได้เข้ามาทำตรงนี้แล้ว ตั้งแต่เรื่องที่ทำให้คนไทยรู้จักพื้นที่ป่า ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ รวมไปถึงการสนับสนุนดูแลเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อที่จะทำให้คนในเมืองได้เห็นว่าในพื้นที่ป่า นอกจากมีป่า สัตว์ป่า ที่เราร่วมดูแลแล้วยังมีกลุ่มคนเล็ก ๆ ในการทำงานตรงนี้ก็คือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า งานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามันคล้าย ๆ กับการเคลียร์แนวให้มันชัดว่างานอนุรักษ์ในประเทศไทยมันควรจะไปทางไหน อย่างไร

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะผลักดันที่จะพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ อาจจะเป็นมุมมองหรือวิธีคิดที่ต่างกันในเรื่องของงานอนุรักษ์แล้วมันไม่มีวันหมด ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจและต้องสู้กันต่อ แต่สิ่งหนึ่งที่มูลนิธิสืบฯ กำลังจะทำในวันนี้คือการทำในสิ่งที่คุณสืบคิด สมัยนั้นมันอาจจะยังไม่เกิดหรือยังไม่เห็นภาพ แต่วันนี้ภาพของมันชัดเจนมากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาพื้นที่อนุรักษ์แบบปลูกป่า การฟื้นฟูสัตว์ป่า การดูแลเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เราอยากให้มันเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าอื่น ๆ ที่มีอยู่ 20 กว่ากลุ่มป่าทั่วประเทศไทย 

เรื่องที่สองก็คือสัตว์ป่าที่มีความสำคัญในเชิงนิเวศแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เช่นคุณสืบเคยพยายามที่จะทำงานวิจัยเรื่องกวางผา วันนี้เราก็ทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอด เรามีกองทุนสัตว์ป่าในการวิจัยกวางผา หรือองค์กรอื่น ๆ ที่ยังทำงานเรื่องนี้ 

ณ วันนี้มูลนิธิก็ยังอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีความสำคัญเป็นชนิด ๆ ไป เนื่องจากว่าถ้าสัตว์ป่าวันนี้หมดไปจากประเทศไทย มันหมดแล้วหมดเลยสัตว์ป่าเหล่านี้มันเป็นคีย์สปีชี่ส์ของแต่ละพื้นที่ไป กวางผาเป็นคีย์สปีชี่ส์ของพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีเขาหินปูนและเป็นพื้นที่สูง เรารู้สึกว่ามันหมดไปไม่ได้ แต่เราไม่มีกลไกที่จะเข้าไปดูแล มันเป็นงานที่เราต้องร่วมกับกรมอุทยานฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ต่อ

สองคือการณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมเกิดความตระหนัก เพราะบางทีความเชื่อ หรือความรู้สึกที่จะปกป้องทรัพยากรอย่างเดียวมันอาจจะไม่เพียงพอ แต่จะทำยังไงให้มีวิธีคิดหรือแนวทางปฏิบัติที่มันชัดเจนมากขึ้น 

ส่วนสุดท้ายก็คือการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะทำอย่างไรให้เขามีสวัสดิการ สวัสดิภาพที่ทีดี ที่จะปกป้องพื้นที่ป่าที่เป็นสมบัติของคนไทยและคนอื่น ๆ ทั่วโลก อันนี้ผมคิดว่าเป็นกลไกหนึ่งที่สังคมต้องตระหนัก

ส่วนเรื่องสถานการณ์โลกร้อนเห็นด้วยที่จะสนับสนุน อย่างไรก็ตามเรื่องการอนุรักษ์มันเป็นเรื่องที่จะต้องทำงานร่วมกับสถานการณ์โลกร้อน วันนี้มันเกินวิกฤติของมันแล้ว เราจะหยุดยั้งหรือชะลอได้อย่างไรบ้าง มันก็เป็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
.

วิกฤติการสูญพันธุ์หรือโลกร้อน จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพียงแต่เราไม่ได้รับรู้ มันเป็นบันไดขั้นที่หนึ่ง บทบาทที่เราทำอยู่มันเป็นเรื่องของการปกป้องผืนป่าสั ตว์ป่า ทรัพยากรเหล่านี้มันคือฐานที่มั่นสุดท้ายของสิ่งมีชีวิตในการที่จะใช้ชีวิต ถ้าเราไม่รักษาฐานทรัพยากรพื้นที่ป่า หรือความหลากหลายทางชีวภาพไว้ หนึ่งมันชัดเจนเลยว่าสมดุลของระบบนิเวศมันถูกทำลาย สองคือมันเป็นพื้นฐานของการต่อสู้เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน การปกป้องผืน ป่าสัตว์ป่ามันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะปกป้องสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ” ภาณุเดชกล่าว

 

ส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนาออนไลน์: มูลนิธิสืบฯ ในวันที่สานต่อเจตนาสืบสำเร็จหมดแล้ว รำลึก 31 ปี สืบ นาคะเสถียร
คลิ้กที่นี่เพื่อรับชมเสวนาย้อนหลัง “มูลนิธิสืบฯ ในวันที่สานต่อเจตนาสืบสำเร็จหมดแล้ว”

 

 


เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร