27 ปี “สืบ นาคะเสถียร” คุณูปการต่อสังคมไทย

27 ปี “สืบ นาคะเสถียร” คุณูปการต่อสังคมไทย

ถ้าใครสักคนหนึ่งเกิดในปีที่คุณสืบ นาคะเสถียรเสียชีวิต ในปีนี้เขาจะมีอายุครบ 27 ปี หากถามเด็กชั้นประถม มัธยม หรือที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมหาวิทยาลัย ถึงเหตุการณ์ที่คุณสืบเสียชีวิต มันก็จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องนึกจินตนาการย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

เวลานั้นเป็นยุคที่การอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ได้เป็นที่ยอมรับ พ.ศ. 2520 – 2530 เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมาก มีเขื่อนใหญ่ที่กำลังจะเกิดคือเขื่อนน้ำโจนที่จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ถือเป็นพื้นที่สำคัญเพราะเป็นป่าผืนใหญ่ จึงมีการคัดค้านเกิดขึ้น

คุณสืบซึ่งเป็นนักวิชาการสัตว์ป่า เพิ่งมีประสบการณ์จากการเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ก็เห็นว่าเขื่อนจะสร้างผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน

 

เวลานั้นต้องถือว่า คุณสืบเป็นนักวิชาการและข้าราชการที่กล้าจะออกมาทำงานอย่างเต็มที่ กล้าที่จะออกมาบอกว่าเขื่อนมีผลกระทบมากมายมหาศาลเพียงใด แตกต่างคนอื่นๆ ที่หากเจอนโยบายรัฐบาล ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ ก็คงไม่กล้าค้าน

 

คุณสืบตัดสินใจไปเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แทนที่จะรับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ตัดสินใจมาทำงานที่ห้วยขาแข้ง คุณสืบคิดว่าอยากรักษาห้วยขาแข้งเพื่อให้เป็นบ้านของสัตว์ป่าจริงๆ เพราะว่าที่อื่นๆ ป่าอาจจะสวยกว่าห้วยขาแข้ง แต่ว่าก็ไม่มีสัตว์ป่าเยอะเท่าที่ห้วยขาแข้ง

พอเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ทำให้ทราบว่าผืนป่าห้วยขาแข้งกำลังถูกคุกคามอย่างหนักทั้งจากการล่าสัตว์ตัดไม้ ปัญหาอิทธิพลสารพัด

คุณสืบต้องทำงานหนักมาก แต่ระบบราชการเป็นระบบที่สู้ไม่ได้ สู้ไม่ชนะ เพราะผู้ใหญ่สมัยนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการรักษาป่า เหมือนเอาหัววิ่งชนกำแพงอยู่คนดียว

คุณสืบจึงลงมือเขียนเอกสารวิชาการร่วมกันคุณเบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ นักวิชาการ เสนอให้ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก แต่ก็ไม่ได้อยู่ดูว่าจะสำเร็จไหม

พอเขียนรายงานฉบับนั้นเสร็จ ก็ตัดสินใจยิงตัวเองตาย

คุณสืบเขียนไว้ในจดหมายว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

คุณสืบบอกว่า “ผมคิดว่า ชีวิตผมทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว และผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ”

 

27 ปีที่คุณสืบจากไป ได้เกิดคุณูปการให้คนไทยได้เรียนรู้จากการที่คุณสืบเอาชีวิตเข้าแลกไว้มากมาย เช่น ป่าห้วยขาแข้งที่คุณสืบอยากให้เห็น ทุกคนก็เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาประชุมกันว่าจะจัดการป่าห้วยขาแข้งอย่างไร และได้เกิดสิ่งต่างๆ ที่ยังประโยชน์ต่อป่าห้วยขาแข้งเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ผืนป่าห้วยขาแข้งได้รับการจัดการบนแผนการจัดการที่ดี มีการจัดการพื้นที่แนวกันชน ระบบลาดตระเวนพัฒนางานในเชิงคุณภาพ ได้รับการส่งเสริมงานวิจัยเรื่องสัตว์ป่า จนทำให้เรารู้ว่าป่าห้วยขาแข้งเป็นบ้านของเสือ มีประชากรสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงคุณูปการที่เกิดต่อห้วยขาแข้ง

 

ยังไม่นับกระแสอนุรักษ์ต่างๆ ที่ใช้คุณสืบเป็นต้นแบบการทำงานว่า ถ้าเราอยากรักษาความหลากหลายทางชีวภาพก็ต้องทำงานวิชาการ ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา ไปจนถึงที่คุณสืบเคยเรียกร้องเรื่องสวัสดิภาพสวัสดิการแก่ผู้พิทักษ์ป่า วันนี้ทุกคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี

หรือที่คุณสืบบอกว่า “ประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ 20 แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึง เก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่างๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหาร หรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง” วันนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ประกาศอุทยานแห่งชาติกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีพื้นที่มากกว่า ร้อยละ 20 ของพื้นที่ประเทศตามที่คุณสืบบอกไว้เมื่อ 27 ที่แล้ว

แม้เรื่องราวของคุณสืบจะถูกหลงลืมไปบ้าง กลายเป็นเพียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่เหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีเสียงปืนนัดนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก

 


บทความโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร