แสงเทียนแห่งเดือนกันยา

แสงเทียนแห่งเดือนกันยา

ตั้งแต่มาร่วมงานกับมูลนิสืบนาคะเสถียร เดือนกันยายนในทุกๆ ปีจะเป็นเดือนพิเศษของชีวิตผมเสมอ – คืนวันที่ 31 สิงหาคมต่อมาถึงเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน เป็นคืนรำลึกการจากไปของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ผู้ชายซึ่งเป็นยิ่งกว่าแรงบันดาลใจตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา (ผมมารับเป็นผู้บริหารของมูลนิธิสืบฯ ในปีนี้)

ผมไปร่วมงานรำลึกสืบ นาคะเสถียรทุกปี ด้วยหน้าที่การงานทำให้ต้องมาจัดงานทำบุญและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีคนมาร่วมมากบ้างน้อยบ้างตามแต่สถานการณ์

พวกเราชาวมูลนิธิสืบมีประเพณีร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือจะต้องไปจุดเทียนรำลึกที่รูปปั้นสูงเท่าครึ่งที่ยืนอยู่ตรงนั้นมาทุกปี ใครไปร่วมงานเราก็ชวนๆ ไปจุดเทียนกัน

อาจารย์รตยา จันทรเทียร ซึ่งทำหน้าที่ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาก่อนผมจะเป็นผู้นำกล่าวรำลึกคุณงามความดีของคุณสืบ หยดน้ำตาเทียน และตั้งเทียนเล่มเล็กให้ส่องแสงวับแววอยู่ในความมืด หากมีหลายแท่งก็จะส่องสว่างเห็นรูปปั้นคุณสืบหยัดยืนทาบราตรีอย่างมั่นคง ผมจำได้ว่าไม่มีสักปีเดียวที่เราไม่จุดเทียน

วินาทีที่เทียนเล่มแรกถูกจุดขึ้นและถูกจุดต่อกันไปในความมืดเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังเล็กๆ ที่กล้าหาญ ส่งต่อกัน และเปล่งแสงร่วมกันเสมอมา

ผมจำได้เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว เราไม่ได้มีส่วนจัดงานอะไรมาก เพียงแต่ไปร่วมงานทำบุญตอนเช้าอีกวันหนึ่ง อาจารย์รตยานำพวกเราที่มีกันไม่กี่คนไปจุดเทียน

คืนนั้นเทียนเล็กๆ แปดแท่งส่องสว่างกลางความมืดมิดแห่งราวไพร

และคืนนั้นเองที่จุดประกายให้การจุดเทียนในคืนวันที่ 31 สิงหาคมเป็นงานสำคัญ ให้คนมาร่วมงานใช้เป็นสัญลักษณ์ของการรำลึกถึงคนที่กล้าใช้ชีวิตของตนเองทำงานหนักเพื่อป่าเขา จนกระทั่งกล้าปลิดชีพตนเองเพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยรู้จักกับคำว่า ‘อนุรักษ์’

บางปีผมหลบเลี่ยงการนั่งร่วมกิจกรรมมาอยู่ที่หน้ารูปปั้นคนเดียว คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปถึงงานที่จะต้องทำให้พี่สืบ เหมือนชวนพี่สืบมาร่วมคิดร่วมบันดาลใจ

ผมเคยบันทึกไว้ด้วยว่า “ไม่ว่าแสงเทียนเล็กน้อยเพียงใดเมื่อถูกจุดขึ้นขณะหนึ่งย่อมสามารถแผ่ไปในความมืด ในขณะเดียวกันผมไม่เคยเห็นความมืดใดที่กล้าหาญกรายเข้าไปในแสงเทียน”

นั่นก็หมายความว่า อุปสรรคปัญหาต่างๆ นานา ความคิดที่มุ่งทำลายธรรมชาติย่อมไม่อาจกรายมาในความกล้าหาญที่ประกาศตัวอนุรักษ์ปกป้อง หากจะแพ้ก็เพราะพลังของเราเองที่มีน้อยไป แต่ตัวความคิดฝ่ายมืดเองก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะแสงสว่างได้ แม้เทียนจะดับก็มีคนจุดขึ้นใหม่และส่งต่อถึงกัน หากยังเหลือเชื้อเจตนาแห่งสืบ นาคะเสถียรที่มั่นคง

ปีหลังๆ เราพัฒนาช่วงการจุดเทียนรำลึกเป็นงานแสดงแสงเสียงขนาดเล็กๆ พอให้คนร่วมงานได้ยินไม่ถึงขั้นอึกทึกครึกโครมไปรบกวนสัตว์ป่า ผมช่วยเขียนบทขึ้นครั้งแรก ประชุมงานกับคนหนุ่มสาวเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบ ออกแบบการเล่นไฟไปตามบ้านพักเก่าของพี่สืบ และขั้นบันไดปูนแปดขั้นที่เป็นสัญลักษณ์การทำงานหนักตลอด 8 เดือนของการมารับหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของพี่สืบ ใส่ซาวด์เอฟเฟคเสียงป่าเขาผสมดนตรีไพเราะให้ผู้คนได้ร่วมย้อนเวลาไปสู่วินาทีที่พี่สืบปลิดชีวิตตัวเอง

แน่นอนว่าในซาวนด์เอฟเฟคสำคัญย่อมอยู่ที่เสียงกระสุนปืนนัดนั้น

จากนั้นเราก็ชักชวนผู้คนที่มาร่วมงานจุดเทียนรำลึกถึงพี่สืบกันโดยมีอาจารย์รตยากล่าวนำ แต่ละปีอาจารย์รตยาจะกล่าวอะไรต่างๆ กันไปตามแต่สถานการณ์เรื่องป่าไม้ที่ดีขึ้นหรือน่าเป็นห่วง แต่อาจารย์จะขึ้นต้นเสมอว่า “คุณสืบคะ พวกเรามาร่วมกันจุดเทียนรำลึกคุณสืบและอยากให้คุณสืบรู้ว่าพวกเรายังทำงานอนุรักษ์อยู่…”

5 – 6 ปีหลังมานี้ การร่วมชมแสงเสียง และจุดเทียนรำลึกคุณสืบกลายเป็นงานประจำที่คนรักป่าจะมารวมกันนับร้อยๆ คน บางปีที่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ก็น่าจะมีคนมาร่วมเป็นหลักพัน น่าชื่นใจว่าในแต่ละปีเพื่อนมิตรที่มาร่วมงานก็ยังเหนียวแน่นและปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในการพักค้างแรม ไม่รบกวนธรรมชาติจนมากเกินไป

ปีหลังๆ ผมไม่ได้ไปช่วยงานแสงเสียง ปล่อยให้ทางน้องๆ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ออกแบบงานกันเอง ชักชวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาร่วมคิด และร่วมแสดงในเงาแสงสวยนั้นด้วย จนทำให้งานแสงเสียงของเราดูเข้มข้น เป็นเครื่องมือสื่อสารที่น่าสนใจ และทรงพลังอย่างยิ่งในการเติมให้แนวร่วมคนรักษ์ป่าของเรายังมีแสงเทียนที่ไม่เคยดับไปจากใจ

ปีที่แล้วเป็นปีพิเศษของผม ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิสืบฯ ต่อจากอาจารย์รตยาเป็นปีแรก แต่โดยข้อตกลงระหว่างผมกับอาจารย์ ผมขอร้องให้อาจารย์ยังคงเป็นผู้นำพวกเราในการจุดเทียนรำลึกถึงคุณสืบไปอีกในทุกๆ ปี เพราะอาจารย์เป็นเหมือนสัญลักษณ์สำคัญของงานนี้แล้ว แต่กระนั้นโชคชะตาก็ทำให้กำหนดการของเราผิดพลาด อาจารย์รตยาของผมป่วยไม่สามารถมาร่วมงานได้เป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีที่คุณสืบเสียชีวิต และนั่นหมายถึงผมคงต้องทำหน้าที่นี้แทน

ยอมรับว่าทำอะไรมาก็เยอะ ขึ้นเวทีมาก็มาก งานแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่วินาทีที่แสงเสียงจบลง ตามสคริปต์งานจะให้ผมจุดเทียนพร้อมกับท่านหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคนปัจจุบันและเดินไปยังรูปปั้นพี่สืบก่อนต่อเทียนไปสู่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ก่อนกระจายแสงเทียนแห่งค่ำคืนส่งต่อไปยังผู้ร่วมงานหลายร้อยคน ผมรู้สึกว่านี่เป็นภารกิจสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของชีวิต

แสงเทียนกระจายไปอย่างรวดเร็ววิบวับราวดาวกลางทุ่งเดือนแรมมืด ผมพยายามทำหน้าที่แทนอาจารย์รตยาสื่อสารกับพี่สืบของพวกเราในการเล่าให้ฟังว่า 26 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีการอนุรักษ์กันมากขึ้นขนาดไหน สิ่งที่พี่สืบอยากให้เห็นอย่างการมีป่าไม้ที่เป็นเขตอนุรักษ์ทางกฎหมายได้ถูกจัดตั้งและประกาศขึ้นได้ตามจำนวนพื้นที่ที่พี่สืบเคยบอกไว้แล้ว สวัสดิภาพสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่ามีคนเห็นความสำคัญและพัฒนาขึ้นมาก และที่สำคัญคือผ่านมาสามสิบปีที่พี่สืบช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน และคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน บัดนี้ก็ยังไม่มีเขื่อนใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในป่าที่มีสัตว์ป่า และพรรณไม้ที่อุดมสมบูรณ์อีกเลย

ผมเล่าให้พี่สืบฟังว่าแม้ว่าจะมีการเสนอสร้างเขื่อนแม่วงก์ในป่าตะวันตกต่อเนื่องขึ้นไปไม่ไกลจากตำแหน่งที่เราจุดเทียนกัน แต่ก็มีผู้คนมากมายมหาศาลออกมาร่วมกันคัดค้านตลอดมาตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้ว

ท่ามกลางแสงเทียนนับร้อยพันที่เราประกาศจะสืบทอดเจตนา สืบ นาคะเสถียร ผมบอกกับพี่สืบและผู้คนที่มาร่วมงานว่า

พวกเราจะยังทำงานและสู้กันต่อไป

 


บทความโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพถ่าย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร