ก่อนจะปลด ‘นกปรอดหัวโขน’ ต้องมีข้อมูลครบถ้วน และมาตรการรองรับที่ชัดเจน

ก่อนจะปลด ‘นกปรอดหัวโขน’ ต้องมีข้อมูลครบถ้วน และมาตรการรองรับที่ชัดเจน

กรณีของที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เห็นชอบในหลักการที่ปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่ขออนุญาตเพาะขยายพันธุ์ได้ โดยให้ตั้งคณะทำงานศึกษาสถานภาพประชากรนกปรอดหัวโขนในปัจจุบัน

และการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ และมาตรการป้องกันนกปรอดหัวโขนในกรงเลี้ยงหลุดเข้าสู่ธรรมชาติ เพื่อนำไปประกอบการเสนอปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไป นั้น

ยังมีข้อกังวลที่อยากฝากถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 3 ประเด็นหลักคือ

1) การปลดจะเกิดขึ้นได้ ควรมีชุดข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาข้อมูลสถานภาพและการกำหนดมาตราการปราบปรามและป้องกันการล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ มาตราการป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรมมาใช้ประกอบการพิจารณาก่อน

2) การศึกษาประชากรและมาตราการป้องกันดังกล่าว ควรมีเวลามากพอที่จะศึกษาอย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ถิ่นอาศัย และห้วงเวลาตามช่วงฤดูกาล รวมถึงการกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามได้อย่างรัดกุม เนื่องจากหากปลดจากบัญชีแล้ว ใครจะเป็นเจ้าภาพที่จะดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดกันออกมา

3) คณะทำงานควรมีองค์ประกอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับโดยเฉพาะหน่วยงานทางวิชาการ

ส่วนตัวที่ติดตามเรื่องนี้มา ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ หากสถานการณ์นกปรอดหัวโขนที่อยู่ในธรรมชาติ ยังไม่ดีขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ตรงจุด ควรเร่งดำเนินการเรื่องการแจ้งครอบครองและการเพาะขยายพันธุ์ให้ผู้เลี้ยงสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและลดความซ้ำซ้อนซับซ้อนมากที่สุด

ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้เขียน

+ posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร